ปืนวัดการปนเปื้อนฟอร์มาลีนในอาหาร

รายงานของกระทรวงสาธารณสุข ตรวจพบการปนเปื้อนสารเคมีในอาหาร เป็นสารฟอร์มาลีนมากที่สุด โดยเฉพาะในอาหารสดประเภทอาหารทะเล เนื่องจากเป็นอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย หากบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินปริมาณมาก จะเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหารอย่างเฉียบพลัน เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน บางรายเกิดอาการแพ้จากการสัมผัสทำให้ผิวหนังเกิดผื่นคัน หรือรอยแดงเป็นปื้น นอกจากนั้นฟอร์มาลีนยังเป็นสารกระตุ้นเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย

ปัจจุบันวิธีการตรวจสารปนเปื้อนฟอร์มาลีนในอาหารจะใช้วิธีทางเคมีที่ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องวัดทีละตัวอย่าง โดยต้องสัมผัสอาหาร ใช้ได้เพียงครั้งเดียวต้องทิ้ง และเกิดกากของเสียสารเคมี

ใช้เทคโนโลยีก๊าซเซนเชอร์ตรวจจับกลิ่นฟอร์มาลีน ไม่ต้องสัมผัสอาหาร อยู่ห่างได้ถึง 15 ซม.

ปลาหมึกมีการปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน

 

ปลาหมึกไม่มีการปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน

 

ผศ.ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนา “ปืนวัดการปนเปื้อนฟอร์มาลีนในอาหาร” โดยอาศัยหลักการทำงานของเทคโนโลยีก๊าซเซนเซอร์ดมกลิ่นสารฟอร์มาลีน สามารถรู้ผลการตรวจวัดได้อย่างรวดเร็ว โดยบ่งบอกค่าปริมาณการปนเปื้อนฟอร์มาลีนที่ชัดเจนเป็นตัวเลข ตั้งแต่ 0- 12 ppm สามารถวัดห่างจากอาหารที่ต้องการตรวจสอบได้ถึง 15 ซม. ใช้เวลาในการวิเคราะห์ผลไม่เกิน 12 วินาที สามารถวัดซ้ำไปซ้ำมาได้ ไม่ใช้สารเคมีและไม่เกิดสารเคมีของเสีย ไม่สัมผัสกับอาหารที่ทดสอบ  ใช้ตรวจวัดการปนเปื้อนฟอร์มาลีนในอาหารได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นของแข็งหรือของเหลว มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา จึงสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบอาหารที่วางขายอยู่ในท้องตลาดได้อย่างง่ายดาย

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ผศ.ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข

ที่มาข้อมูล :      ผศ.ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข

ภาควิชาฟิสิกส์

คณะวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ :   วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th