กระบวนการผลิตหลักสูตรท้องถิ่นที่เอื้อต่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนม: กรณีศึกษาจังหวัดราชบุรี

 
บุญเรียง ขจรศิลป์ และคณะ
ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-7114

        การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและประเมินกระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ที่เอื้อต่อการเลี้ยงโคนม โดยเน้นในเรื่องความร่วมมือระหว่างโรงเรียนชุมชนและองค์กรท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอนที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้ใน ชีวิตจริง ครูใช้ การสอนแบบบูรณาการโดยให้นักเรียน เป็นศูนย์กลางเพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วย ตนเองและมีประสบการณ์การเรียนรู้แบบร่วมมือมีการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมงานซึ่งมีเกณฑ์การ
ประเมินอย่างชัดเจน โดยคาดว่านักเรียนจะมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมเพิ่มมากขึ้น

        ผู้ร่วมในโครงการครั้งนี้ประกอบด้วยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2540 และ 2541 โรงเรียนชุมชนวัดหนองโพและโรงเรียนวัดดอนกระเบื้อง ครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากทั้งสองโรงเรียน ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ บุคลากรในชุมชน และผู้แทนองค์กรท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการเรียนการสอน การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวม
ข้อมูลได้แก่ แบบประเมินชิ้นงาน แบบวัดเจตคติ แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์

 

ผลการวิจัยพบว่า

กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นโดยความร่วมมือของโรงเรียนและชุมชนนั้น ประกอบด้วย 10 ขั้นตอน คือ

  1. ศึกษาข้อมูลพี้นฐาน ความต้องการของบุคลากรและ นักเรียนในโรงเรียน และคนในชุมชน ในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง "การเลี้ยงโคนม"
  2. พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง "การเลี้ยงโคนม" โดยได้รับความร่วมมือจากผู้รู้ในชุมชน บุคลากรในโรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงโคนมจากกรมปศุสัตว์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  3. จัดเตรียมบุคลากรโดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ และพาบุคลากรที่เกี่ยวข้องไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่ใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในรูปแบบต่าง ๆ ละการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน
  4. ประชุมผู้ปกครองนักเรียนเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ และวิธีการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ปกครองในการจัดการเรียนการสอน
  5. นำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง "การเลี้ยงโคนม 1" และ "การเลี้ยงโคนม 2" ไปทดลองใช้
  6. ประเมินผลการนำหลักสูตรไปใช้ ในระยะแรก
  7. จัดประชุมติดตามผลการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง "การเลี้ยงโคนม 1" และ "การเลี้ยงโคนม 2" หลังจากจบการเรียน การสอนในภาคต้นและภาคปลาย โดยเชิญคนในชุมชนบุคลากรในโรงเรียน และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปรับปรุง
  8. นำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง"การเลี้ยงโคนม 1" และ "การเลี้ยงโคนม 2" ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ แล้วนำไปใช้
  9. ประเมินผลการใช้หลักสูตรที่มีต่อนักเรียนครู ผู้บริหาร และคนในชุมชน และ
  10. บุคลากรในโรงเรียนและคนในชุมชนปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรและดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง

กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง "การเลี้ยงโคนม" ที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมานั้นมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเมื่อนำหลักสูตรไปใช้แล้วพบว่า

  1. คณะครูที่เข้าร่วมโครงการเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนจากการให้ครูเป็นศูนย์กลางมาเป็นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น
  2. ชุมชนและองค์กรท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน
  3. การประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมงานช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น
    ที่จะปรับปรุงผลงานของตนเองให้ดีขึ้น
  4. นักเรียนมีความสามารถในการทำงานเป็นทีมมากขึ้น
  5. นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมมากขึ้น
  6. นักเรียนมีความรับผิดชอบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์การกล้าแสดงออก การมีนิสัยรักการทำงาน มีทักษะการแสวงหาความรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การทำงานเป็นกลุ่ม การสื่อสารอยู่ในระดับดี
  7. นักเรียนมีความสุขในการเรียนหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องการเลี้ยงโคนม และมีเจตคติต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมดีขึ้นกว่าก่อนเรียน
  8. ครูผู้สอน ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ บุคลากรในชุมชนมีความคิดเห็นว่า การนำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องการเลี้ยงโคนมมาใช้ในโรงเรียนมีผลดี และเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และชุมชนมากกว่า ผลเสีย ซึ่งควรจะดำเนิน การต่อไปและควรจะมีการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆโดยการนำกระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น วิธีการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผลไปปรับใช้ ซึ่งเนื้อหาของ หลักสูตรนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ ความต้องการและศักยภาพในการจัดทำหลักสูตรของแต่ละท้องถิ่น