วัฒนธรรมผ้าเผ่าไท
Tai Textiles
 
อรไท ผลดี
ภาควิชาภาษาไทย   คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 0-2940-7177

ถิ่นกำเนิดของชนชาติไท
    ชนเผ่าไทเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดชนเผ่าหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สืบเชื้อสายมาจากมนุษย์ตะวันออก อันเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่แก่แก่ที่สุดในโลก อายุราว ๒,๕๐๐,๐๐๐ ปี พบที่หยวนโมวมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นเขตเก่าแก่ที่สุดที่มีร่องรอยมนุษย์ดึกดำบรรพ์อาศัยอยู่สืบมาจนถึงยุคหินใหม่ เมื่อประมาณ ๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากในยุคหินใหม่ คือ เครื่องปั้นดินเผาแบบลายกด ขวานหินมีบ่า และขวานหินขัด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมไป่เยว่สมัยโบราณ ที่เป็นบรรพบุรุษของชนชาติไท

แหล่งกำเนิดผ้าไหมในประเทศจีนแต่เป็นภูมิปัญญาไท
    ตำนานจีนโบราณระบุว่า ค้นพบไหมเมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยมเหสีชีหลิง สมัยจักรพรรดิฮ่วงตี่หรือหวังตี่ จักรพรรดิจีนองค์แรกในยุคปรำปรา ซึ่งยังไม่ใช่เชื้อสายพวกฮั่นที่เป็นจีนแท้ ตามประวัติระบุว่า พระองค์เป็นบิดาของพระเจ้าเหา ซึ่งเป็นต้นตระกูลของชนเผ่าไท
    หลักฐานใหม่ที่สนับสนุนว่าผ้าไหมเป็นภูมิปัญญาไท ปรากฏในนิตยสารภาพจีน ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๓๗ ระบุว่า ผ้าไหมมีแหล่งกำเนิดที่แคว้นเสฉวน ซึ่งเป็นแคว้นที่พวกเหล่า (ลาว) อยู่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนที่ชนเผ่าจีนจะเข้ามาครอบครอง ดังนั้นการเลี้ยงไหมทอผ้าจึงเป็นภูมิปัญญาไท ไม่ใช่ของจีน

หลักฐานเรื่องผ้าไหม ภูมิปัญญาไทจากแหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่
    แหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบหลักฐานว่าผ้าไหมเป็นเป็นภูมิปัญญาไทในวัฒนธรรมลุงชาน อยู่ที่ Chien-shan-yang เมืองวูชิง มณฑลซีเกียง พบผ้าไหมทอลายขัดในตะกร้าไม้ไผ่ อายุประมาณ ๔,๘๐๐ มาแล้ว

วัฒนธรรมการทอผ้าไทในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากหนังสือประวัติศาสตร์ของชาวเยว่
    หนังสือประวัติศาสตร์ชาวเยว่ สมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อประมาณ ๒,๑๐๐ ปีมาแล้ว ระบุว่า พระเจ้าโกวเจี้ยน กษัตริย์ชาวเยว่ มีนโยบายส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โปรดให้นำฝ้ายมาทอเป็นผ้าสีเหลือง ส่งไปถวายพระเจ้าฮั่นอู่ตี๋ แห่งราชวงศ์ฮั่น

วัฒนธรรมการทอผ้าของไทในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากหลักฐานผ้าไหมโบราณที่เก่าแก่ที่สุด
    หลักฐานที่สะท้อนภูมิปัญญาอันสูงของบรรพชนเผ่าไท ผู้มีความสามารถในการทอผ้าด้วยเทคโนโลยีระดับสูง มาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ คือ การพบผ้าไหมที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออก-เฉียงใต้ อายุ ๒,๑๐๐ ปี ที่สุสานนางพระยาเผ่าไท ที่ตำบลหม่าหวังตุย นครฉางซา มณฑลหูหนาน พบผ้าไหมบาง ผ้าไหมโปร่ง ผ้าไหมยกดอกชนิดซับซ้อน ผ้าใยกัญชา ผ้าพิมพ์ดอก ผ้าไหมปักลวดลาย และผ้าไหมวาดลวดลายเป็นเรื่องราว

ความเป็นมาของชนเผ่าไท
    ศาสตราจารย์เตอเรียน เดอ ลาคูเปอรี ระบุว่าคนไทมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในหุบเขาระหว่างแคว้นเสฉวนและแคว้นเชนซี (เซียมไซ) ตอนกลางของประเทศจีนระหว่างแม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำแยงซีเกียง (แม่น้ำของพวกยาง)
    จดหมายเหตุจีนระบุว่า ในรัชสมัยพระเจ้ายู้ เมื่อประมาณ ๔,๒๐๐ ปีมาแล้ว มีการสำรวจอาณาเขตประเทศจีนว่าไปจดอาณาจักรใหญ่มาก จนจีนเรียกว่า ต้ามุง หมายถึงมุงใหญ่หรือลุงใหญ่ของชนชาติไทอ้ายลาว อาณาจักรไทเมือง มีนครลุงเป็นเมืองหลวง ต่อมาเมื่อประมาณ ๓,๙๐๐ ปีได้ลงมาทางใต้บริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียง ในมณฑลเสฉวน มีนครผาหรือปาเป็นเมืองหลวง และได้ตั้งนครเงี้ยวขึ้นบริเวณลุ่มน้ำแยงซี รวมเป็นสามนคร บนพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์
    อาณาจักรไทเมือง มีความยิ่งใหญ่เป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่ ๓,๕๐๐ ปีก่อน พ.ศ. จนถึง ๓๙๒ ปีก่อน พ.ศ. จึงเสียนครหลวงให้พวกตาด เสียนครผาให้พวกเจ้าแคว้นจี เมื่อพ.ศ. ๒๐๕ และเสียนครเงี้ยวให้จิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อ พ.ศ. ๓๒๘
    เมื่อเสียอาณาจักรไทเมือง ชนชาติไทได้อพยพลงใต้ แบ่งเป็น ๒ สาย
    สายแรก คือ ไทใหญ่ อพยพไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปทางลุ่มน้ำสาละวิน(หรือคง)   เมื่อ ๕๐ ปีก่อน พ.ศ. ตั้งอาณาจักรมาวหลวงขึ้นที่ต้นแม่น้ำสาละวิน ต่อมาไทใหญ่ได้แยกเป็นสองพวก พวกหนึ่งไปทางทิศใต้ เข้าสู่ดินแดนพม่า ตั้งแคว้นชาน (Shan State) มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองตะโก้ง (หรือท่ากุ้ง) ต่อมาพระเจ้าอโนรธามั่งฉ่อ หรือ อนุรุธมหาราช แห่งอาณาจักรพุกามปราบได้ ส่วนไทใหญ่อีกพวกอพยพไปในแคว้นอัสสัม อินเดียตอนเหนือ ได้แก่ พวกไทอาหม ไทคำตี่ ไทพาเก และไทหลวง
    อีกสายหนึ่ง คือ ไทน้อย อพยพไปทางทิศใต้ ทางลุ่มแม่น้ำโขง (แม่น้ำของ) มาอยู่ที่มณฑลยูนนาน ตั้งอาณาจักรอ้ายลาว (พ.ศ.๔๐๐ - พ.ศ.๗๖๘) แบ่งเป็น ๓ แคว้นคือ
    ทางทิศตะวันออกของยูนนาน คือ แคว้นเตียนหรือเทียน มีเมืองแถนเป็นเมืองหลวง
    ทางตอนกลางของยูนนาน คือ แคว้นไป่จื๊อ มีเมืองเพงายเป็นเมืองหลวง
    ทางตะวันตกของยูนนาน คือ แคว้นอ้ายลาว มีเมืองพง เป็นเมืองหลวง
    ชนชาติไทยในยูนนาน ได้สร้างเมืองสำคัญหลายเมืองคือ เชียงรุ้ง ในสิบสองปันนา เมืองเชียงตุงในพม่า เมืองเชียงแสน ตามลำดับ
    เมื่ออาณาจักรอ้ายลาวถูกทำลาย ชนชาติไทได้อพยพมาตั้งหลักฐานบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง คือ แคว้นสิบสองจุไท หรือสิบสองเจ้าไท ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย ตามลำดับ

ความยิ่งใหญ่ของชนเผ่าไท

    สถาบันมนุษยศาสตร์ออสเตรเลีย ระบุว่ามีกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไท เป็นจำนวนถึง ๙๐ ล้านคน แบ่งออกเป็นเผ่าต่าง ๆ ๘๐ เผ่า อาณาเขตของชนพูดภาษาตระกูลไทกว้างใหญ่ไพศาลมาก ครอบคลุมอาณาจักรไทเดิมที่ยิ่งใหญ่ในอดีต คือ อาณาจักรอ้ายลาว ตอนกลางของประเทศจีน อาณาจักรน่านเจ้า และอาณาจักรสิบสองปันนา ตอนใต้ของประเทศจีน อาณาจักรสิบสองเจ้าไทในประเทศเวียดนาม อาณาจักรล้านช้างในประเทศลาว อาณาจักรเชียงแสน อาณาจักรล้านนาในประเทศไทย อาณาจักรมาวหลวง และแคว้นเขมรัฐ ในประเทศพม่า อาณาจักรไทอาหมในประเทศอินเดีย อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา ทางภาคกลางของประเทศไทย และอาณาจักรศรีวิชัยทางภาคใต้ของประเทศไทย

เผ่าไทในอาณาจักรไทเดิม

    ชนเผ่าไทในอาณาจักรไทเดิมที่ยิ่งใหญ่มาแต่อดีต มีวัฒนธรรมการแต่งกายของแต่ละเผ่าที่ความประณีต สืบทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรมการแต่งกาย โดยเฉพาะการนุ่งผ้าซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่า ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดได้แก่ ไทลื้อ ในอาณาจักรสิบสองปันนา ไทดำ ไทแดง แห่งอาณาจักรสิบสองเจ้าไท ไทลาว ไทพวน ผู้ไทย ไทอีสาน แห่งอาณาจักรล้านช้าง ไทยวนแห่งอาณาจักรล้านนา ไทใหญ่แห่งอาณาจักรมาวหลวง ไทเขินแห่งเมืองเชียงตุง แคว้นเขมรัฐ ไทอาหมแห่งอาณาจักรไทอาหม ไทสยามแห่งอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา ไทถิ่นใต้แห่งอาณาจักรศรีวิชัย เป็นต้น

ไทแดง แห่งอาณาจักรสิบสองเจ้าไท

ไทดำ แห่งอาณาจักรสิบสองเจ้าไท

ไทลื้อ แห่งอาณาจักรสิบสองปันนา

ไทใหญ่แห่งอาณาจักรมาวหลวง

ไทยวนแห่งอาณาจักรล้านนา