ผลของช่วงเวลาการตัดแต่งกิ่งและการให้ปุ๋ยต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของราสพ์เบอรี่
Effects of Pruning Time and Fertilization on Growth and Yield of Raspberry

 
ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ และคณะ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 0-2579-6959

                ราสพ์เบอรี่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของไม้ผลเขตหนาวที่พอมีหวังสำหรับการปลูกเป็นการค้าในประเทศไทย สายพันธุ์ที่ได้มีการนำเข้ามาทดลองปลูกแล้วได้แก่ Glen Clova, Glen Prosen, Malling Admiral, Festival, และ Southland ซึ่งทั้งหมดจัดเป็นราพส์เบอรี่ประเภท Summer-bearing varieties นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ประเภท Everbearing หรือ Fall-bearing variety อีกหนึ่งสายพันธุ์คือ Amity และขณะนี้เป็นสายพันธุ์เดียวที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ดีที่สุด โดยมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตอยู่ในแนวโน้มที่ดี

                ผลของเวลาการตัดแต่งกิ่ง การไว้จำนวนกิ่ง และอัตราการให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของราสพ์เบอรี่ประเภท Everbearing พันธุ์ Amity ทำการศึกษาที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางและสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ในปี พ.ศ. 2544 และ 2545 วันที่ทำการตัดแต่งกิ่งมีผลเพียงเล็กน้อยต่อความยาวกิ่ง เส้นผ่าศูนย์กลางกิ่ง และจำนวนข้อต่อกิ่งที่ติดผล แต่ไม่มีผลต่อคุณภาพผลผลิต ในการศึกษาเกี่ยวกับการไว้จำนวนกิ่งนั้น จำนวนที่เหลือไว้จากขั้นต่ำ 8 กิ่งถึงจำนวนมากที่สุด 12 กิ่งต่อความยาวแถวหนึ่งเมตร มีแนวโน้มที่จะทำให้ความยาวของกิ่งและผลผลิตเพิ่มขึ้น การให้ปุ๋ยได้เพิ่มจำนวนข้อที่ติดผลต่อกิ่งที่สถานีฯอินทนนท์ ขณะที่อัตราการให้ปุ๋ยที่ 24 และ 72 กรัมต่อแถวยาวหนึ่งเมตร ที่สถานีฯอ่างขางให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 22 %

โครงการย่อยที่ 1 การศึกษาช่วงเวลาของการตัดแต่งกิ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิ
                ความยาวของลำต้นและจำนวนข้อต่อลำต้นในราสพ์เบอรี่สามสายพันธุ์มีการผันแปรไปตามฤดูกาลปลูกและสภาพของพื้นที่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นมีความสัมพันธ์กับการสะสมคาร์โบไฮเดรตและมีผลโดยตรงกับการติดผลราสพ์เบอรี่บนลำต้น

โครงการย่อยที่ 2 การศึกษาการไว้จำนวนกิ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต

                ลักษณะนิสัยของราสพ์เบอรี่ประเภท Autumn-fruiting หรือ Primocane-fruiting หรือ Everbearing ถูกควบคุมโดยพันธุกรรม และยังถูกอิทธิพลคืออุณหภูมิ ความยาววัน และช่วงระยะเวลาของฤดูการเจริญเติบโตเป็นปัจจัยสำคัญอีกด้วย พบว่าผลผลิต/ต้น จำนวนข้อทั้งหมด/ต้น และจำนวนข้อที่ติดผล/ต้นไม่ได้ถูกอิทธิพลจากระยะปลูกในฤดูกาลผลิตปีแรก ในขณะที่ค่าเฉลี่ยน้ำหนักของผลและขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นที่ติดผลมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับระยะปลูก การเพิ่มขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นราสพ์เบอรี่มีความสัมพันธ์ตรงข้ามกับจำนวนของลำต้น แต่มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับจำนวนผลต่อช่อ และจำนวนผลทั้งหมด/ต้น

โครงการย่อยที่ 3 การศึกษาอัตราของการให้ปุ๋ยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต
                ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นมีความสัมพันธ์กับการสะสมคาร์โบไฮเดรต และมีผลโดยตรงกับการติดผลราสพ์เบอรี่บนลำต้น ดังนั้นลำต้นที่มีความหนามากขึ้นจะให้ผลผลิตที่สูงขึ้น การให้ปุ๋ยอัตราต่างกันไม่ได้มีผลต่อความยาวลำต้นและจำนวนช่อที่ติดผล ขณะที่การให้ปุ๋ยในอัตรา 48 ก. /ม. มีแนวโน้มทำให้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่มากกว่าตำรับการทดลองอื่น ๆ ยกเว้นอัตรา 96 ก. ได้มีรายงานมาแล้วว่าความหนาวเย็นในฤดูหนาวสามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อลำต้นของราสพ์เบอรี่ได้

สรุปผลการวิจัยและคำแนะนำ

  1. ควรทำการตัดแต่งลำต้นที่แก่หรือให้ผลผลิตแล้วในระหว่างสองอาทิตย์แรกของเดือนมกราคม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายอันเกิดจากน้ำค้างแข็งที่จะทำอันตรายแก่ต้นอ่อน การให้น้ำและคลุมแปลงด้วยฟางข้าวเป็นประโยชน์ในการลดจำนวนวัชพืชและทำให้ดินชุ่มชื้นช่วยให้ระบบรากแข็งแรงได้
  2. เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากต่อพื้นที่ปลูก สามารถที่จะไว้กิ่งหรือลำต้นได้ตั้งแต่ 8-12 กิ่ง/ตร.ม. โดยไม่ทำให้คุณภาพของผลแตกต่างกัน
  3. การให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 24 และ 72 ก./ตร.ม. อาจเป็นการเพิ่มผลผลิตให้แก่ราสพ์เบอรี่ได้ แต่ควรจะทำการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินก่อนทำการปลูก