หุ่นจำลองยางพารา สื่อประหยัดเพื่อการศึกษาไทย

 
อภินันท์ สุประเสริฐ
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์  คณะสัตวแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 0-2579-7539

    เป็นที่ยอมรับว่าสื่อการสอนเป็นตัวกลางที่สำคัญที่สุดในกระบวนการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอนมีหน้าที่เป็นตัวนำความต้องการของอาจารย์ ครู ไปสู่ตัวนักเรียน อย่างถูกต้องรวดเร็ว เป็นผลให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามจุดมุ่งหมายการสอนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สื่อการสอนถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอนตลอดมา และได้รับการพัฒนาไปตามการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สื่อการสอนในรูปหุ่นจำลองเป็นสื่อวัสดุสามมิติประเภทหนึ่งซึ่งนิยมใช้ในการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์การเกษตร และชีววิทยา ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เข้าใจได้ง่าย ครูสามารถนำมาใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และครูสามารถสอนได้ตรงตามจุดมุ่งหมายการเรียนการสอน


    สื่อการสอนในรูปหุ่นจำลอง ส่วนใหญ่ผลิตจากสารสังเคราะห์พวก เรซิ่น และหรือไฟเบอร์กลาส ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาที่จำหน่วยในท้องตลาดจึงค่อนข้างสูงจึงมีใช้กันอย่างจำกัดในสถานศึกษา สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ พยายามแก้ปัญหาการนำเขาหุ่นจำลองจากต่างประเทศ โดยการสั่งซื้อในรูปของสารสังเคราะห์จำนวนเรซิ่นนำมาหล่อเป็นหุ่นจำลองใช้เอง
    การนำสารธรรมชาติยางพารามาใช้ผลิตเป็นหุ่นจำลองทดแทนวัสดุสารสังเคราะห์ก่อให้เกิดประโยชน์คุณค่าทางวิชาการอยางยิ่งพร้อมกับสนับสนุนนโยบายรัฐที่สำคัญ 3 ประการ คือ ด้านนโยบายการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ด้านสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราไทย และด้านการเป็นสินค้าส่งออก



    ในด้านการสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปการศึกษา
    " การปฏิรูปการศึกษาในความหมายที่แท้จริงหมายถึง การปฏิรูปการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่กล่าวไว้ในมาตรา 24(5) ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 คือ รัฐต้องจัดส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดบ้อมสื่อการเรียนและอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ดังนั้น การเรียนการสอนในยุคปฏิรูปการศึกษา นักเรียนคงมิใช่เรียนจากกระดาษตำราหนังสือหรือกระดานดำอย่างเดียวอีกต่อไป สถานศึกษา 60,000 แห่งทั่วประเทศและครูผู้สอนควรจัดสภาพแวดล้อมสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ สื่อหุ่นจำลองยางพาราจะเป็นสื่อการสอนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกษตรศาสตร์และชีววิทยาที่ประหยัดและเหมาะสมกับนักเรียนไทยอย่างแท้จริง เพราะเป็นสื่อที่ผลิตจากสารธรรมชาติคือ ยางพารา มีความนุ่มนิ่มเสมือนของจริงน่าเรียนน่าใช้

    ในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราไทย
    นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ประเทศไทยสามารถผลิตยางพาราไปขายต่างประเทศเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่เกษตรกรสวนยางไทยยังคงประสบปัญหาราคายางที่ตกต่ำเป็นประจำทุกปีจากตัวเลขการผลิตพบว่าประเทศไทยสามารถผลิตยางพาราได้ในปริมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี ส่งออกในรูปยางข้น, ยางแผ่น ปริมาณ 2 ล้านตัน ได้มูลค่าเท่ากับ 56,000 ล้านบาท ที่เหลือ 0.2 ล้านตันเรานำมาแปรรูป เช่น ยางรถยนต์ ถุงยาง ถุงมือ ยางรัดของ ได้มูลค่าเท่ากับ 48,000 ล้านบาท การแปรรูปจึงนำมาซึ่งมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราเป็นอย่างมากหากเราแปรรูปเพิ่มขึ้นอีก 20-30% ส่งออกยางดิบให้ลดลงในประมาณเท่ากัน เราจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้น ทำไมเราไม่คิดค้นประดิษฐ์สิ่ง ประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อนำยางพารามาใช้ การประดิษฐ์สื่อการเรียนการสอนอวัยวะมนุษย์และสัตว์ จึงมีเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่สถานศึกษาทุกระดับทั่วประเทศ จึงนับเป็นแนวทางหนึ่งที่มีศักยภาพสูงยิ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราไทย

    ในด้านลดการนำเข้าและสนับสนุนเป็นสินค้าส่งออก
    " ปีหนึ่งๆ รัฐต้องใช้จ่ายงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อนำเข้าสื่อการเรียนการสอนรูปหุ่นจำลองที่ทำจากเรซิ่น หรือไฟเบอร์กลาส การนำยางพารามาผลิตเป็นสื่อการเรียนการสอน นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าไปดีละ 100 ล้านบาท แล้วยังสามารถผลิตเป็นสินค้าส่งออกได้เป็นอย่างดี เนื่องจากคุณสมบัติเด่นของสื่อการสอนที่ทำจากยางพารา มีราคาถูกกว่ามาก น้ำหนักเบา ตกไม่แตก สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก มีความเหมาะสม นำมาใช้เป็นสื่อการสอนได้เป็นอย่างดี