ถั่วเขียว : ผลงานวิจัยพันธุ์ถั่วเขียว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

21.IMG_5302 22.IMG_5127

ผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือ การพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียว “กำแพงแสน 1“’ และ “กำแพงแสน 2” ได้ในปี 2528 ซึ่งถั่วเขียวทั้งสองพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกอย่างแพร่หลายในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในทุกพื้นที่ปลูก มีความต้านทานโรคและแมลงที่สำคัญ ซึ่งพันธุ์ทั้งสองนี้ทำให้ในช่วงปี 2529–2540 ประเทศไทยสามารถขยายพื้นที่ปลูกและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของถั่วเขียวได้มาก จนก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก แม้ว่าในปัจจุบันเกษตรกรนิยมปลูกถั่วเขียวน้อยลง เนื่องจากการแข่งขันกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ถั่วเขียวพันธุ์ กำแพงแสน 1 และ กำแพงแสน 2 ก็ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดจากเกษตรกร  นอกจากนี้ นักปรับปรุงพันธุ์พืชยังได้นำถั่วเขียวทั้งสองพันธุ์ไปต่อยอดเป็นพ่อแม่พันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ใหม่ของไทย เช่น พันธุ์ชัยนาท 72 ซึ่งพัฒนาขึ้นจากการนำพันธุ์ กำแพงแสน 2 ไปฉายรังสี จากความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียว กำแพงแสน 1 และ กำแพงแสน 2 ทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์  ศรีนิเวศน์ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นประจำปี 2528 ของสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาการเกษตร จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ในปี 2529 และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในปี 2544

  26.page OLYMPUS DIGITAL CAMERAOLYMPUS DIGITAL CAMERA

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 1 และ กำแพงแสน 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกษตรกร นิยมปลูกมาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ทนทานต่อดินด่าง จึงมีความพยายามที่จะถ่ายทอดพันธุกรรมความทนทานต่อดินด่างให้กับถั่วเขียวทั้งสองพันธุ์ให้สามารถใช้ปลูกได้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังได้สร้างสายพันธุ์ถั่วเขียวที่ต้านทานด้วงเจาะเมล็ด ต้านทานโรคที่สำคัญ โดยเฉพาะโรค ราแป้ง (powdery mildew) และใบจุด (Cercospora leaf spot) มากขึ้น พัฒนาให้มีใบย่อยหลายใบเพื่อศึกษาด้านสรีรวิทยาและแนวทางใช้ประโยชน์ การสร้างพันธุกรรมใหม่ ๆ โดยการฉายรังสีแกมมา การผสมพันธุ์ถั่วเขียวกับถั่วชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน รวมทั้งใช้วิธีการเสียบยอดระหว่างพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ งานวิจัยที่กล่าวมาได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สกว. โดยทำงานใกล้ชิดกับศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักแห่งเอเซีย, National Institute of Agrobiological Resources ประเทศญี่ปุ่น, Chinese Academy of Agricultural Sciences, Seoul National University และ Rural Development Administration ประเทศเกาหลี

43.แปลงถั่วเขียว 

ศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์  ศรีนิเวศน์ ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวและถั่วเหลืองของประเทศไทยโดยทำงานอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่เริ่มรับราชการจนกระทั่งปัจจุบันรวมเป็นเวลากว่า 40  ปี  โดยเป็นผู้ริเริ่มงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอช่วยคัดเลือก (marker-assisted selection หรือ molecular breeding) ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในถั่วเขียวและถั่วเหลือง 

ศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ได้ร่วมกับคณาจารย์และนิสิตบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ใน Q1 ด้านพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีมากกว่า 50 paper  ทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรสาสตรืมีผลงานตีพิมพ์ด้านพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวมากที่สุดสถาบันหนึ่งของโลก และเป็นผลงานที่ได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางจากนักวิจัยด้านถั่วเขียวจากทั่วโลกอยู่ในปัจจุบัน

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 ศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์  ศรีนิเวศน์  ได้ร่วมกับนักวิจัยในโครงการฯ ปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่จำนวน 5 สายพันธุ์  และในปี พ.ศ. 2555 ได้ขอขึ้นทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตรแล้ว ดังนี้

ถั่วเขียวสายพันธุ์ปรับปรุงใหม่ สายพันธุ์ KUML 1

ถั่วเขียวสายพันธุ์ปรับปรุงใหม่ สายพันธุ์ KUML 2

ถั่วเขียวสายพันธุ์ปรับปรุงใหม่ สายพันธุ์ KUML 3

ถั่วเขียวสายพันธุ์ปรับปรุงใหม่ สายพันธุ์ KUML 4

ถั่วเขียวสายพันธุ์ปรับปรุงใหม่ สายพันธุ์ KUML 5

44.ย่อดูงาน6 OLYMPUS DIGITAL CAMERA