ผลิตผักปลอดภัยภายใต้ระบบ GAP
Safety Vegetable Production under GAP System
 
ชวนพิศ อรุณรังสิกุล ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล และ รุ่งนภา ก่อประดิษฐ์สกุล
งานเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืช, งานวิจัยสภาวะแวดล้อม ฝ่ายปฏิบัติการและเรือนปลูกพืชทดลอง
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

โทร.0-3428-1092

          ผักผลไม้สดที่วางขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่ต้องดูสวย ไม่มีร่องรอยของการถูทำลายโดยโรคและแมลงศัตรูพืช แต่ความสวยงามนั้นไม่ได้บ่งบอกถึงความปลอดภัยทางอาหารอย่างแท้จริง ในทางกลับกันอาจมีสารปนเปื้อนจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารของคน ดังนั้นขั้นตอนและวิธีการจัดการให้ผลผลิตปลอดภัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบความปลอดภัยของอาหาร ตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงโต๊ะอาหาร (From Farm to Table) เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปนเปื้อนดังกล่าวได้ถูกคิดค้น คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เช่น การใช้สารชีวภัณฑ์จากธรรมชาติทดแทนสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การลดการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในผลผลิตระหว่างกระบวนผลิตไปจนถึงหลังการเก็บเกี่ยวด้วยสารสกัดจากสมุนไพร เป็นต้น

          GAP (Good Agricultural Practice) หมายถึง ระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์ม โดยพิจารณาตั้งแต่พื้นที่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีลักษณะตรงตามความต้องการ และมีความปลอดภัยต่อการบริโภค ในประเทศไทยได้มีการเริ่มจัดทำระบบ GAP ของแต่ละพืช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โดยเน้นด้านการปฏิบัติตามคู่มือการผลิต ดังตัวอย่างที่ปรากฏในลักษณะของเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่รู้จักกันในชื่อ GAP ของพืชหลายชนิด โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีการแก้ไขให้เป็นเอกสารการจัดทำระบบการผลิตตามข้อกำหนด GAP ของประเทศต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในไม่ช้า

          ข้อกำหนดของประเทศผู้ซื้อที่จัดได้ว่าเข้มแข็งที่สุดและนิยมใช้ในการอ้างอิงมากที่สุด คือ ข้อกำหนดของสมาพันธ์การค้าปลีกในตลาดยุโรปที่เรียกว่า "EUREP-GAP (Euro Retailer Produce Working Group - GAP)" การพิจารณาข้อกำหนดต่างๆ พิจารณาจากพื้นฐานด้านสังคม และข้อมูลทางการศึกษาวิจัยของประเทศนั้นๆ ทั้งด้านสุขอนามัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นบริษัทในประเทศไทยต้องการส่งออกสินค้าทางการเกษตรไปจำหน่ายในประเทศใดๆ ในสหภาพยุโรป จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศผู้ซื้อเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานของยุโรป (EUREP-GAP)

กฎเกณฑ์ข้อกำหนดของ EUREP - GAP ประกอบด้วยการพิจารณาหัวข้อต่างๆ ดังนี้

  • การทวนสอบ
  • การรักษาระบบบันทึก
  • พันธุ์พืช
  • การจัดการพื้นที่และประวัติแปลง
  • การจัดการดินและวัสดุปลูก
  • การจัดการปุ๋ย-ธาตุอาหาร
  • ระบบการให้น้ำ การดูแลรักษาพืช
  • การเก็บเกี่ยวผลผลิต
  • การดูแลหลังการเก็บเกี่ยว
  • การจัดการสิ่งแวดล้อม
  • การจัดการสุขลักษณะ
  • การร้องเรียน
  • การตรวจสอบภายใน

          นอกจากนั้นข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องมีการพิสูจน์ให้ผู้ซื้อทราบได้ด้วยว่ามีการปฏิบัติดังกล่าวจริงในระบบการผลิต จึงทำให้เกิดระบบบริษัทที่ปรึกษา (consultant) ในลักษณะขององค์กรรับรอง (Certified Body; CB) โดยอาศัยระบบมาตรฐานหลายองค์ประกอบเข้าร่วมกันเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และสามารถตรวจสอบได้ การผลิตในระบบมาตรฐาน GAP จะประกอบด้วยกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม คือ

  1. เกษตรกรหรือผู้รวบรวมผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกร เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกร หรือ เกษตรกรแบบรายเดียว หรือ ผู้ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งอาจจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลระบบผลิตจากบริษัทส่งออกผลผลิตผักผลไม้สด
  2. ผู้ส่งออก ได้แก่ ผู้ที่มีการรับรองฐานะของบริษัท และมีนโยบายของธุรกิจเพื่อการส่งออกในเรื่องของคุณภาพผักผลไม้สด
  3. หน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรสาธารณะอื่นๆ ทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระให้การสนับสนุนในเรื่อง เทคโนโลยีเพื่อการผลิต หรือบางองค์กรอาจทำหน้าที่ในการรับรอง

องค์ประกอบต่างๆ ที่กล่าวมาในขั้นต้นจะมีความสัมพันธ์กันดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 การส่งออกของผลิตภัณฑ์ผักผลไม้สด ภายใต้ระบบการรับประกันคุณภาพโดยหน่วยงานของรัฐ และการรับรองผ่านองค์กรรับรองระหว่างประเทศ