ข้าวโพด : พัฒนาการด้านงานวิจัยข้าวโพดของประเทศไทย

image01

  • พ.ศ.2493 องค์การบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกาเริ่มให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการแก่ประเทศไทยและได้เริ่มงานการปรับปรุงพันธุ์พืชไร่หลายชนิดรวมทั้งข้าวโพด โดยมีการนำพันธุ์ข้าวโพดจากหลายประเทศมาทดสอบในหลายจังหวัด

พ.ศ.2494 MR. Howard Ream ที่ปรึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้สรุปผลการทดสอบข้าวโพด และแนะนำให้ใช้พันธุ์ประเภทผสมเปิด (open-pollinated variety) เป็นพันธุ์ส่งเสริม

พ.ศ.2496 MR. Howard Ream นำข้าวโพดพันธุ์ ทิ กิเสท โกลเดน เยลโลว์ ( Tiquisate Golden Yellow) ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมเปิดที่นำมาจากศูนย์วิจัยเกษตรเขตร้อนชื้นที่เมือง Antiqua ประเทศกัวเตมาลา เข้ามาปลูกทดสอบในประเทศไทยข้าวโพดพันธุ์นี้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ และให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรใช้ปลูกอยู่มาก กรมกสิกรรมจึงให้เป็นพันธุ์ส่งเสริม เรียกชื่อพันธุ์นี้ว่า พันธุ์กัวเตมาลา จึงทำให้การปลูกข้าวโพดของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก

พ.ศ.2502 กองค้นคว้าและทดลอง  กรมกสิกรรม เริ่มโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด  ขณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย Dr. R.E.Fore ซึ่งเป็น visiting Professsor จาก Oregon State University เริ่มงานเปรียบเทียบข้าวโพดลูกผสมจากต่างประเทศหลายพันธุ์

พ.ศ.2503 กรมกสิกรรม เชิญมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ มาร่วมปฏิบัติงานด้านการเกษตรในประเทศไทย โดยมี Dr. R.G. Wellhausen และ Dr. E.W. Sprague มาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด

พ.ศ.2504 นักวิชาการเริ่มงานคัดเลือกพันธุ์และร่วมกันในการเร่งปรับปรุงผลผลิตของข้าวโพดพันธุ์กัวเตมาลา

พ.ศ.2505 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ กรมกสิกรรม และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ ร่วมจัดตั้งโครงการประสานงานปรับปรุงการผลิตข้าวโพด (Co-ordination Project for Corn Improvement Program)ขึ้นเป็นครั้งแรก และใช้สถานีทดลองกสิกรรมพระพุทธบาท เป็นสถานีวิจัยข้าวโพด           

พ.ศ.2506 สร้างพันธุ์ที่ใช้ส่งเสริมในชื่อ ข้าวโพดพันธุ์พระพุทธบาท 1 จากการปรับปรุงผลผลิตของข้าวโพดพันธุ์กัวเตมาลา ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2504 

พ.ศ.2508 แนะนำพันธุ์ส่งเสริมในชื่อข้าวโพดพันธุ์พระพุทธบาท 3 และมีการเริ่มงานวิจัยข้าวโพดที่ไร่ฝึกนิสิตปากช่อง และธนะฟาร์ม ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

พ.ศ.2512  แนะนำพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ พระพุทธบาท 5

พ.ศ.2513 ปีแรกที่มีการจัดสัมมนา “การปรับปรุงผลผลิตข้าวโพดข้าวฟ่าง ครั้งที่ 1”

พ.ศ.2514 เกิดโรคราน้ำค้างระบาดอย่างหนัก และข้าวโพดพันธุ์พระพุทธบาทนี้ ไม่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง จึงทำให้ข้าวโพดมีผลผลิตต่ำ โครงการข้าวโพดข้าวฟ่างได้พยายามหาพันธุ์ต้านทานโรคราน้ำค้าง จากต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคราน้ำค้าง

พ.ศ.2515 จึงได้แนะนำพันธุ์ไทนาน 10 จากไต้หวัน, พันธุ์โบกอ 2 จากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพันธุ์ต้านทานโรคราน้ำค้าง รวมทั้งข้าวโพดหวานพันธุ์ฮาวาย

พ.ศ.2516 แนะนำพันธุ์ไทย ดี เอ็ม อาร์ 6 แก่เกษตรกร แต่ความต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง ยังมีไม่มากนัก และผลผลิตค่อนข้างต่ำ จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากนัก

พ.ศ.2517 ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ แนะนำข้าวโพดพันธุ์ต้านทานโรคราน้ำค้าง ไทยคอมพอสิต1 ดีเอ็มอาร์ และปีนี้เป็นปีที่ราคาข้าวโพดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือตันละ 2,658 บาท มีมูลค่าส่งออก 6.044 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากข้าว

พ.ศ.2518 แนะนำข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ1  เป็นพันธุ์ส่งเสริม สู่เกษตรกรอย่างเป็นทางการ