เพิ่มคุณสมบัติผ้าไหมด้วยสมุนไพรไทย

เพิ่มคุณสมบัติให้กับผ้าไหม  โดยการนำน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรไทยมาใช้ในการตกแต่งสำเร็จให้กับผ้าไหม

การตกแต่งสำเร็จ ( finishing )  เป็นกระบวนการเพิ่มมูลค่าหรือเพิ่มคุณสมบัติให้แก่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ  โดยทำให้สิ่งทอมีคุณสมบัติตามวัตถุประสงค์ ซึ่งกระบวนการตกแต่งสำเร็จเป็นขั้นตอนสุดท้ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งประกอบด้วย  กระบวนการถักทอ  การฟอกย้อม  การพิมพ์ และการตกแต่งสำเร็จผ้า 

 

อาจารย์ ผุสดี แซ่ลิ่ม จากภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ และ ผศ.ดร.ณกัญภัทร จินดา จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันศึกษากระบวนการตกแต่งสำเร็จผ้าไหม โดยการ เติมกลิ่นน้ำมันหอมระเหย หรือคุณสมบัติที่ต้องการของสมุนไพรไทยให้กับผ้าไหม ด้วยการใช้สารประกอบเชิงซ้อนเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน (β-Cyclodextrin) ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นตัวยึดเหนี่ยวให้น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรติดกับผ้าไหม  รวมถึงศึกษาความคงทนของกลิ่นของสมุนไพรในผ้าไหม  และวิธีการเติมกลิ่นให้กับผ้าไหมหลังผ่านการใช้งาน เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ผ้าไหมมีคุณสมบัติที่ได้จากสมุนไพรไทย เช่น กลิ่นหอมที่สามารถช่วยผ่อนคลาย  ไล่แมลง  หรือมีสารยับยั้งแบคทีเรีย 

ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลายของน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากสมุนไพรต่างๆ  อาทิเช่น

น้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร กลุ่มอบเชย ตะไคร้ ไพล แมงลัก สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียบางกลุ่ม

น้ำมันหอมระเหยจากเลมอน กะเพรา มะกรูด  ลาเวนเดอร์ ดอกส้ม กระดังงา มะลิ กุหลาบ จันทน์หอม แฝกหอม คาโมมายล์ ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ตะไคร้บ้าน ดอกบัว ดอกจำปา ฯลฯ มีสมบัติเกี่ยวข้องกับภาวะทางอารมณ์  ช่วยผ่อนคลายความกังวล  ลดความกระวนกระวาย ลดความเครียด บรรเทาอาการปวดศีรษะ และช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

น้ำมันหอมระเหย ลาเวนเดอร์  จูนิเปอร์ โรสแมรี่ คาโมไมล์ ส้ม เลมอน เสม็ดขาว มีศักยภาพลดปฏิกิริยาของอาการภูมิแพ้จากไรฝุ่นได้

น้ำมันหอมระเหยเปบเปอร์มินท์ และสมุนไพรต่างประเทศ เช่น Baccharis spartioides, Rosmarinus officinalis และ  Aloysia citriodora มีสมบัติไล่ยุง และ มอด  เป็นต้น 

     

และจากคุณสมบัติของ เบต้าไซโคลเด็กซ์ตรินที่มีลักษณะเป็นรูปถ้วย จึงทำให้โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยเข้าไปอยู่ในถ้วยได้  และถูกกักเก็บด้วยแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุล  หลังจากนั้นกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยจะค่อย ๆ ถูกปล่อยออกมาจากถ้วย 

นักวิจัยได้ทำการการทดลองเพื่อศึกษากระบวนการยึดติดของเบต้าไซโคลเด็กซ์ตรินบนผ้า ร่วมกับน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรไทย 2 ชนิดมาใช้ตกแต่งผ้าไหม  คือ น้ำมันหอมระเหยมะกรูด และน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอม ซึ่งได้จากการสกัดด้วยการกลั่นไอน้ำ หาปริมาณเบต้าไซโคลเด็กซ์ตรินบนผ้าหลังผ่านการตกแต่ง  ศึกษาปริมาณการติดของน้ำมันหอมระเหยบนผ้าที่ผ่านการจุ่มแช่ในเวลาที่ต่างกันเพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสมในการจุ่มแช่น้ำมันหอมระเหย   ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยบนผ้า ศึกษาความคงทนของน้ำมันหอมระเหยที่อยู่บนผ้าไหม  ศึกษาความคงทนของเบต้าไซโคลเด็กซ์ตรินบนผ้าไหมหลังผ่านการซัก  และศึกษาวิธีการเติมน้ำมันหอมระเหยลงบนผ้าไหมที่ผ่านการตกแต่งด้วยน้ำมันหอมระเหยที่ผ่านการใช้งาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสีของผ้าไหม

ผลการทดลองการตกแต่งผ้าไหมด้วยสมุนไพรไทยโดยสารประกอบเชิงซ้อนเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน  ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  เป็นตัวยึดเหนี่ยว พบว่าเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน ถูกยึดติดอยู่บนผ้าไหมด้วยสารละลายไกลออกซอลเข้มข้นร้อยละ 40 โดยน้ำหนัก  โดยกระบวนการจุ่มอัด-อบแห้ง-ผนึก  ที่อุณหภูมิการอบแห้งที่  50  องศาเซลเซียส  และอุณหภูมิการผนึกที่  80  องศาเซลเซียส โดยพบว่าน้ำมันหอมระเหยมะกรูดและตะไคร้หอมสามารถติดบนผ้าที่ผ่านการตกแต่งและคงทนอยู่ได้อย่างน้อย 30 วัน  และสามารถเติมน้ำมันหอมระเหยมะกรูดและตะไคร้หอมลงบนผ้าหลังผ่านการใช้งานแล้วโดยการจุ่มอัด ซึ่งให้ผลในการยึดติดที่ดีและช่วยให้กลิ่นของสมุนไพรติดทนนาน

การเพิ่มคุณสมบัติให้กับผ้าไหม  เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผ้าไหมและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร  ซึ่งสมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่หลากหลาย  เช่น  ช่วยผ่อนคลาย  ไล่แมลง  ยับยั้งแบคทีเรีย  ฯลฯ ดังนั้นเมื่อนำสรรพคุณที่เฉพาะของสมุนไพรไทยมาตกแต่งบนผ้าไหม  สามารถช่วยเพิ่มคุณสมบัติที่ต้องการลงบนผ้าไหม เพิ่มโอกาสให้กับผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า และเพิ่มช่องทางให้การแข่งขันทางการตลาดของอุตสาหกรรมไหมให้กับผู้ผลิตอีกด้วย

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

อาจารย์ผุสดี แซ่ลิ่ม

ที่มาข้อมูล   :    โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัยมก.

หัวหน้าโครงการ : อาจารย์ผุสดี แซ่ลิ่ม

ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ

คณะอุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ :   วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th