ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด พันธุ์เกษตรศาสตร์ 3

ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) เป็นผลผลิตการเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกปีละกว่าพันล้านบาท ข้าวโพดฝักอ่อน เป็นข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวฝักในระยะฝักอ่อน ยังไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดเป็นไข่ขนาดเล็ก มีรสชาติอร่อย หวานกรอบ โดยนำเอาฝักอ่อนมาบริโภคในรูปของผัก ใช้ประกอบอาหารทั้งในรูปบริโภคฝักสดหรือปรุงสุก และส่งโรงงานแปรรูปเป็นข้าวโพดฝักอ่อนกระป๋อง 

การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนเป็นการค้า จำเป็นต้องมีพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนใช้ระยะเวลาสั้น อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 วัน ซึ่งโดยปกติเมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 38 วัน หรือมีใบจริง 7 คู่ จะมีช่อดอกตัวผู้โผล่จากใบยอด ซึ่งต้องดึงยอดส่วนนี้ทิ้ง เรียกว่าเป็นการถอดยอด คือดึงยอดที่เป็นช่อดอกตัวผู้ออก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผสมเกสรอีก เพราะจะทำให้ข้าวโพดฝักอ่อนมีคุณภาพด้อยลง ฝักมีเมล็ดบวมพอง ไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด ซึ่งการถอดยอด เป็นเทคนิคสำคัญในการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนให้มีคุณภาพ เร่งให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น แต่วิธีการถอดยอดนี้ ต้องใช้แรงงานและสิ้นเปลืองเวลามาก  ผลผลิตบางส่วนอาจบอบช้ำ เสียหายและทำให้ผลผลิตลดลง

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ และทีมนักวิจัยจาก ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย นายนพพงศ์ จุลจอหอ นายฉัตรพงศ์ บาลลา และนางชไมพร เอกทัศนาวรรณ จากสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ได้ทำการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่ไม่ต้องถอดยอด พันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 โดยการใช้ลักษณะเพศผู้ที่เป็นหมัน (cytoplasmic male sterility) ได้เป็นข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอดด้วยมีลักษณะเพศผู้ที่เป็นหมัน  ให้ผลผลิตสูง มีความสม่ำเสมอของฝัก และสีตรงตามความต้องการของโรงงานแปรรูป ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ไม่ต้องเสียค่าแรงและเวลาในการถอดยอด ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและเป็นผู้นำในตลาดโลกต่อไป

ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด พันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 หรือข้าวโพดฝักอ่อน KBSC 605 ได้มาจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้ข้าวโพดฝักอ่อน Ki 28 cms กับสายพันธุ์แท้ข้าวโพดฝักอ่อน PACB 421-S14-223 โดยเป็นผลจากการทดสอบพันธุ์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ เริ่มดำเนินงานวิจัยมาตั้งแต่พ.ศ. 2548 และพบว่า พันธุ์ KBSC 605 มีลักษณะเด่นที่ให้น้ำหนักฝักสดทั้งเปลือก 1,049 กก./ไร่ น้ำหนักฝักสดปอกเปลือก 188 กก./ไร่ น้ำหนักฝักสดมาตรฐาน 164 กก./ไร่ น้ำหนักฝักเสีย 24 กก./ไร่ จำนวนฝักดี 26,052 ฝัก/ไร่ (90.61%) ให้อัตราแลกเนื้อ 5.65 สูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 ซึ่งให้อัตราแลกเนื้อ 4.71 มีอายุเก็บเกี่ยววันแรก 49.5 วัน ให้จำนวน 1.77 ฝัก/ต้น ฝักอ่อนสีเหลือง ปลายแหลม ไข่ปลาเรียงตัวสม่ำเสมอ มีความสูงต้น 190 ซม. ความสูงฝัก 104 ซม. ต้านทานการหักล้ม และโรคทางใบ มีลักษณะต้นที่ดี และให้น้ำหนักต้นสด 6,496 กก./ไร่

ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติได้เผยแพร่พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด พันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 หรือข้าวโพดฝักอ่อน KBSC 605 ให้เกษตรกรปลูกในเขตจังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และนครปฐม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550  และพบว่า ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด พันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 ให้น้ำหนักฝักสดทั้งเปลือก ประมาณ 1,500-2,000 กก./ไร่ และน้ำหนักฝักสดปอกเปลือก 250-300 กก./ไร่ เป็นพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับของเกษตรกร และโรงงานแปรรูปเพื่อการส่งออก ด้วยฝักอ่อนที่มีสีเหลืองสวย คุณภาพดี และให้ผลผลิตสูง

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ดร.โชคชัย  เอกทัศนาวรรณ

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561

“เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0”

เจ้าของผลงาน : ดร.โชคชัย  เอกทัศนาวรรณ และคณะ

ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่อง/สื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th