การปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์ของม.เกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนักวิจัยจากสถานีวิจัยปากช่อง ทำการปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยว เพื่อให้ได้มะขามเปรี้ยวยักษ์ที่ทั้งใหญ่ ทั้งยาว ทั้งอวบอ้วน หนาหนัก และมีลักษณะฝักตรง เป้าหมายเป็นพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์ลูกผสมเพื่อการปลูกเชิงการค้า และเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

มะขาม   เป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ มีอายุยืน เป็นพืชทนแล้งจึงสามารถเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิดทั่วทุกภาคของประเทศไทย  มะขามแบ่งกลุ่มตามรสชาติได้ 2 กลุ่ม คือ มะขามหวาน (sweet tamarind) และมะขามเปรี้ยว (sour tamarind) มะขาม เป็นพืชสารพัดประโยชน์ ตั้งแต่ราก ใบ ลำต้น ดอก ฝัก ทั้งแบบฝักดิบและฝักสุก โดยมะขามหวาน  จะรับประทานฝักสุก ส่วนมะขามเปรี้ยวจะใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ฝักแก่ใช้ดองหรือแช่อิ่ม ส่วนฝักสุกใช้ปรุงรสอาหาร ที่เรียกมะขามเปียก  และยังใช้แปรรูปเป็นเครื่องดื่ม รวมทั้งเป็นวัตถุดิบส่วนผสมที่สำคัญในการผลิตเครื่องสำอางด้วย

ด้วยมะขามเปรี้ยวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย   มีความต้องการของตลาดที่ขยายตัวเพิ่มอย่างมาก ปัจจุบันมีเกษตรกรต้องการที่จะปลูกมะขามเปรี้ยวเป็นอาชีพมากขึ้น จากเดิมมะขามเปรี้ยวที่จำหน่ายกันอยู่ มักจะเก็บจากแหล่งธรรมชาติ จะไม่นิยมปลูกเป็นไร่เหมือนมะขามหวาน แต่ด้วยปัญหาที่มีพันธุ์มะขามเปรี้ยวหลากหลายพันธุ์กระจายอยู่ในธรรมชาติในท้องถิ่นต่างๆทั่วทุกภาคของประเทศจำนวนมาก  ทำให้ผลผลิตมีหลากหลาย พันธุ์ที่ปลูกไม่ตรงกับความต้องการของตลาดหรือวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประโยชน์ ขาดการส่งเสริมแนะนำพันธุ์ดีและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสำหรับการปลูกเป็นการค้า มะขามเปรี้ยวสามารถนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้มากมายแต่ยังไม่มีการศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องเหมาะสมตามคุณสมบัติของแต่ละพันธุ์

ด้วยเหตุนี้ นายเรืองศักดิ์ กมขุนทด นักวิชาการเกษตรจากสถานีวิจัยปากช่อง ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่ามะขามเปรี้ยวยักษ์เป็นพืชที่มีโอกาสเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในอนาคต  จึงได้ทำการสำรวจ รวบรวมมะขามเปรี้ยวพันธุ์ดีที่มีอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นำมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีการไม่ใช้เพศ  แล้วปลูกลงแปลงรวบรวมพันธุ์ไว้ที่สถานีวิจัยปากช่อง  เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมไว้ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์   ประเมินและทดสอบพันธุ์เพื่อคัดเลือกพันธุ์ดีที่ตรงตามความต้องการของตลาดและการใช้ประโยชน์ รวมทั้งศึกษาเทคโนโลยีการผลิตดีที่เหมาะสมให้ได้ผลผลิตที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ  เพื่อเป็นข้อแนะนำให้เกษตรกรในการปลูกมะขามเปรี้ยวเป็นอาชีพต่อไป

สถานีวิจัยปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นที่รวบรวมเชื้อพันธุ์มะขามเปรี้ยวที่มีลักษณะดีเด่นที่ได้จากการสำรวจจากพื้นที่ต่างๆ จำนวน 14 พันธุ์   ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2545 และพบว่ามีพันธุ์ที่น่าสนใจ จำนวน 4 พันธุ์ ด้วยมีคุณลักษณะเด่น คือ

มะขามเปรี้ยวพันธุ์ปากช่อง 1 พันธุ์พืชขึ้นทะเบียนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ มีฝักรูปร่างกลมอ้วน เปลือกหนา ลักษณะฝักโค้ง ลักษณะเด่น คือ เปลือกหนา  ปริมาณเนื้อมาก รสเปรี้ยวจัด และเมล็ดเล็ก เหมาะสำหรับใช้เนื้อฝักสุก

มะขามเปรี้ยวพันธุ์ดกกิ่งหัก เป็นพันธุ์ฝักตรง รูปร่างกลม เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตฝักจำนวนมาก ลักษณะเด่น คือให้ผลดก เนื้อเยอะ เหมาะสำหรับใช้เนื้อฝักสุก และแปรรูปฝักดิบ

มะขามเปรี้ยวพันธุ์ไชยโกมินทร์ เป็นมะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ ลักษณะฝักรูปดาบ ฝักแบน ลักษณะเด่น คือฝักใหญ่ เหมาะสำหรับแปรรูปฝักดิบ

มะขามเปรี้ยวพันธุ์สะทิงพระ เป็นพันธุ์ฝักดาบ รูปร่างแบน ลักษณะเด่น คือฝักใหญ่ เหมาะสำหรับแปรรูปฝักดิบ

ทีมวิจัยได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์ ให้มีลักษณะดีเด่นที่ต้องการจากแต่ละพันธุ์ โดยมีเป้าหมายให้ได้มะขามเปรี้ยวยักษ์ลูกผสมเพื่อการปลูกเชิงการค้า และส่งเสริมสู่เกษตรกรปลูกเป็นอาชีพ งานวิจัยนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วและยังดำเนินการเรื่อยมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้งานปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลค่อนข้างต้องใช้เวลา โดยปกติต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 5 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะมีมะขามยักษ์ลูกผสมพันธุ์ใหม่เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเชิงการค้าได้ โดยเป้าหมายมะขามยักษ์ลูกผสมที่ได้จะเป็นมะขามเปรี้ยวยักษ์ที่ทั้งใหญ่ ทั้งยาว ทั้งอวบอ้วน หนาหนัก และมีลักษณะฝักตรงด้วย

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

นายเรืองศักดิ์ กมขุนทด 

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561

“เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0”

เจ้าของผลงาน :  นายเรืองศักดิ์ กมขุนทด

สถานีวิจัยปากช่อง ภาควิชาพืชสวน

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/ สื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th