ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ผสมเปิด สุวรรณ 3

9suwan 3 (s) c4. 10Suwan3(S)C4-Plant

ประวัติการพัฒนาพันธุ์

พ.ศ. 2520  โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำพันธุ์ข้าวโพดจากเขตกึ่งร้อน (sub-tropical) และเขตอบอุ่น (temperate) เข้ามาผสมกับพันธุ์สุวรรณ 1 รอบคัดเลือกที่ 4 (Suwan 1(S)C4)

พ.ศ. 2521-2522  ปลูกแต่ละคู่ผสมในแปลงปราศจากโรคราน้ำค้างและผสมกันระหว่างต้นที่มีลักษณะดีภายในแต่ละคู่ผสมเพื่อให้เกิดการคลุกเคล้าของพันธุกรรมที่ดีจากพ่อแม่เข้าด้วยกัน

พ.ศ.2523-2524   สร้างพันธุ์เคซีโดยใช้ 1 โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์จากการเลือกคู่ผสมที่ให้ผลผลิตชั่วที่หนึ่งและชั่วที่สองสูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 รอบคัดเลือกที่ 4 ปรากฏว่ามีทั้งหมด 7 คู่ผสมดังนี้

                                     1. IPTT 34 x Suwan 1(S)C4-F3

                                     2. H 3369 A x Suwan 1(S)C4-F3

                                     3. SR 52 x Suwan 1(S)C4-F3

                                     4. Florida Synthetic x Suwan 1(S)C4-F3

                                     5. (Am. Bajio x Varios Temp.) x Suwan 1(S)C4-F3

                                     6. U.S.A. 342 x Suwan 1(S)C4-F3

                                     7. Corn Belt Comp. (Bank) x Suwan 1(S) C4-F3

 นำคู่ผสมทั้ง 7 พันธุ์มาผสมแบบพบกันหมด และต่อมาได้ผสมแบบสุ่ม (random mating) ในแปลงอิสระ โดยวิธีฝักต่อแถวประยุกต์ (modified ear to row) จำนวน 3 ครั้ง

พ.ศ. 2525       ปรับปรุงพันธุ์เคซี 1 โดยวิธีการคัดเลือกหมุนเวียนแบบผสมตัวเองหนึ่งครั้ง

พ.ศ. 2526     สร้างพันธุ์เคเอส 4 โดยนำสายพันธุ์ S1 จำนวน 30 พันธุ์ ของพันธุ์สุวรรณ 1 รอบคัดเลือกที่ 8 มาผสมกับสายพันธุ์ S1 จำนวน 20 สายพันธุ์ของพันธุ์เคซี 1 นำฝักที่คัดเลือกได้มาปลูกในแปลงอิสระจำนวน 1 ครั้ง

พ.ศ. 2527-2529    ปรับปรุงพันธุ์เคเอส 4 โดยวิธี S1 recurrent selection จำนวน 3 รอบ

พ.ศ. 2530           มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะนำพันธุ์เคเอส 4 รอบคัดเลือกที่ 3 ให้เกษตรกรปลูกโดยให้ชื่อว่า “พันธุ์สุวรรณ 3”

ลักษณะประจำพันธุ์

ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 3 เป็นข้าวโพดที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง โดยให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยสูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 ประมาณร้อยละ 8 (พันธุ์สุวรรณ 1 ให้ผลผลิตอยู่ระหว่าง 600-900 กิโลกรัม/ไร่) ต้านทานโรคราน้ำค้างและราสนิมได้ดี สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้กว้าง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 110-120 วัน ลำต้นสูงประมาณ 2.00-2.20 เมตร ระบบรากและลำต้นแข็งแรง ใบมีสีเขียวเข้ม ฝักมีขนาดใหญ่สม่ำเสมอ เมล็ดมีสีส้มเหลืองชนิดหัวแข็ง ซังมีสีขาวและมีซังสีแดงปนอยู่บ้างเล็กน้อย

ผู้พัฒนาพันธุ์ : ศ.ดร.ชำนาญ ฉัตรแก้ว   ดร.สรรเสริญ จำปาทอง และ ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ

หน่วยงาน : ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร และ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 การถ่ายทอดสู่เกษตรกรและผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 3 ได้รับการส่งเสริมสู่เกษตรกรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530โดยความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิมได้ดี จึงเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรในบริเวณที่มีโรคนี้แพร่กระจาย โดยเฉพาะในแหล่งปลูกจังหวัดนครราชสีมา  นอกจากนี้ โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดทั้งของภาครัฐและเอกชนยังได้มีการนำพันธุ์สุวรรณ 3 ไปใช้เป็นเชื้อพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม

รางวัลที่ได้รับ ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 3 ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ในการประชุมวิชาการเกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 27 ปี พ.ศ. 2532