โรคใบจุดนูนมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย
Xanthomonas campestris pv. glycines ส่งผลกระทบต่อผลผลิตถั่วเหลืองทั้งทางด้านคุณภาพและปริมาณ
การป้องกันและการควบคุมโรคที่เกษตรกรนิยมคือการใช้สารเคมี แต่การใช้สารเคมีในปริมาณมากเกินความจำเป็นส่งผลให้เชื้อโรคดื้อสารและเป็นมลพิษต่อระบบนิเวศการเกษตร
การควบคุมโรคใบจุดนูนโดยชีววิธีจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว
การวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อคัดเลือกเชื้อปฏิปักษ์ที่มีแนวโน้มในการยับยั้งโรคใบจุดนูนถั่วเหลืองเพื่อนำไปพัฒนาใช้ควบคุมโรคทดแทนการใช้สารเคมี
ผลจากการวิจัยพบว่าเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์
3 สายพันธ์ คือ KPS44 KPS46 และSW01/4 มีศักยภาพสูงในการยับยั้งเชื้อสาเหตุโรคใบจุดนูนได้ดี
เชื้อสายพันธุ์ KPS44 สามารถผลิตสารยับยั้งเชื้อโรคเป้าหมายได้ดีที่สุด
รองลงมาคือ KPS46 และ SW01/4 ตามลำดับ จากการทดสอบด้วยวิธี paper disc
diffusion method


เมื่อนำเชื้อปฏิปักษ์ไปทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมโรคในสภาพเรือนทดลองและในสภาพไร่
พบว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคใบจุดนูนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื้อสายพันธุ์
SW01/4 และ KPS44 มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคได้ดีอย่างแตกต่างทางสถิติกับการใช้สารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์และสเตร็ปโตมัยซิน
ในขณะที่สายพันธุ์ KPS46 มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับการใช้สารเคมี นอกจากนี้ผลผลิตถั่วเหลืองจากแปลงที่ควบคุมโรคด้วยสายพันธุ์
SW01/4 มีแนวโน้มเพิ่มสูง แสดงให้เห็นว่าเชื้อปฎิปักษ์ดังกล่าวมีศักยภาพสูงที่น่าจะนำมาพัฒนารูปแบบเป็นเชื้อปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคใบจุดนูนทดแทนการใช้สารเคมีเพราะมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคและยังมีแนวโน้มในการเพิ่มผลผลิตของถั่วเหลืองได้อีกด้วย
ทั้งนี้การจำแนกชนิดของเชื้อปฏิปักษ์ดังกล่าวพบว่าเชื้อสายพันธุ์ KPS44
และ KPS46 มีคุณสมบัติตรงกับเชื้อแบคทีเรีย Bacillus firmus ส่วนสายพันธุ์
SW01/4 มีลักษณะใกล้เคียงกับเชื้อ Lactobacillus sp. ซึ่งจะได้ทำการตรวจสอบเพื่อยืนยันในขั้นต่อไป
อย่างไรก็ตามเชื้อปฏิปักษ์ทั้งสองชนิดนี้ ยังไม่มีรายงานในการนำมาใช้เป็น
biocontrol agent มาก่อน จึงถือได้ว่าเป็นรายงานแรกที่พบเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์สายพันธุ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงทัดเทียมสารเคมีในการควบคุมโรคถั่วเหลือง
การใช้เชื้อปฏิปักษ์ควบคุมโรคบริเวณพื้นผิวของพืชนั้น
ต้องคำนึงถึงการมีชีวิตรอดภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผันแปร การใช้แหล่งอาหาร
และการเพิ่มปริมาณบนพืชอาศัย การปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการควบคุมโรคเป้าหมายโดยชีววิธีให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ
การวิจัยนี้จึงได้ทำการศึกษาและพัฒนาสูตรสำเร็จ(formulate) ของเชื้อปฏิปักษ์ในรูปแบบต่าง
ๆ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้ของเกษตรกร และมีประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้ทดแทนสารเคมี
ได้แก่การศึกษาสภาวะที่เหมาะสมของเชื้อปฏิปักษ์ต่อการผลิตสารยับยั้ง
เพื่อนำสารดังกล่าวมาปรับใช้เป็นสารชีวภัณฑ์ในรูปของสารกรอง (crude
extract) สำหรับควบคุมโรค ซึ่งผลการวิจัยพบว่าสารกรองเชื้อปฏิปักษ์สายพันธุ์
KPS44 และ KPS46 ที่ความเข้มข้น 100 และ 80% มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อสาเหตุโรคได้ดีในสภาพห้องปฏิบิตการ
และประสิทธิภาพของสารกรองยังคงมีคุณภาพในการยับยั้งสูงนาน 90 วัน เมื่อเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้อง
(30 oC) นอกจากนี้จากการทดสอบในสภาพเรือนทดลองพบว่าสารกรองเชื้อปฏิปักษ์ทั้ง
2 สายพันธุ์ที่ความเข้มข้น 100% สามารถลดความรุนแรงของโรคเป้าหมายได้ไม่แตกต่างทางสถิติกับการควบคุมด้วยสารเคมีสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ดี
การวิจัยในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการนำเชื้อปฏิปักษ์ที่แยกได้มาใช้ควบคุมโรคใบจุดนูนของถั่วเหลืองในแปลงปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในลักษณะของเซลล์แขวนลอย
และสารชีวภัณฑ์ ทดแทนการใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งจะได้มีการศึกษาและพัฒนาเป็นสูตรสำเร็จเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้อย่างสะดวกทดแทนการใช้สารเคมีต่อไป
|