มก. พัฒนาการขึ้นรูปกลาสเซรามิกทางทันตกรรมด้วยเครื่องกลควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=c_a2IwXlZHc[/youtube]

สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งนะครับกับรายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อเสริมสร้างได้รายให้กับตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับ คุณคิดว่าอวัยวะส่วนใดของมนุษย์แข็งแรง ทนทานที่สุดครับ กระผมคิดว่าคำตอบของหลายท่านคงจะเป็น ฟัน ใช่มั้ยครับ และฟันที่เราคิดว่าเป็นอวัยวะที่แข็งแรง ทนทานนี้ ก็สามารถเกิดการสึกหรอได้ง่ายๆจากหลายๆ สาเหตุครับ

คุณผู้ฟังครับ การเกิดโรคฟันผุ มาจากปัจจัย 4 ประการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ แผ่นคราบจุลินทรีย์ อาหารประเภทแป้งน้ำตาล ตัวฟัน และเวลา โดยแบคทีเรีย ที่มีอยู่ตามปกติในช่องปาก จะทำปฏิกิริยากับคราบ (Plaque) ที่ติดค้างอยู่ตามซอกฟัน และผิวเคลือบฟัน ซึ่งเราขจัดออกไปได้ไม่หมด เกิดเป็นกรดขึ้น ซึ่งกรดสามารถทำลายผิวเคลือบฟัน ก่อให้เกิดโรคฟันผุขึ้นได้หาก pH ในปาก มีค่าต่ำกว่า 5.5 บ่อยๆ และเป็นเวลานานครับ

ฟัน … มีความสำคัญต่อชีวิต ตั้งแต่เป็นฟันน้ำนม ที่เริ่มขึ้นในวัยเด็ก จวบจนเป็นฟันแท้ที่จะอยู่กับเราไปจนกระทั่งถึงวัยชรา ถ้าหากเราเอาใจใส่ดูแล รักษาความสะอาด ด้วยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อฟัน หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นโทษกับฟัน เพียงเท่านี้ เราก็จะมีฟันที่แข็งแรง แต่ถ้าฟันมีการสึกหรอจะต้องรับการบูรณะ ในปัจจุบันทางทันตกรรมจึงได้มีการนำระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการออกแบบและผลิตเข้ามามีบทบาทในการขึ้นรูปฟันเซรามิกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวนอกจากช่วยลดขั้นตอนในห้องปฏิบัติการลงแล้ว ยังช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้จากการทำงานของมนุษย์ ดังนั้นการพัฒนากลาสเซรามิกเพื่อการบูรณะฟันและสามารถขึ้นรูปด้วยระบบควบคุมโดยคอมพิวเตอร์จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับสภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคมของประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์ครับ

คุณผู้ฟังครับ กลาสเซรามิกชนิดนี้มีความสามารถในการขึ้นรูปเป็นวัสดุทางทันตกรรมด้วยเครื่อง CNC ซึ่งควบคุมด้วยระบบ CAD/CAM โดยชิ้นงานกลาสเซรามิกที่ได้นั้นมีรูปทรงแม่นยำตามต้นแบบ และไม่พบการแตกร้าวใดๆ แม้ในระดับจุลภาค สำหรับการขึ้นรูปสามารถตัดกลาสเซรามิกให้มีขนาด10x10x12 มม. 3 จากนั้นขัดผิวให้เรียบแล้วนำไปขึ้นรูปด้วยเครื่อง CNC ชนิด 3 แกน ซึ่งพัฒนาโดยภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. ซึ่งกลาสเซรามิกได้มาจากแก้วที่ผ่านกระบวนการความร้อนตามกรรมวิธี แล้วนำมาทดสอบสมบัติของกลาสเซรามิกตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นวัสดุทางทันตกรรม โดย ผศ.ดร.ดวงฤดี       ฉายสุวรรณ ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. ได้มุ่งเน้นการขึ้นรูปกลาสเซรามิกด้วยเครื่องกลควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยทดลองขึ้นรูปเป็นส่วนของฟันซี่เดี่ยว เช่น แผ่นปิดหน้าฟัน (veneer) ครอบฟัน (crown) ส่วนอุดฟัน (inlay) และพบว่าสามารถนำกลาสเซรามิกชนิดดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนของแกนฟัน (core) สำหรับซ่อมแซมทางทันตกรรม ผลการวิจัยดังกล่าวมีความสามารถในการขึ้นรูปด้วยเครื่อง CNC ที่ควบคุมด้วยระบบ CAD/CAM  ซึ่งผลปรากฏว่า ชิ้นงานไม่มีการแตกร้าวและมีรูปทรงแม่นยำตามต้องการ มีสมบัติคล้ายกับฟันธรรมชาติมากที่สุด แต่เนื่องจากกลาสเซรามิกมีความแข็งสูง ต้องขึ้นรูปภายนอกช่องปาก กระบวนการขึ้นรูปจึงเป็นปัจจัยในหนึ่งที่สำคัญในการบูรณะฟันครับ ด้วยความสำเร็จของการในพัฒนาอย่างต่อเนื่องทางวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ ทำให้คอมพิวเตอร์มีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุต่างๆในปัจจุบันทางทันตกรรม จึงได้มีการนำระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ และผลิตและมีบทบาทในการขึ้นรูปฟันเซรามิกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดขั้นตอนในห้องปฏิบัติการลงแล้ว ยังช่วยลดการผิดพลาดอันพึงเกิดได้จากการทำงานของมนุษย์ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาฟันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลดค่าจ่ายจากการต้องนัดพบทันตแพทย์หลายๆครั้ง ดังนั้นการพัฒนากลาสเซรามิกเพื่อการบูรณะฟันและสามารถขึ้นรูปด้วยระบบคอมพิวเตอร์จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับสภาพเศรษฐกิจ ภาพสังคมของประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ และยังสามารถพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรม้พื่อใช้งานภายในประเทศ ซึ่งช่วยลดการนำเข้าของวัสดุบูณะฟันชนิดกลาสเซรามิก นอกจากนี้ยังสามารถนำไปจดสิทธิบัตรและส่งออกวัสดุเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

สำหรับวันนี้ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในครั้งหน้า สวัสดีครับ