ใช้ประโยชน์สารสกัดจากพลับดิบและพลับอ่อน

นักวิจัย มก. สกัดสารสำคัญจากผลพลับดิบและพลับอ่อนเศษเหลือจากการร่วงหล่นของพลับฝาดที่มีการปลูกมากในประเทศไทย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางบำรุงผิว

พลับ เป็นไม้ผลเมืองหนาว มีถิ่นกำเนิดในจีน พลับมีหลายพันธุ์และมีความแตกต่างกันมากทั้งขนาดรูปทรงและสี สามารถจำแนกประเภทได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่มีรสหวาน และกลุ่มที่มีรสฝาด  พลับที่ปลูกในประเทศไทยขณะนี้มีทั้งพันธุ์พลับหวาน และพลับฝาด ซึ่งพันธุ์ที่สำคัญได้แก่ ฟูยู เป็นพลับหวาน เป็นพันธุ์ที่ต้องการอากาศหนาวเย็นกว่าพันธุ์อื่น  ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ส่วนพลับฝาดได้แก่ พันธุ์ ซือโจ หรือ ซิชู หรือ พี2 เป็นพลับชนิดฝาดซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ในประเทศไทยและปลูกมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีพันธุ์หงเหม่ย หรือ พี  1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมีย และดอกสมบูรณ์เพศอยู่ในต้นเดียวกัน ซึ่งมีข้อดีคือเป็นแหล่งให้ละอองเกสรแก่พลับพันธุ์อื่นๆ  ที่ไม่ค่อยมีดอกเพศผู้

ผลอ่อนของลูกพลับจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่สุกจะเป็นสีส้ม ส้มอมเหลือง ส้มอมแดงแล้วแต่พันธุ์ พลับฝาดทั้งสองพันธุ์นี้ มีคุณภาพการรับประทานผลสดไม่ดี เนื่องจากขจัดความฝาดยาก และกลีบเลี้ยงมักเป็นร่องเปิด ส่งผลให้เชื้อโรคเข้าทำลายง่าย ทำให้เป็นสีดำไม่น่ารับประทาน และเมื่อผลสุกเต็มที่ขั้วผลจะหลุดออกได้ง่าย ไม่เป็นที่นิยมของตลาด  

มีการใช้ลูกพลับในตำรับยารักษาโรคแผนโบราณ เช่น ใช้ในการลดความดัน ขับปัสสาวะ  รักษาอาการไอ โดยผลและเปลือกของพลับที่เป็นส่วนเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตพลับแห้ง ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจำนวนมาก เป็นแหล่งของสารต้านออกซิเดชัน สารต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส ต้านเชื้อแบคทีเรีย และต้านการอักเสบได้

ด้วยเหตุนี้ ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ จากฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงนำพลับดิบ พลับอ่อน ของพลับฝาดที่มีปริมาณการผลิตสูงในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์ซิชู หรือ พี2 และพันธุ์หงเหมย หรือ พี 1 ซึ่งเกิดจากการร่วงหล่น และผลที่มีตำหนิ ไม่สามารถจำหน่ายได้ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งได้แก่สารในกลุ่มฟีนอลิก และทำการทดสอบการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสารได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลพลับดิบและพลับอ่อน รวมถึงทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากผลพลับดิบและพลับอ่อนด้วย 

ผลการศึกษาการสกัดสารพฤกษเคมี ฤทธิ์ทางชีวภาพ และวิเคราะห์ชนิดของสารสำคัญในสารสกัดพลับดิบพันธุ์ซิชู และ พันธุ์หงเหม่ย อายุ 2 เดือน ที่สกัดด้วยตัวทำละลายเอทานอล พบว่า พลับดิบพันธุ์ ซิชู และ หงเหม่ย ให้ปริมาณผลผลิตสารสกัดแตกต่างกัน โดยพลับพันธุ์หงเหม่ยให้ปริมาณผลผลิตสารสกัดร้อยละ 70 สูงกว่าพันธุ์ซิชูซึ่งให้ปริมาณผลผลิตสารสกัดร้อยละ 49 และสารสกัดจากผลพลับดิบพันธุ์หงเหม่ยมีปริมาณ สารฟีนอลิกทั้งหมด สารแทนนิน  และสารฟลาโวนอยด์ สูงกว่าสารสกัดจากผลพลับดิบพันธุ์ซิชูเช่นกัน

สารสกัดจากพลับดิบทั้งสองสายพันธุ์มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดี สารสกัดจากผลพลับดิบพันธุ์หงเหม่ยยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดีกว่าพันธุ์ซิ  ส่วนการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย พบว่า สารสกัดจากผลพลับดิบทั้งสองสายพันธุ์มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus  aureues, Staphylococcus  epidermidis  และ Propionibacterium acnes ได้ โดยสารสกัดจากผลพลับดิบพันธุ์หงเหม่ยมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้งสามสายพันธุ์ได้ดีกว่าพันธุ์ซิชู และการวิเคราะห์ชนิดของกรดฟีนอลิก พบว่า กรดฟีนอลิกที่พบมากที่สุดในสารสกัดจากผลพลับดิบพันธุ์หงเหม่ยอายุ 2 เดือน คือ กรดแกลลิก แต่พบสารรูตินมากที่สุดในสารสกัดจากผลพลับดิบพันธุ์ซิชู  

ผลที่ได้จากการทดลอง จึงพบว่า สารสกัดจากพลับดิบพันธุ์หงเหม่ยมีศักยภาพนำมาใช้เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ จึงได้นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกายที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพลับดิบพันธุ์หงเหม่ย   ผลิตภัณฑ์โลชันบำรุงผิวกายที่ผลิตขึ้น มีลักษณะเป็นเนื้อโลชั่นสีครีม เนื้อเนียนละเอียด มีความคงตัว ไม่แยกชั้น และไม่มีการตกตะกอน ผู้บริโภคให้การยอมรับผลิตภัณฑ์ร้อยละ 96.2 และมีคะแนนความชอบรวมของผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับชอบมาก

การใช้ประโยชน์สารสกัดจากพลับดิบและพลับอ่อนที่ไม่สามารถจำหน่ายได้แต่มีปริมาณผลผลิตจำนวนมาก โดยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบส่วนผสมในการผลิตโลชั่นบำรุงผิวกายได้ นับเป็นการเพิ่มมูลค่าเศษเหลือผลผลิตการเกษตร ผลพลับดิบพันธุ์หงเหม่ย ซึ่งเป็นพลับฝาด ที่ไม่นิยมนำมาบริโภคสดและสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคให้ได้ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีความปลอดภัยสูงอีกด้วย

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ ที่มาข้อมูล   : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ

ฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th