ข้าวหุงสุกเร็ว
Quick Cooking Rice
 
ปริศนา สุวรรณาภรณ์ วรรณรัตน์ กสิสินธานนท์ และ นันทรัตน์ ณ นครพนม
ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
คณะอุตสาหกรรมเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2940-6158


    การบริโภคข้าวส่วนใหญ่จะบริโภคในรูปข้าวสุกที่หุงต้มจากข้าวสาร การหุงข้าวด้วยวิธีปกติใช้เวลาประมาณ 25-30 นาที ขึ้นกับพันธุ์ข้าวและวิธีการหุง เนื่องจากการหุงข้าวที่ต้องใช้เวลานานร่วมกับการเกิดปัญหาในการหุง เช่น ข้าวไหม้ติดภาชนะ ข้าวแฉะ เป็นข้อจำกัดข้อหนึ่งของการบริโภคข้าวในประเทศสหรัฐอเมริกา (Robert, 1972) จึงมีความพยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหุงสุกเร็วขึ้นมา ผลิตภัณฑ์ข้าวหุงสุกเร็ว เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดระยะเวลาในการเตรียมเพื่อบริโภค โดยพัฒนาเทคนิคทางกระบวนการผลิต (คำขอสิทธิบัตรเลขที่ 072424 วันที่ 19/3/2545) ที่ทำให้เมล็ดข้าวเกิดเจลาติไนซ์บางส่วน แล้วจึงนำไปผ่านกระบวนการเพื่อให้เมล็ดเกิดโครงสร้างที่เป็นรูพรุนและรอยร้าว เพื่อให้เมล็ดข้าวดูดน้ำได้เร็ว และคงสภาพของเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ไว้ ผลิตภัณฑ์ข้าวหุงสุกเร็วที่เตรียมโดยวิธีนี้สามารถลดระยะเวลาในการคืนรูปจาก 20-35 นาทีด้วยการหุงต้มแบบดั้งเดิมเป็น 3-4 นาทีด้วยการหุงแบบไม่เช็ดน้ำและด้วยไมโครเวฟตามลำดับ นอกจากนี้ยังรักษาความเป็นธรรมชาติของข้าวหอมมะลิเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ 100% ไม่มีการเติมสารเคมีในกระบวนการผลิต

    ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 มีลักษณะเฉพาะคือมีกลิ่นหอม นุ่ม เหนียว และเมล็ดเลื่อมมัน ผลของงานวิจัยนี้สามารถผลิตข้าวหุงสุกเร็วจากข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิที่หุงด้วยวิธีปกติ และมีคุณภาพตามที่ข้าวหอมมะลิพึงจะมีทุกประการ และมีข้อดีกว่าคือมีวิธีการเตรียมที่สะดวกและรวดเร็ว จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูปข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความต้องการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออกให้มากขึ้น

ลู่ทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์
    - Retail pack :
จำหน่ายในสภาพเมล็ดข้าวแก่ผู้บริโภคโดยตรง
    - Bulk pack :
จำหน่ายในสภาพเมล็ดข้าวในระดับอุตสาหกรรม
    - Fortified rice :
สามารถเสริมไวตามิน และเกลือแร่ เพื่อพัฒนาเป็นอาหารสุขภาพ
    - Instant rice product varieties :
พัฒนาเป็นข้าวหอมมะลิหุงสุกเร็วบรรจุในซองซึ่งมีเครื่องปรุงรสและน้ำมัน ต้มเพียง 3 นาที ได้ผลิตภัณฑ์ข้าวชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวผัด ข้าวมันไก่ ข้าวหมกไก่ ข้าวผัดกระเพรา ข้าวต้มรสต่าง ๆ เป็นต้น
     - Instant rice with retort pouch food : ข้าวหอมมะลิหุงสุกเร็ว บรรจุในซองขายคู่กับอาหารที่บรรจุในซองฆ่าเชื้อ

การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชน
    ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิหุงสุกเร็วแก่ บริษัทไทยเบตเตอร์ฟูดส์ จำกัด โดยข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัทไทยเบตเตอร์ฟูดส์ จำกัด ลงนามวันที่ 9 เมษายน 2545 โดยเอกชนได้นำไปใช้ประโยชน์เชิงการค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

งานวิจัยต่อเนื่อง
    ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก ศูนย์พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีรัฐร่วมเอกชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำการวิจัยต่อเนื่องในหัวข้อต่อไปนี้คือ การพัฒนากระบวนการผลิตในระดับ Pilot Scale, ศึกษาอายุการเก็บรักษา, การพัฒนาข้าวกึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ เช่น ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง ข้าวญี่ปุ่น, การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวหุงสุกเร็วชนิดต่าง ๆ เชิงการค้า โครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีรัฐร่วมเอกชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์