การผลิตมะลินอกฤดู

มะลิ เป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างมั่นคง เพราะความต้องการดอกมะลิมีอย่างต่อเนื่อง คนไทยนิยมนำดอกมะลิมาร้อยพวงมาลัยใช้ไหว้พระ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช้ทำดอกไม้แห้ง และสกัดน้ำมันหอมระเหย ดอกมะลิ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่  ดังนั้นในช่วงเทศกาล และช่วงฤดูหนาว ชาวสวนมักประสบปัญหาที่ไม่สามารถผลิตดอกมะลิได้ตามความต้องการตลาด  มะลิจะออกดอกมากในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 60 ลิตร/ ไร่/ วัน แต่ในฤดูหนาวหรือในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ จะได้ผลผลิตเฉลี่ยไม่ถึง 20  ลิตร/ ไร่/ วัน ส่งผลให้ดอกมะลิมีราคาแพงกว่าปกติ แต่เกษตรกรก็ไม่สามารถผลิตดอกมะลิออกจำหน่ายในช่วงดังกล่าวให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดได้

สาเหตุที่มะลิให้ผลผลิตน้อยในช่วงฤดูหนาวมาจากการพักตัวของต้นมะลิ คือเกิดการชะงักการเจริญเติบโตชั่วคราว ซึ่งเป็นลักษณะตามธรรมชาติของต้นมะลิที่เจริญเติบโตและแตกกิ่งใหม่พร้อมกับการออกดอกได้ดีในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ลักษณะการออกดอกของมะลิ จะออกดอกที่บริเวณปลายกิ่ง ในช่วงฤดูหนาว มีการแตกยอดใหม่น้อยทำให้การออกดอกน้อยตามไปด้วย หรือได้ดอกเป็นช่อเล็กๆ และช่อดอกจะหยุดชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ดอกแคระแกร็นไม่สมบูรณ์  

ส่วนสาเหตุของการพักตัวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การพักตัวเนื่องจากสภาพแวดล้อมภายนอกไม่เหมาะสม และการพักตัวเนื่องจากปัจจัยภายในพืชเอง โดยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญในการชักนำให้เกิดการพักตัวคือ อุณหภูมิ และความยาวของวัน ส่วนปัจจัยภายในพืชที่เกี่ยวข้องกับการพักตัว ได้แก่ ฮอร์โมนในกลุ่มของสารยับยั้งการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ABA (abscisic acid) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพักตัวของตามากที่สุด พืชในเขตร้อนบางชนิดมีการพักตัวในช่วงสั้นๆ โดยสังเกตจากการเจริญเติบโตของพืชเมื่อพืชแตกยอดใหม่แล้วจะหยุดการเจริญระยะหนึ่งเพื่อสะสมอาหารก่อนที่จะแตกยอดชุดต่อไป การพักตัวเช่นนี้แตกต่างจากพืชในเขตหนาวเนื่องจากไม่มีการทิ้งใบแต่เป็นการหยุดการเจริญเติบโตเพื่อสะสมอาหารสำหรับการออกดอกหรือการเจริญเติบโตทางกิ่งใบต่อไป ในช่วงที่พืชหยุดการเจริญเติบโตพบว่ามีสารยับยั้งการเจริญเติบโตภายในกิ่ง ถ้าช่วงของการพักตัวยาวนานพืชจะสะสมอาหารมากขึ้น และเมื่อสภาพแวดล้อมต่างๆ เหมาะสมพืชก็จะออกดอกได้มากขึ้น  ซึ่งโดยทั่วไป เทคนิคในการทำลายการพักตัวของพืชสามารถทำได้โดยการปฏิบัติทางเขตกรรม เช่น การโน้มกิ่ง การตัดยอด และการใช้สารเคมี เช่น โพแทสเซียมในเตรท ไทโอยูเรีย สารควบคุมการเจริญเติบโต และน้ำมัน

อ.กาญจน์เจริญ  ศรีอ่อน นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ จากภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม ได้ทำการศึกษาวิจัยวิธีการผลิตมะลินอกฤดู เพื่อบังคับให้มะลิออกดอกในช่วงฤดูหนาว ศึกษาวิธีการเพื่อเพิ่มผลผลิตมะลิในช่วงฤดูหนาวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดโดยใช้หลักการปฏิบัติทั้งการเขตกรรมคือการตัดแต่งกิ่ง ร่วมกับการฉีดพ่นสารที่มีคุณสมบัติในการทำลายการพักตัวของพืช

การดำเนินงานเริ่มจากการเตรียมต้นมะลิให้สมบูรณ์  เนื่องจากดอกมะลิจะแพงในช่วงเดือนธันวาคม- กุมภาพันธุ์ ดังนั้นถ้าเราต้องการที่จะผลิตมะลิให้ออกในเดือนใดเราต้องนับย้อนหลังประมาณ 1.5-2 เดือนเพื่อเตรียมต้นมะลิ ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการผลิตมะลิให้สามารถเก็บดอกได้ในช่วงต้นเดือนมกราคม เราจำเป็นต้องบำรุงต้นมะลิให้สมบูรณ์ในช่วงเดือนตุลาคม โดยรดน้ำ ใส่ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมี เพื่อให้ต้นมะลิสมบูรณ์มีอาหารสะสมเพียงพอ และทำการตัดแต่งกิ่งในช่วงต้นเดือนธันวาคม และเราสามารถเก็บดอกมะลิได้ภายหลังจากตัดแต่งกิ่ง 30 วัน หรือช่วงต้นเดือนมกราคม หรือถ้าเกษตรกรผลิตมะลิจำนวนมากสามารถทยอยตัดแต่งกิ่งมะลิเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมเพื่อบังคับให้ต้นมะลิออกดอกตลอดช่วงระยะเวลาที่มะลิมีราคาแพง

ขั้นตอนการกระตุ้นให้ต้นมะลิแตกตาดอก ให้ทำการตัดแต่งกิ่งต้นมะลิในช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยตัดเฉพาะส่วนยอดมะลิออกประมาณ 2-3 ชั้นใบ ให้มีใบที่สมบูรณ์อยู่กับต้นให้มากที่สุด พ่นปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท (13-0-46) อัตรา 500 กรัม/ น้ำ 20 ลิตร (ความเข้มข้น 2.5 %) ให้ทั่วทั้งต้น จำนวน 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ต้นมะลิแตกตาข้าง การตัดแต่งกิ่งมะลิร่วมกับการพ่นสารโพแทสเซียมไนเตรทความเข้มข้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ สามารถกระตุ้นให้ต้นมะลิแตกกิ่งใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกระตุ้นให้ต้นมะลิแตกยอดใหม่ได้ จะสามารถทำให้ต้นมะลิออกดอกได้เช่นกัน  ทั้งนี้เนื่องจากต้นมะลิจะออกดอกภายหลังจากแตกยอดใหม่ และเราสามารถเก็บดอกมะลิได้ภายหลังจากการตัดแต่งกิ่ง 30 วัน  โดยมีระยะเวลาที่เก็บดอกมะลิได้นานประมาณ 20 วัน และมีจำนวนดอกต่อต้นมากกว่าต้นที่ไม่ได้ตัดแต่งกิ่งถึง 72 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตามขนาดของดอกมะลิที่ได้ก็ยังมีขนาดเล็กกว่าดอกมะลิที่ออกในช่วงฤดูร้อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีการเพื่อเพิ่มขนาดของดอกมะลิให้ใหญ่ขึ้นต่อไป

จากผลการทดลองนี้ พบว่า การตัดแต่งกิ่งมะลิร่วมกับการพ่นสารโพแทสเซียมไนเตรทความเข้มข้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ สามารถกระตุ้นให้ต้นมะลิแตกกิ่งใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เริ่มเก็บผลผลิตมะลิได้ภายหลังจากการตัดแต่งกิ่ง 30 วัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 72.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับต้นที่ไม่ได้รับสาร

นอกจากนั้นยังได้ทำการทดลองเปรียบเทียบจำนวนดอกต่อต้นกับการให้แสงไฟ 24 ชม. การพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 20-20-20 และการพ่นสารกระตุ้นการเจริญเติบโต พบว่า จำนวนดอกต่อต้นไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการเพิ่มผลผลิตดอกมะลิในช่วงฤดูหนาว ด้วยวิธีการตัดแต่งกิ่งร่วมกับการพ่นสารโพแทสเซียมไนเตรทจึงเป็นวิธีที่สะดวก และไม่ต้องลงทุนเพิ่มในการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้แสงไฟในตอนกลางคืน ประกอบกับดอกมะลิมีราคาแพงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่แนะนำให้ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงไฟเพิ่ม

สรุปการผลิตมะลินอกฤดู

  1. บำรุงต้นมะลิให้สมบูรณ์ก่อนทำการบังคับให้ออกดอกประมาณ 2 เดือน หรือช่วงเดือนตุลาคม
  2. ตัดแต่งกิ่งต้นมะลิช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยใช้กรรไกรตัดหญ้าที่คมตัดเฉพาะส่วนยอดของต้นมะลิ และพ่นปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท (13-0-46) ในช่วงเย็น อัตรา 500 กรัม/ น้ำ 20 ลิตร
  3. เมื่อมะลิออกช่อดอกแล้วให้พ่นปุ๋ยทางใบสูตร 20-20-20 อัตรา 40 กรัม/ น้ำ 20 ลิตร และสารกระตุ้นการเจริญเติบโต สัปดาห์ละครั้งเพื่อช่วยเพิ่มขนาดของดอกมะลิให้ใหญ่ขึ้น และเราสามารถเก็บดอกมะลิได้ภายหลังจากตัดแต่งกิ่งประมาณ 30 วัน หรือช่วงต้นเดือนมกราคม
  4. หากเกษตรกรปลูกมะลิจำนวนมากสามารถทยอยตัดแต่งกิ่งมะลิเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เพื่อให้เก็บดอกมะลิได้ตลอดช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกมะลิมีราคาแพง

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

นายกาญจน์เจริญ  ศรีอ่อน

ที่มาข้อมูล   : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : นายกาญจน์เจริญ  ศรีอ่อน

ภาควิชาพืชสวน

คณะเกษตร กำแพงแสน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ :   วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th