คืนชีวิตพลับพลึงธารสู่ธรรมชาติ พืชถิ่นเดียวที่ต้องอนุรักษ์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูพลับพลึงธารในแหล่งธรรมชาติด้วยเทคนิคต่างๆ เพื่อคงความสวยงามของการเป็นราชินีแห่งสายน้ำ พืชที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทยและในโลก

พลับพลึงธาร (Crinum thaianum J. Schulze.) เป็นพืชน้ำล้มลุกอยู่ในวงศ์พลับพลึง (Amaryllidaceae) มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ หญ้าช้อง ช้องนางคลี่ หอมน้ำ ชื่อสามัญ คือ Water Onion, Water lily, Thai Water Onion, Onion Plant และ Yellowish leaves lily ขึ้นอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่เป็นลำธารน้ำไหลตลอดเวลา น้ำมีสภาพใส สะอาด ด้วยความสวยงามและมีกลิ่นหอมจางๆของดอกพลับพลึงธารที่ชูช่อดอกขาวบานสะพรั่งเหนือผิวน้ำกระจายอยู่ตลอดสายธารน้ำโดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม จึงได้รับการขนานนามเป็น ราชินีแห่งสายน้ำ

พลับพลึงธาร จัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นพืชที่พบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก จะไม่สามารถพบได้ในจุดอื่นของโลก มีเฉพาะใน 2 จังหวัดทางภาคใต้ของไทย  คือในเขตพื้นที่จังหวัดระนองตอนล่าง (อำเภอกระบุรี กะเปอร์ และสุขสำราญ) และจังหวัดพังงาตอนบน (อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง)  แต่พลับพลึงธารไม่อยู่ในรายชื่อเป็นพืชคุ้มครองตามพระราชบัญญัติพันธ์ุพืช พ.ศ. 2518 ไม่อยู่ในบัญชีอนุสัญญาไซเตส(CITES : อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธ์ุ) ในปี 2554 พลับพลึงธารถูกจัดอยู่ในบัญชีพืชหายากและมีสถานภาพเป็นพืชที่ใกล้สูญพันธ์ุอย่างยิ่ง (Critically Endangered (CR) ตามเกณฑ์ IUCN Red List 2001 version 3.1) และมีสถานภาพเป็นพืชที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์ุ (Vulnerable): ตามเกณฑ์ Thailand Red List (Plants) 2001 เนื่องจากตลอดเวลากว่า 30 ปี มีการขุดหัวพันธุ์จากแหล่งธรรมชาติ นำไปส่งขายเป็นต้นไม้น้ำประดับในตู้ปลา ขณะเดียวกันผลจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การขยายตัวของพื้นที่อยู่อาศัยและการเกษตร การสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่รับน้ำและกีดขวางทางไหลของน้ำ การเกิดน้ำเสีย สิ่งปฏิกูล น้ำปนเปื้อนสารเคมี ยาฆ่าแมลง ทั้งจากกิจกรรมทางการเกษตรและบ้านเรือน การบุกรุกหรือตัดต้นไม้ชายคลอง ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายดินตลิ่ง ส่งผลต่อระบบนิเวศ และคุณภาพของน้ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางไหลของกระแสน้ำ ความเสื่อมโทรมสภาพน้ำและลำธาร โดยเฉพาะการขุดลอกคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นภัยคุกคามที่มีผลกระทบต่อต้นพันธุ์ในธรรมชาติ ทำให้พลับพลึงธารลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนถึงขั้นวิกฤติ

ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย นายเดชา ดวงนามล  นายวิสัย คงแก้ว จากสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน คณะประมง  นางสาวรมณีย์ เจริญทรัพย์ จากฝ่ายเครื่องมือและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.เบญญา มะโนชัย จากภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูพลับพลึงธารในแหล่งธรรมชาติโดยใช้เทคนิคต่างๆ  ทำการสำรวจแหล่งกระจายพันธุ์พลับพลึงธารในพื้นที่จังหวัดระนอง และพังงา ทำการศึกษาวิธีการขยายพันธ์ การเพาะเลี้ยง วัสดุเพาะชำ วิธีการเก็บรักษาพันธุกรรมทั้งในและนอกถิ่นอาศัย รวมถึงการศึกษารูปแบบการปลูกและทดลองปลูกต้นกล้าเพื่อฟื้นฟู คืนชีวิต และเพิ่มจำนวนพลับพลึงธาร โดยทำการทดสอบในพื้นที่คลองเรือ หมู่ 7 และคลองนาคา ในท้องที่ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง

ผลการดำเนินงานโครงการ ในส่วนของการศึกษาและขยายพันธุ์พลับพลึงธาร ได้ทำการศึกษาและขยายพันธุ์ ทั้งวิธีเพาะเมล็ด การผ่าแบ่งหัว และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของช่วงฤดูกาล  โดยผลการศึกษาในส่วนของการเพาะเมล็ด พบว่า ขนาดและความแก่ของเมล็ดพลับพลึงธาร มีผลต่ออัตราการงอก ระยะเวลาการงอก และการเจริญเติบโต  ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเมล็ด คือระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ พบว่า ในช่วงฤดูแล้ง(มกราคม-เมษายน) มีอัตราการรอดตายของชิ้นส่วนหัวพันธุ์สูงกว่าการขยายพันธุ์ในช่วงฤดูฝน(พฤษภาคม-กรกฎาคม) เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่หัวพันธุ์อยู่ระหว่างพักตัวและมีการเก็บสะสมอาหารตลอดช่วงการเติบโต และโอกาสการเข้าทำลายชิ้นส่วนหัวพันธุ์ของเชื้อราน้อยกว่าในช่วงฤดูฝนซึ่งมีความชื้นสูงทำให้เชื้อราเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ในสภาพเรือนเพาะชำโดยการผ่าแบ่งหัว พบว่า การผ่าแบ่งหัวที่อายุ 6 เดือนมีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีจำนวนหัวย่อยและอัตรารอดตายเฉลี่ยมากกว่า 80 %  การขยายพันธุ์ทั้งในส่วนของหัวเดี่ยว การผ่าแบ่งหัวพันธุ์ออกเป็น 2,4 และ6 ส่วน พบว่า จำนวนราก น้ำหนักราก น้ำหนักใบ น้ำหนักหัว น้ำหนักรวม จำนวนหน่อ และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหัวเฉลี่ย มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถติ ยกเว้นความยาวรากเฉลี่ย

ในส่วนของการเพิ่มคุณภาพของต้นกล้า โดยการศึกษาชนิดของวัสดุเพาะชำที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพลับพลึงธาร พบว่า วัสดุปลูกที่มีส่วนผสมของขุยมะพร้าวและถ่านแกลบ ทำให้การเติบโตของต้นกล้าดีกว่าวัสดุปลูกประเภทอื่นๆ

ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ    โดยมีการฟอกฆ่าเชื้อเมล็ดพันธุ์และหัวพันธุ์ในสภาพปลอดเชื้อ ด้วยโซเดียมไฮโปรคลอไรด์รวมถึงการใช้เทคนิคการฟอกซ้ำหัวที่งอกใหม่ และทำการศึกษาสูตรอาหารสังเคราะห์ที่ชักนำให้เกิดการเพิ่มปริมาณหัวพันธุ์ ให้เกิดตา และยอดใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถได้เนื้อเยื่อที่ปราศจากเชื้อมากกว่า 81 % 

การปฏิบัติการวิจัยในส่วนของการลงพื้นที่ เพื่อศึกษาพลวัตของพลับพลึงธารทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และกล้าที่ปลูกฟื้นฟูในสภาพธรรมชาติ โดยนำต้นกล้าพลับพลึงธารจากโครงการไปปลูกในคลองเรือและคลองนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ได้ทำการออกแบบรูปแบบการปลูกไว้ 4 แบบ ทำการติดตามและประเมินอัตราการรอดตายของกล้าพลับพลึงธาร ตั้งแต่เริ่มปลูก จนกระทั่งกล้ามีอายุ 12 เดือน พบว่า อัตราการรอดตายเฉลี่ยของต้นกล้าด้วยรูปแบบ B(ฝังกล้าพร้อมชลอมไม้ไผ่) มีอัตรารอดตายเฉลี่ยมากที่สุด ประมาณ 79 %  รองลงมาคือรูปแบบ C (ฝังกล้าในชลอมไม้ไผ่+แนวปะทะไม้ไผ่) มีอัตรารอดเฉลี่ย 64% ส่วนรูปแบบ A (ฝังกล้าไม่มีแนวปะทะ) และรูปแบบD (ฝังกล้าพร้อมชลอมไม้ไผ่+แนวปะทะไม้ไผ่แบบกลุ่ม)  ) มีอัตรารอดเฉลี่ย 50% และ 37% ตามลำดับ ซึ่งทิศทางและความเร็วของกระแสน้ำ รวมถึงการทับถมของตะกอนภายในแนวปะทะที่ชะลอความเร็วของกระแสน้ำด้วยไม้ไผ่ มีผลต่อการตั้งตัวของต้นกล้าพลับพลึงธารในระยะแรก และไม่สามารถเจริญเติบโตได้ภายใต้ตะกอนที่ทับถม

การขยายพันธุ์พลับพลึงธารเพื่อการฟื้นคืนชีวิตในสภาพธรรมชาติ จึงสามารถทำได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ ขึ้นอยู่กับขนาดเมล็ด ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม จำนวนเมล็ดและปริมาณหัวพันธุ์ที่เพียงพอสำหรับการเลือกใช้เพื่อขยายพันธุ์  อย่างไรก็ตาม การทดลองครั้งนี้พบว่า กล้าพลับพลึงธารที่ได้จากการเพาะเมล็ดและการผ่าแบ่งหัวพันธุ์ เมื่อกล้าอายุตั้งแต่ 8-10 เดือนขึ้นไป หัวพันธุ์ของต้นกล้าจะไม่เพิ่มขนาดและฝ่อไปในที่สุด  ดังนั้น จำเป็นต้องศึกษาเลือกใช้วัสดุเพาะชำที่เหมาะสมในระยะตั้งตัวของต้นกล้า การอนุบาลต้นกล้า การผลิตกล้าคุณภาพและอัตราการให้ปุ๋ยที่เหมาะสม เพื่อให้กล้าเติบโต และสมบูรณ์ได้ในสภาพเรือนเพาะชำ รวมถึงรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับนำกล้าคุณภาพไปปลูกในสภาพธรรมชาติต่อไป

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตระหนักและเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาไปพร้อมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูพลับพลึงธาร สมบัติของประเทศที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในโลกที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อร่วมกันคืนชีวิตพลับพลึงธาร ให้คงอยู่เป็นราชินีแห่งสายน้ำอย่างยั่งยืน เป็นมรดกทางธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์เพียงแห่งเดียวของประเทศไทยและของโลกตลอดไป

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

นายเดชา ดวงนามล

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการ การนำเสนอผลงานวิจัย

โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

วันที่ 3 ตุลาคม 2560

โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

หัวหน้าโครงการ : นายเดชา ดวงนามล

สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน

คณะประมง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ :   วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th