การใช้อาร์ทีเมียอนุบาลลูกสัตว์น้ำ
Use of Artemia in Aquaculture
 
วิชิต เสมาชัย และ สุทิน สมบูรณ์
ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอาหารสัตว์น้ำ  คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 0-2561-3031

    อาร์ทีเมีย(Artemia sp.) เป็นแพลงก์ตอนสัตว์อาศัยในทะเลสาบน้ำเค็มสูง(100-250 ppt) ซึ่งศัตรูของอาร์ทีเมียไม่สามารถอาศัยได้ พบในหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย คาซัสสถาน สหรัฐอเมริกา) ตัวเต็มวัยมีขนาด 7-16 มม. กินแพลงก์ตอนพืช จุลินทรีย์ และตะกอนอนุภาคเล็กๆ เป็นอาหาร ขยายพันธุ์โดยออกลูกเป็นตัวเมื่อน้ำมีความเค็มต่ำกว่า 120 ppt. และออกลูกเป็นไข่หากความเค็มสูงกว่า 120 ppt. ตัวอ่อนแรกฟักมีขนาดเล็ก(2 มม.) จึงเหมาะสำหรับเป็นอาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน(ลูกกุ้ง ลูกปู ลูกม้าน้ำ ลูกปลา) มีความสะดวกในการใช้โดยเก็บในรูปไข่แห้งบรรจุกระป๋อง เมื่อต้องการใช้ก็นำไปฟักในน้ำทะเล หลังจาก 18-24 ชม.ไข่จะฟักเป็นตัว แยกเปลือกออกแล้วนำตัวอ่อนไปเลี้ยงลูกสัตว์น้ำ

ใช้ไข่อาร์ทีเมียอย่างฉลาดและคุ้มค่า
    เนื่องจากไข่อาร์ทีเมียต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาแพง(1,800 บาท/กก.)จึงควรมีความรู้ในการใช้ดังนี้

    1. ราคาของไข่ขึ้นอยู่กับเปอร์เซนต์การฟัก ควรส่งตัวอย่างไปตรวจสอบหรือทดสอบด้วยตัวเองอย่างง่ายโดยฟักไข่แล้วแยกเอาเฉพาะตัวอ่อนไปชั่งน้ำหนักหรือตวงหา ปริมาตรเพื่อเปรียบเทียบแต่ละยี่ห้อ(ไข่เกรด 80% 1 กระป๋อง(450 ก.) มีน้ำหนักเปียกของตัวอ่อน 1.7-1.8 กก.)
    2.
ไข่เก็บที่อุณหภูมิสูงอย่างประเทศไทย เปอร์เซนต์การฟักจะลดลง 2-3% ต่อเดือน หากซื้อไข่จำนวนมากต้องสร้างห้องเย็น(4 ซ.) เพื่อเก็บรักษา หากไข่มีจำนวนน้อยอาจเก็บไว้ในตู้เย็นทั่วไป กระป๋องไข่ที่เปิดแล้วต้องปิดให้สนิทด้วยเทปกาวใสหรือห่อพลาสติกไม่ให้ไข่ดูดความชื้นเข้า
    3. ฟักไข่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคือ เพาะฟักไข่อัตรา 2 ก./ลิตร ให้อากาศแรงเพียงพอเพื่อไม่ให้ไข่ตกตะกอน แสงสว่างไม่ต่ำกว่า 2,000 ลักษ์ โดยฟักในที่โล่งสว่างและน้ำไม่ร้อนเกิน 32 ซ. หรือให้แสงสว่างด้วยหลอดไฟ ค่า pH ของน้ำไม่ต่ำกว่า 8 หากค่า pH ลดลงมากเนื่องจากกิจกรรมหายใจระหว่างฟักจะทำให้เปอร์เซนต์ฟักลดลง

อย่าเก็บพักตัวอ่อนอาร์ทีเมียไว้นาน
    ตัวอ่อนอาร์ทีเมียที่ฟักออกใหม่ๆ มีคุณค่าทางอาหารสูง ต้องรีบนำไปเลี้ยงลูกสัตว์น้ำ หรือเก็บพักไว้ระยะเวลาสั้นที่สุด หากเก็บไว้นานคุณค่าทางอาหารจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากตัวอ่อนใช้พลังงานว่ายน้ำตลอดเวลา ทำให้เกิดการสูญเสีย(ไข่แห้ง 1 โหล นน. 5.4 กก. ราคา 10,000 บาท หลังเพาะฟักหากเก็บตัวอ่อนไว้นาน 21 ชม. พลังงานจะสูญเสีย 30 % แสดงว่าจะสูญเสียเงิน 10,000 x 30/100 = 3,000 บาท/วัน หรือ 250 บาท/กระป๋อง) จึงควรวางแผนฟักไข่อาร์ทีเมีย 4 ครั้ง/วัน(06.00, 12.00, 18.00, 24.00 ; ครั้งที่ 3-4 ต้องให้แสงสว่างด้วยหลอดไฟ) หรือเก็บพักตัวอ่อนโดยการแช่เย็นในถังน้ำแข็งเพื่อรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 4 ซ.(พลังงานลดลงเพียง 4 %) ภายในถังมีภาชนะใส่ตัวอ่อนอาร์ทีเมีย(หนาแน่น 15,000 ตัว/มล.) และใส่น้ำแข็งรอบๆ ให้อากาศไม่ให้อาร์ทีเมียทับถมกัน

ใช้อาร์ทีเมียตัวเต็มวัยเพื่อลดต้นทุนการผลิต

    ลูกสัตว์น้ำที่โตขึ้นจะสามารถกินอาร์ทีเมียขนาดใหญ่ขึ้นได้ จึงสามารถใช้ทดแทนตัวอ่อนอาร์ทีเมียได้ เช่น อาร์ทีเมียก่อนเต็มวัย(3-6 มม.) อาร์ทีเมียเต็มวัยขนาดเล็ก(7-10 มม.) และอาร์ทีเมียเต็มวัยขนาดใหญ่(11-16 มม.) ซึ่งสามารถผลิตได้ในประเทศและมีราคาถูกกว่า ปัจจุบันอาร์ทีเมียขนาดใหญ่นิยมใช้เลี้ยงปลาสวยงามอย่างแพร่หลาย ขณะที่การใช้อนุบาลลูกกุ้งยังใช้ไม่แพร่หลาย(ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด) การนำไปเลี้ยงกุ้งมีข้อระวังคือ ควรใช้อาร์ทีเมียเต็มวัยขนาดเล็ก(7-9 มม.) เลี้ยงกุ้งกุลาดำระยะ PL 8-11 และกุ้งก้ามกรามระยะที่ 11-12 (ก่อนคว่ำหมด 7 วัน) หากให้อาร์ทีเมียขนาดใหญ่กุ้งจะจับกินได้ยาก ลูกกุ้งระยะหลังจากนี้จะกินอาร์ทีเมียได้ทุกขนาด อาร์ทีเมียก่อนเต็มวัยและอาร์ทีเมียเต็มวัยขนาดเล็ก ผลิตโดยการเลี้ยงเป็นรุ่นๆ หรือกรองคัดแยกจากอาร์ทีเมียขนาดใหญ่ ส่วนอาร์ทีเมียเต็มวัยขนาดใหญ่มีจำหน่ายทั่วไปในตลาดปลาสวยงาม

อาร์ทีเมียตัวเต็มวัยดองน้ำเกลือทางเลือกเพื่อขยายตลาด
    การใช้อาร์ทีเมียเต็มวัยมีชีวิตมีข้อจำกัดคือ เก็บไว้ได้นานเพียง 2-3 วัน ไม่สะดวกสำหรับพื้นที่ห่างไกลแหล่งผลิต ส่วนอาร์ทีเมียแช่แข็งต้องเก็บในตู้แช่และสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า การแปรรูปเป็นอาร์ทีเมียดองน้ำเกลือจะช่วยขยายตลาดได้ในทุกภูมิภาค(ตลาดปลาสวยงาม) โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคไต้ซึ่งมีโรงเพาะฟักกุ้งกุลาดำ การศึกษาเบื้องพบว่าอาร์ทีเมียดองน้ำเกลือ(ความเค็ม 250 ppt.) มีอายุการเก็บ 1- 2 เดือน โดยที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์และไม่ขึ้นรา ใช้เลี้ยงปลาสวยงามได้ ส่วนการนำไปเลี้ยงลูกกุ้งนั้นยังอยู่ในระหว่างการศึกษา
    ไข่อาร์ทีเมียยังคงมีความจำเป็นสำหรับการอนุบาลลูกกุ้งกุลาลาดำ ซึ่งใช้เฉพาะระยะ ไมซิส - โพสลาวา 2 เท่านั้น(ระยะโพสลาวา 2 ขึ้นไปใช้อาหารอื่นทดแทนได้) ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอาหารสัตว์ เริ่มทดลองศึกษาการผลิตไข่อาร์ทีเมียเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเลี้ยงในบ่อดินลึกไม่ต่ำกว่า 1 ม. รักษาความเค็มน้ำในฤดูฝนไม่ให้ต่ำกว่า 130 ppt. ซึ่งคาดหวังผลผลิต 3.2 กก./ไร่/เดือน หรือให้ตอบแทน 3,000-5,000 บาท / ไร่/ เดือน