การอนุรักษ์และการขยายพันธุ์มันพื้นบ้าน

มันพื้นบ้าน หรือมันป่า  เป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย ในอดีตมีขึ้นกระจายตามธรรมชาติทั่วทุกภาคในประเทศไทย เป็นพืชประเภทมีลำต้นใต้ดินสะสมอาหาร หัวมันที่เราบริโภค แท้จริงคือส่วนของลำต้น โดยลักษณะของลำต้นใต้ดินที่แตกต่างจากรากคือมีข้อ ปล้อง หรือตา เห็นได้ชัดเจน

หัวมันพื้นบ้านหรือมันป่า  เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน นอกจากใช้บริโภคเป็นอาหารทั้งของมนุษย์และสัตว์แล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่นทางการแพทย์ มีสรรพคุณในการรักษาระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของสตรีวัยหมดประจำเดือน  และยังช่วยล้างสารพิษในร่างกาย  

หัวมัน เป็นส่วนที่ใช้บริโภคและยังเป็นส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ด้วย ส่วนใหญ่เกษตรกรขุดหัวมันไปบริโภค แต่มักจะไม่ปลูกทดแทนหัวที่ขุดมาจากธรรมชาติ ทำให้หัวมันพื้นบ้านเริ่มหายาก บางพันธุ์เริ่มสูญหายไปหรือมีราคาแพง เพราะมีแต่การใช้ประโยชน์อย่างเดียวโดยไม่มีการอนุรักษ์ หรือส่งเสริมให้มีการปลูกหรือขยายพันธุ์  นอกจากนั้นยังไม่มีการศึกษาวิจัยมันพื้นบ้านแต่ละพันธุ์อย่างจริงจังถึงศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านโภชนาการ การแพทย์ หรือเภสัชกรรม ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์พืชพื้นถิ่นของประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ดร.รงรอง หอมหวล  นางมณฑา วงศ์มณีโรจน์ นางสาวสุลักษณ์ แจ่มจำรัส นายสมนึก พรมแดง และนายวุฒิชัย ทองดอนแอ จากศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง  ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จึงได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และการขยายพันธุ์มันพื้นบ้าน  โดยทำการเก็บรวบรวมพันธุ์มันพื้นบ้าน  ศึกษาวิธีการขยายพันธ์ และเก็บรักษาพันธุกรรมมันพื้นบ้านไว้ไม่ให้สูญพันธุ์  รวมทั้งคัดเลือกพันธุ์ที่มีศักยภาพเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอาหาร  โดยทำการสำรวจและรวบรวมพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และบางจังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   พร้อมศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และคุณค่าทางโภชนาการที่มีประโยชน์ด้านอาหาร  ทำการคัดเลือกมาศึกษาวิธีขยายพันธุ์ ทั้งโดยวิธีปกติที่ชาวบ้านใช้กันมาแต่ดั้งเดิม และวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากนั้นศึกษาเทคนิคการเก็บรักษาพันธุกรรมในหลอดทดลองด้วยการใช้สารเคมี และอุณหภูมิต่ำ การย้ายปลูกเลี้ยงต้นกล้า ในเรือนเพาะชำ เพื่อผลิตต้นกล้าและนำกลับไปส่งเสริมการปลูกในชุมชน หรือป่าธรรมชาติ จากการดำเนินงานโครงการได้ทำการสำรวจและรวบรวมพันธุ์มันพื้นบ้าน ชนิดต่างๆไว้ได้รวม 8 ชนิด ประกอบด้วย มันนก มันดำ มันเลือด มันพร้าว มันเสา มันอีมู่ มันจาวมะพร้าว และมันเทียน  ศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมันแต่ละชนิด  ทำการเพาะชำไว้ในเรือนเพาะชำ คัดเลือกมันพื้นบ้านที่มีศักยภาพไว้ 2 ชนิด คือมันเลือด และมันจาวมะพร้าว มาทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมในการชักนำให้เกิดยอด วิธีการลดสารสีน้ำตาลที่เกิดขึ้นบริเวณรอยตัด และมีการกระจายตัวในอาหาร  ผลดำเนินงาน ได้มันเลือดแตกยอดเฉลี่ย 1.60 ต้น มันจาวมะพร้าวแตกยอดเฉลี่ย 3.50 ต้น  จากนั้นย้ายไปเลี้ยงในสูตรอาหารที่เหมาะสมในการชักนำให้ต้นมันออกราก  โดยพบว่า การเลี้ยงในอาหารสูตร MS ที่เติม NAA 0.2 มก./ล พบการเกิดรากแตกแขนงและมีรากขนอ่อน ลำต้นสูง และใบกางมีขนาดใหญ่กว่าต้นที่เลี้ยงในสูตรอาหารที่ปราศจากNAA หรือเติม NAA 0.1 มก./ล

  

ส่วนการศึกษาการขยายพันธุ์มันเลือดด้วยวิธีปักชำ โดยทำการตัดเถามันเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 10 ซม. จุ่มท่อนพันธุ์ในสารเร่งราก ความเข้มข้นต่างๆ  เป็นเวลา 5 นาที และนำไปปลูกในวัสดุเพาะชำ ดินร่วน ขี้เถ้าแกลบ ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:1:1  รดน้ำให้ชุ่ม เก็บในกระโจมพลาสติกเป็นเวลา 1 เดือน ผลการทดลอง พบว่า การใช้สารเร่ง IBA ที่ระดับ 2,000 ppm สามารถกระตุ้นการออกรากบริเวณข้อล่างและท่อนพันธุ์ มีอัตรารอดชีวิตมากที่สุด ที่ 68 %  ได้มันที่มีลำต้น ใบเขียว และมีการแตกยอดใหม่ บริเวณข้อบน

การดำเนินงานของโครงการในการอนุรักษ์และการขยายพันธุ์มันพื้นบ้านของไทย ยังคงต้องดำเนินงานต่อไป ด้วยเห็นความสำคัญที่จะต้องให้พืชพื้นถิ่นของไทยยังคงอยู่ไม่สูญหายไป รวมถึงศึกษาศักยภาพที่จะนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ดร.รงรอง หอมหวล

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการ การนำเสนอผลงานวิจัย

โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

วันที่ 3 ตุลาคม 2560

โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

หัวหน้าโครงการ : ดร.รงรอง หอมหวล

ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง

คณะเกษตร กำแพงแสน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ :   วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th