ดักแด้ไหม : วัตถุดิบแหล่งโปรตีนในอาหารปลาดุก

 
อรพินท์ จินตสถาพร
ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอาหารสัตว์น้ำ คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 0-2561-3031

ดักแด้ไหม
            เป็นระยะดักแด้ของผีเสื้อไหม ไหมเป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ตัวเป็นสีครีม เมื่อกางปีกออกจะมีขนาดประมาณ2 นิ้ว ตัวเต็มวัยไม่กินอาหาร มีอายุสั้นเพียง 2 - 3 วันเท่านั้น หลังวางไข่ (ประมาณ 300-500 ฟอง)ก็จะตาย ไข่ฟักเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 10 วัน ระยะตัวหนอนจะกินใบหม่อนเป็นอาหารจนอายุ 35 - 40 วัน ก็จะเข้าดักแด้ โดยจะทำรังไหมห่อหุ้มตัว รังไหม เมื่อนำไปต้มสาวเส้นไหมออกแล้ว ตัวดักแด้ก็นำมารับประทานได้ โดยการนึ่ง คั่ว ทอด แกง หรือ ป่นใส่น้ำพริก

ปริมาณดักแด้ไหม
            ประเทศไทยมีการเลี้ยงไหมในทุกภาคของประเทศ โดยมีการเลี้ยงไหมกันมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร (2546) รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2544 ประเทศไทยผลิตรังไหมสดได้ 2,867.4 ตัน คิดเป็นน้ำหนักดักแด้ไหมได้ 2,282.9 ตัน

คุณค่าทางโภชนะของดักแด้ไหม
     ดักแด้ไหมมีโปรตีน 60 – 62 % ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโนที่สำคัญ อีกทั้งมีไขมันเป็นองค์ประกอบสูง 15 – 18 % และยังมีวิตามินเอ บี1 บี2 และวิตามินอีในปริมาณสูง