สารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบเฉดสีต่างๆ

จากการปรับปรุงพันธุ์กระเจี๊ยบแดง (Hibiscus sabdariffa) ของศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ผลผลิตเป็นกระเจี๊ยบกำแพงแสนลูกผสมเปิดพันธุ์ใหม่  12 พันธุ์ โดยมีกลีบเลี้ยงเฉดสีต่างๆ กัน มีสีตั้งแต่ สีแดงเข้ม สีแดง สีชมพู ไปจนถึงสีขาว

ด้วยกลีบเลี้ยงที่มีเฉดสีต่างกันออกไปจากกระเจี๊ยบแดงโดยทั่วไป จึงมีแนวคิดที่จะนำผลผลิตกระเจี๊ยบที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ใหม่นี้มาศึกษาและหาทางใช้ประโยชน์ เนื่องจากกระเจี๊ยบแดงที่มีกลีบเลี้ยงสีแดงเข้มปกตินั้น จะมีสารแอนโธไซยานินสูง เมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆอาจทำให้สีของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่เป็นที่พอใจของผู้บริโภค หากพบว่าสารสกัดจากกลีบเลี้ยงสีขาวของกระเจี๊ยบที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ใหม่นี้ มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญและการสร้างสารอะฟลาทอกซินของเชื้อราได้ ก็จะสามารถลดปัญหาเรื่องการรบกวนของสีในผลิตภัณฑ์ และสามารถขยายผลจากการปรับปรุงพันธุ์กระเจี๊ยบมาใช้ประโยชน์และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่อไป

นางสาวภคพร สาทลาลัย นักวิจัยจากฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง  และนางอุทัยวรรณ ด้วงเงิน เจ้าหน้าที่วิจัย จากศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ทำการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแต่ละเฉดสีตั้งแต่ สีแดงเข้ม สีแดง สีชมพู ไปจนถึงสีขาว เปรียบเทียบฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบเฉดสีต่างๆ ทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากกลีบเลี้ยงแต่ละเฉดสีในการยับยั้งการเจริญและการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินของเชื้อรา Aspergillus spp. ในระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมเชื้อราและลดการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาทอกซินในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีโอกาสเกิดเชื้อราได้ง่าย เช่น ถั่วลิสงคั่วป่น พริกป่น เมล็ดข้าวโพดป่น โดยไม่มีปัญหาเรื่องการรบกวนของสีในผลิตภัณฑ์

จากการเก็บรวบรวมตัวอย่างกระเจี๊ยบที่มีกลีบเลี้ยงในเฉดสีต่างๆ กัน ทั้งหมด 4 เฉดสี คือ สีแดงเข้ม (dark red; DR) สีแดง (red; R) สีชมพู (pink; P) และสีขาว (white; W) ที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน คณะเกษตร กำแพงแสน จากนั้นทำการคัดเลือก ล้างทำความสะอาด และทำให้แห้งโดยแบ่งเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 นำไปอบที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และชุดที่ 2 นำไปตากกลางแดด เป็นเวลา 5 วัน เปรียบเทียบสีของกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงแห้งแต่ละเฉดสี บดกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแห้งให้มีขนาดเล็กลง และแช่สกัดในตัวทำละลายเอทานอล นำสารสกัดในเอทานอลที่ได้ไประเหยให้แห้งด้วยเครื่องระเหยสารแบบหมุน ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ชั่งน้ำหนักของสารสกัดที่ได้และคำนวณหาร้อยละของสารสกัดหยาบกระเจี๊ยบแดงแต่ละเฉดสี และทดสอบหาสภาวะที่เหมาะสมในการแยกสาร วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีบื้องต้นของสารสกัดจากกลีบเลี้ยงแต่ละเฉดสี

จากผลการทดลอง พบว่า สภาวะที่เหมาะสมในการแยกสาร และกรรมวิธีที่เหมาะสมในการทำให้กลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงแห้งก่อนทำสกัด คือ การอบที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง  ซึ่งผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี พบว่า สารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงในแต่ละเฉดสีมีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน

เมื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงแต่ละเฉดสีต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Aspergillus flavus พบว่าที่ระดับความเข้มข้นของสารสกัด 40 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สารสกัดจากกลีบเลี้ยงทุกเฉดสีสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา A. flavus ได้ 100% เมื่อความเข้มข้นของสารสกัดลดลง พบว่ามีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการเจริญของเชื้อรา A. flavus ลดลง โดยสารสกัดจากกลีบเลี้ยงสีขาว มีแนวโน้มในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา A. flavus ได้ดีกว่าสารสกัดจากกลีบเลี้ยงสีอื่นๆ ในทุกๆ ระดับความเข้มข้นของสารสกัด

และเมื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดต่อยับยั้งเชื้อรา A. niger พบว่าที่ระดับความเข้มข้นของสารสกัด 40 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สารสกัดจากกลีบเลี้ยงทุกเฉดสีสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา A. niger ได้ต่ำกว่า 50% เมื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงแต่ละเฉดสีต่อการยับยั้งการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซิน ของเชื้อรา A. flavus โดยวิธี Tip Culture Method พบว่าสารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงแต่ละเฉดสี สามารถยับยั้งการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินได้ โดยมีร้อยละการลดลงของปริมาณอะฟลาทอกซิน (% reduction) อยู่ในช่วง 75-85% และสารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงสีแดง มีแนวโน้มว่าสามารถยับยั้งการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินได้ดีกว่าสีอื่นๆ

อย่างไรก็ตามยังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับฤทธิ์ของสารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงต่อการลดระดับความเป็นพิษของสารอะฟลาทอกซิน โดยสันนิษฐานว่าสารแอนโธไซยานินซึ่งเป็นสารให้สีแดงและเป็นสารหลักในกระเจี๊ยบแดงอาจจะไม่ใช่สารตัวสำคัญที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญและการสร้างสารอะฟลาทอกซินของเชื้อรา แต่คาดว่าน่าจะเป็นสารกลุ่มอื่นๆ ที่มีในกระเจี๊ยบแดง ซึ่งพบในการศึกษาการยับยั้งของกรดอินทรียบางชนิด ว่ากรดอะซิติกและกรดบิวทิริกมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราไดดีมากเช่นกัน รวมถึงทำการทดสอบเพิ่มเติมกับวัตถุดิบทางการเกษตรโดยตรง เช่น ถั่วลิสง พริกแห้ง พริกไทย ซึ่งหากเป็นพืชที่มีศักยภาพก็จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมเชื้อราในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีโอกาสเกิดเชื้อราได้ง่าย เพราะสารสกัดจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงไม่มีกลิ่นเฉพาะตัว และหากกระเจี๊ยบกลีบเลี้ยงสีขาวมีศักยภาพก็จะไม่ทำให้สีของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนไปจากเดิม จึงสามารถลดปัญหาเรื่องการรบกวนของสีในผลิตภัณฑ์ได้ด้วย

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

นางสาวภคพร สาทลาลัย ที่มาข้อมูล   :    โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : นางสาวภคพร สาทลาลัย

ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง

คณะเกษตร กำแพงแสน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ :   วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th