งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ย่อTitledถั่วเขียว2

ถั่วเขียว

ชื่อสามัญ

Mung Bean, Green Bean

ชื่อวิทยาศาสตร์

Vigna radiate L.

Class

Angiospermae

Subclass

Dicotyledonae

Family

Papilionaceae

Genus

Vigna

Species

radiate

ชื่อท้องถิ่น

ถั่วจีบ ถั่วมุม ถั่วทอง

 

 

aaถั่วเขียว

ถั่วเขียวเป็นพืชล้มลุก อยู่ในตระกูลถั่ว สามารถปลูกได้ตลอดปี คือ ฤดูแล้งหลังการทำนาปี ต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝนหลังเก็บเกี่ยวพืชไร่หลัก ใช้ปลูกก่อนหรือหลังการทำนาหรือทำไร่ เพื่อตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืช ใช้ในระบบปลูกพืชหมุนเวียนช่วย บำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากมีระบบรากที่สามรถตรึงไนโตรเจนได้ดี สามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดให้ปริมาณไนโตรเจนสูง 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ราก     :  ระบบรากเป็นแบบรากแก้ว (tap root system) ประกอบด้วย รากแก้ว (primary root หรือ tap root) ที่เจริญมาจากแรดิเคิล (radicle) มีรากแขนง (secondary root  หรือ lateral root) เจริญออกจากรากแก้ว บริเวณรากมีปม (nodule) เกิดจากแบคทีเรียไรโซเบียม (Rhizobium japonicum) เข้าไปอาศัยอยู่

ลำต้น  :  ลำต้นจะมีขนอ่อน ลำต้นสีเขียว สีม่วง หรือสีน้ำตาล  มีทรงต้น ตั้งตรงหรือกึ่งเลื้อย ต้นสูง 25 เซนติเมตร ถึงกว่า 1 เมตร ลำต้นสามารถแตกกิ่งได้ตั้งแต่ข้อล่างๆ

ใบ        :  เป็นใบประกอบ 3 ใบย่อย  รูปร่างใบมักเป็นแบบรูปใบหอก

ดอก    :  ดอกมีสีเหลือง หรือเขียวอ่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00-1.75 เซนติเมตร ถั่วเขียวเป็นพืชผสมตัวเองแต่ก็สามารถผสมข้ามต้นได้ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ดอกทะยอยออกติดต่อกัน       ตลอดเวลาแม้ว่าจะเริ่มมีฝักแก่แล้ว

เมล็ด(ผล) : เมล็ดออกเป็นฝักและมีขนเป็นสีน้ำตาลอยู่ทั่วฝัก ฝักเมื่ออ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีต่างๆ ตั้งแต่เหลือง น้ำตาลแดง น้ำตาล เขียวลายประ ดำเทา และดำ ฝักยาว 5-14เซนติเมตร   กว้าง 4-6 มิลลิเมตร ฝักจะแก่พร้อมเก็บเกี่ยวหลังดอกบานแล้ว 15-20 วัน ส่วนเมล็ดถั่วเขียวจะมีสีแตกต่างกัน จะเป็นสีเขียว หรือสีเหลือง เยื่อหุ้มเมล็ดมีทั้งมันและด้าน เมื่อ  กะเทาะเปลือกแล้ว เมล็ดข้างในจะมีสีเหลืองอ่อน

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

การจำแนกพันธุ์ของถั่วเขียว      :   ถั่วเขียวสามารถจำแนกตามลักษณะสีเปลือกนอกของเยื่อหุ้มเมล็ด เป็นประเภทใหญ่ๆ 2 พันธุ์ คือ

1. ถั่วเขียวผิวมัน (mung bean หรือ green bean) เมล็ดมีสีเขียวและมันได้แก่ พันธุ์อู่ทอง 1 พันธุ์กำแพงแสน 1 พันธุ์ชัยนาท 60 และ 36  พันธุ์มอ. 1 เป็นต้น

2. ถั่วเขียวผิวดำ (black gram) สีของเมล็ดดำ และไม่เป็นมันได้แก่ พันธุ์อู่ทอง 2 และพิษณุโลก 2 ซึ่งมีตลาดรับซื้อจำกัดกว่าถั่วเขียวผิวมัน

ผลิตผลและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถั่วเขียว

ผลผลิตถั่วเขียวส่วนใหญ่ใช้เพื่อการบริโภคโดยตรง ใช้เพาะเป็นถั่วงอก ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร และ ใช้ทำขนมชนิด ต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าส่วน ถั่วกวน และใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด อาทิ การผลิตวุ้นเส้น วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป แป้งถั่วเขียว ผงถั่วเขียว ถั่วซีกที่เรียกถั่วทอง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปวุ้นเส้นมีความต้องการใช้ถั่วเขียวเป็นวัตถุดิบในการผลิตค่อนข้างสูง เนื่องจากปริมาณการบริโภควุ้นเส้นภายในประเทศสูงถึง 30,000-40,000 ตันต่อปี และยังมีการส่งออกวุ้นเส้นไปต่างประเทศด้วย

ศัตรูถั่วเขียวที่สำคัญ

1. โรคที่สำคัญได้แก่ โรคราแป้ง โรคใบจุดสีน้ำตาล ไวรัสใบด่างเหลือง

2. แมลงที่สำคัญได้แก่ ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว หนอนแมลงวันเจาะลำต้น หนอนฝัก หนอนกระทู้ผัก เพี้ยไฟและไรขาว