เกษตรอินทรีย์
เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคอาหารสุขภาพ (health foods) และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ต้องการอาหารสะอาดจากธรรมชาติปราศจากสารเคมี
อีกทั้งกระบวนการผลิตก็สามารถจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากสภาพมลภาวะของสารเคมี
ซึ่งเป็นอันตรายต่อห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ
เป็นระบบการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
หรือในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ตลอดจนไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในการปรับปรุงดิน
แต่ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินและฐานทางชีวภาพ
โดยใช้อินทรีย์วัตถุในการปรับปรุงดิน นอกจากนี้ยังห้ามใช้พืช เมล็ดพันธุ์พืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม
หรือห้ามใช้จุลินทรีย์ที่มีการตัดต่อยีนในกระบวนการหมักปุ๋ยชีวภาพ
มีหลักการและความมุ่งหมายตามสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
(มกท.) ที่สำคัญมีดังนี้
1. พัฒนาระบบการผลิตไปสู่แนวเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์
2. พัฒนาระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองในเรื่องอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารภายในฟาร์ม
3. ฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
โดยใช้ทรัพยากรหมุนเวียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
4. รักษาความสมดุลของระบบนิเวศในฟาร์ม และความยั่งยืนของระบบนิเวศโดยรวม
5. ป้องกันและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ทำให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม
6. สนับสนุนระบบการผลิตและกระบวนการจัดการทุกขั้นตอนที่ต้องคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม
7. ยึดหลักปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปที่เป็นวิธีการธรรมชาติ
ประหยัดพลังงาน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

จากหลักการและความมุ่งหมายดังกล่าว
จึงได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีพืชเกษตรอินทรีย์เพื่อการส่งออก
ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
กับ บริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด ดำเนินการบนพื้นที่ 200 ไร่
ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2546 - 28 ก.พ. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลในการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล
2. เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์ให้มีศักภาพสูง
3. เพื่อเป็นแหล่งศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป
4. เพื่อเป็นแหล่งผลิตพืชเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล
พืชที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดย BCS Öko-Garantie
Cimbermstr. 21,90402 Numberg, Germany (Phone:+ 499(0)911 492239,
EU-Code-No:DE-001-Öko-Kontrollstelle) คือ ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน
พริก ถั่วเขียว และถั่วเหลือง โดยมีขั้นตอนการเตรียมแปลงปลูกพืชเกษตรอินทรีย์และการปฏิบัติ
ดังนี้
1. เลือกพื้นที่เพาะปลูก
- พื้นที่ไม่เคยใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีมาก่อนอย่างน้อย
3 ปี
- พื้นที่ไม่มีความเสี่ยงกับสารปนเปื้อนข้างเคียง
- พื้นที่ไม่มีสารปนเปื้อนตกค้างในดินและแหล่งน้ำ
- พื้นที่ต้องมีการอนุรักษ์ป่า
เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ
2. ชนิดและพันธุ์ของพืชปลูก
- ควรเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น
- ต้านทานต่อโรคและแมลง
- เมล็ดพันธุ์ปราศจากการคลุกสารเคมี
- ห้ามใช้เมล็ดพันธุ์พืชการดัดแปลงทางพันธุกรรม
(GMO)
3. การจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย
- ควรมีการตรวจวิเคราะห์ดินอย่างน้อย
1 ครั้ง/ปี
- น้ำควรมีการตรวจวิเคราะห์อย่างน้อย
2 ครั้ง/ปี ในฤดูแล้ง ฤดูฝน
- ควรมีการปลูกพืชตระกูลถั่วหรือพืชบำรุงดินเป็นปุ๋ยพืชสดอย่างน้อย
3 ครั้ง/ปี
- หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่
เพราะทำให้เนื้อดินแน่นแข็ง ไม่ร่วนซุย
3.1 การปรับปรุงบำรุงดิน
-
ผู้ผลิตต้องพยายามนำอินทรียวัตถุจากพืชและสัตว์ภายในฟาร์มมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดลดการนำเข้าจากภายนอกฟาร์ม
-
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต้องมีแผนการใช้อย่างผสมผสานและเหมาะสม โดยคำนึงถึงความสมดุลของธาตุอาหารในดินและความต้องการธาตุอาหารของพืชที่ปลูก
-
ห้ามนำมูลสัตว์ที่ยังไม่ผ่านการหมักเบื้องต้นมาใช้กับพืชโดยตรง ยกเว้นมีการอบผ่านความร้อนจนแห้งดีแล้วหรือใช้ในการเตรียมดินโดยคลุกดินทิ้งไว้ไม่น้อยกว่า
1 เดือนก่อนการปลูกพืช
-
ในกรณีที่ใช้มูลสัตว์จากฟาร์มภายนอก ต้องมาจากฟาร์มที่เลี้ยงแบบปล่อยรวมเป็นฝูงและปราศจากสารปนเปื้อน
-
ห้ามใช้อินทรียวัตถุที่มีส่วนผสมจากอุจจาระของมนุษย์มาใช้เป็นปุ๋ย
3.2 การอนุรักดินและน้ำ
-
ห้ามเผาตอซังหรือเศษวัสดุในแปลง เพราะเป็นการทำลายอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน
-
กรณีพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการพังทลายของดิน ต้องมีมาตรการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
4. สารเร่งการเจริญเติบโตและสารอื่นๆ
- อนุญาตให้ใช้สารเร่งการเจริญเติบโตจำพวกจุลินทรีย์ที่หมักได้จากพืชและสัตว์โดยไม่มีสารปนเปื้อนตกค้างในผลิตภัณฑ์
- ห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์เร่งการเจริญเติบโตทุกส่วนของพืช
5. ป้องกันกำจัดศัตรูพืช / โรคพืช / วัชพืช
- ควรส่งเสริมให้มีการแพร่ขยายชนิดของสัตว์และแมลงที่มีประโยชน์
ตัวห้ำ ตัวเบียน การปลูกพืชเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และแมลงที่มีประโยชน์
ปลูกไม้ดอกแซม
- ควรปลูกพืชขับไล่แมลงเป็นพืชร่วมในแปลงปลูกพืช
ลดปัญหาแมลงศัตรูพืชได้
- หลีกเลี่ยงการปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำบนแปลงเดียวกัน
เพื่อลดการระบาดของโรคและแมลง
- ใช้พืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการป้องกันและขับไล่โรคและแมลงศัตรูพืช
- ใช้วิธีเขตกรรมเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช
เช่น การไถกลบ การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชร่วม การปลูกพืชคลุมดิน
การใช้วัสดุคลุมดินจากธรรมชาติ
6. การแปรรูปและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
- ภาชนะ เครื่องมือและกรรมวิธีแปรรูปต้องสะอาดถูกสุขลักษณะทุกขั้นตอนและมีการป้องกัน
การปนเปื้อนจากสิ่งอื่นเช่น จุลินทรีย์ พาหะนำโรค สารเคมี
- ห้ามใช้ภาชนะอลูมิเนียมในการแปรรูปอาหารที่เป็นด่าง
- หากมีการใช้สถานที่ เครื่องมือ
ภาชนะ และเครื่องจักรร่วมกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์อินทรีย์
ผู้ประกอบการต้องไม่ดำเนินการผลิตในช่วงเดียวกันและทำความสะอาดภาชนะ
เครื่องมือและเครื่องจักรให้สะอาดปราศจากสิ่งตกค้างก่อนดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์
6.1 การบรรจุภัณฑ์
-
บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มาจากฟาร์มต้องไม่เคยใช้บรรจุสารเคมี
ปุ๋ยเคมี หรือสิ่งที่เป็นพิษมาก่อน
-
ควรใช้บรรจุภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่
สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำไปผลิตซ้ำใหม่ได้
-
บรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ต้องไม่ผ่านการอบด้วยสารฆ่าเชื้อราหรือสารเคมีอื่นๆ
-
ไม่อนุญาตให้ใช้โฟมเป็นบรรจุภัณฑ์
6.2 การขนส่ง
-
ต้องมีใบเช็คสต็อกสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้า-ออกที่ชัดเจน
-
การขนส่งผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์สามารถขนส่งรวมกับสินค้าทั่วไปได้ ถ้าหากผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มีการติดฉลากไว้ชัดเจนและมีภาชนะบรรจุที่แยกชัดเจนสามารถป้องกันสารปนเปื้อนได้
7. การตลาด
- ผลผลิตทั้งหมดเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
สหภาพยุโรป ซึ่งมีตลาดในสหราชอาณาจักรเป็นตลาดหลัก ออสเตรเลีย ไต้หวัน
สิงคโปร์ และประเทศในตะวันออกกลาง ในขณะที่บริษัทฯ ยังมีความต้องการผลผลิตจากไร่อีกเป็นจำนวนมาก
เพื่อส่งมอบพืชเกษตรอินทรีย์ให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า
|