ถั่วเขียว : อนาคตงานวิจัยถั่วเขียวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 KU-24

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยรวมยังคงต้องอิงอยู่กับจุดแข็งของมหาวิทยาลัยฯ คือ การวิจัยด้านการเกษตร และนักวิจัยแต่ละคน คงต้องทำงานทั้งด้านพื้นฐานและประยุกต์ เนื่องจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯมีไม่มาก จึงต้องพึ่งผลงานวิจัยของนิสิต โดยเฉพาะนิสิต บัณฑิตศึกษาอีกด้วย ซึ่งวิทยานิพนธ์ของนิสิตต้องเป็นของใหม่ จึงจะสามารถตีพิมพ์เพื่อประกอบการจบการศึกษาได้ ประกอบกับการประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยฯโดยสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ต้องการหลักฐานส่วนหนึ่งที่เป็นผลงานทางวิชาการตีพิมพ์ทำให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต้องสร้างวัฒนธรรมการตีพิมพ์ขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มหาวิทยาลัยฯจึงควรรับบุคคลกรที่มีศักยภาพในการตีพิมพ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นอาจารย์/นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ และต้องมี job description ให้บุคลากรใหม่ต้องตีพิมพ์ผลงานในวารสารที่เป็นที่ยอมรับของสากลเป็นระยะ ๆ อีกด้วย และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควรให้การสนับสนุนนักวิจัยใหม่ โดยการให้งบประมาณวิจัยเริ่มต้นจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมให้มีความสามารถในการตีพิมพ์มากขึ้น และรักษานักวิจัยเก่า ๆ ให้ตีพิมพ์ต่อเนื่อง โดยจัดให้มีรางวัลตอบแทนจูงใจ เพื่อที่นักวิจัยจะได้ไม่รับงานพัฒนาวิชาการมากเกินไปจนลืมภาระงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ

      งานด้านพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอนาคต คงหนีไม่พ้นการพัฒนาพันธุ์ควบคู่กับการตีพิมพ์ โดยต้องศึกษาถั่วในสกุล Vigna อื่น ๆ ให้มากขึ้นอีก เช่น ถั่วนิ้วนางแดง ถั่วพุ่ม ถั่วฝักยาว เพื่อหาทางถ่ายทอดยีนบางตำแหน่งที่มีประโยชน์ให้แก่ถั่วเขียว โดยในขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่ยอมให้มีการทดสอบพืชตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) นอกสภาพโรงเรือน จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมของพืชชนิดอื่น ๆ ยังมีความจำกัดอยู่มาก