งานวิจัยสตรอว์เบอร์รี่โครงการหลวง กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ความภาคภูมิใจจากผลงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานกับโครงการหลวง และเป็นผลงานวิจัยแรกๆที่นำไปสู่การพัฒนาอาชีพของชาวไทยภูเขาตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับความเป็นมาการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ในประเทศไทย

สตรอว์เบอร์รี่ เป็นไม้ผลชนิดแรกๆ ที่โครงการหลวงใช้เป็นพืชส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาปลูกแทนการปลูกฝิ่น จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้มหาศาลให้เกษตรกร

จากบทความเรื่อง ผลงานวิจัยด้านไม้ผล โดย ดร.วิจิตร วังใน ในหนังสือ ห้าทศวรรษมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้อสนเทศงานวิจัย บันทึกไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2477 คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ (หนึ่งในสามบูรพาจารย์ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ได้ต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่จากชาวอังกฤษ ชื่อนายคาลิโฟล  ที่เข้ามาทำงานเกี่ยวกับป่าไม้ในจังหวัดเชียงใหม่  โดยชาวอังกฤษผู้นี้นำผลสตรอว์เบอร์รี่ที่เขาปลูกไว้เองนี้มาทำแยมสตรอว์เบอร์รี่  หลังจากนั้นท่านได้นำต้นสตรอว์เบอร์รี่ที่ได้มานั้นปลูกไว้ที่โรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ แต่ด้วยมีภารกิจอื่นที่ต้องดำเนินงานมาก ทำให้ตัวท่านเองก็ไม่ได้ทุ่มเทกับการพัฒนาสตรอว์เบอร์รี่มากนัก  ซึ่งในเวลานั้นมีการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่บ้างแต่อยู่ในวงจำกัด สตรอว์เบอร์รี่ที่มีการปลูกกันอยู่นี้ถูกเรียกว่า พันธุ์พื้นเมือง เพราะไม่ทราบชื่อพันธุ์ที่แน่นอน ผลมีขนาดเล็ก เป็นสีปูนแห้ง และให้ผลผลิตต่ำ มีเกษตรกรที่พยายามปลูกแต่ผลผลิตไม่สำเร็จเป็นที่พอใจถึงขั้นเป็นอาชีพได้ แม้จะมีการปลูกกันในจังหวัดเชียงใหม่เนื่องจากเห็นว่าเป็นผลไม้ชนิดใหม่ แต่ส่วนใหญ่ก็เพียงทำกันในสถานีทดลอง  

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงก่อตั้งโครงการหลวงขึ้น และมีรับสั่งให้หาพืชอื่นให้ชาวเขาปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น ดังนั้นโครงการวิจัยสตรอว์เบอร์รี่จึงเป็นโครงการลำดับแรกๆที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบเริ่มดำเนินการร่วมกับโครงการหลวง โดยมีการนำสตรอว์เบอร์รี่หลายพันธุ์จากหลายประเทศมาปลูกทดสอบในโครงการวิจัยไม้ผลเขตหนาวที่สถานีวิจัยดอยปุย   และคัดเลือกพันธุ์ที่ดีกว่าพันธุ์พื้นเมืองเดิมไว้ได้ 3 พันธุ์ คือพันธุ์ Cambridge Favorite, Tioga และ Sequoia ซึ่งในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานสตรอว์เบอร์รี่ทั้ง 3 พันธุ์ให้แก่เกษตรกร และชาวไทยภูเขาปลูกแทนการปลูกฝื่น  จึงเป็นที่มาที่รู้จักกันในนามพันธุ์พระราชทานเบอร์ 13, 16 และ 20 ตามลำดับ

พ.ศ. 2517- 2522  เป็นช่วงของการส่งเสริมผลผลิตจากโครงการวิจัยสตรอว์เบอร์รี่ เพื่อใช้เป็นพืชทดแทนการปลูกฝิ่นกล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา ที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9  และทำให้สตรอว์เบอร์รี่เริ่มมีความสำคัญกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วและสามารถปลูกเป็นอาชีพได้ นับแต่ปีพ.ศ. 2522 เป็นต้นมา

แต่งานวิจัยสตรอว์เบอร์รี่ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ยังคงดำเนินการหาพันธุ์ที่ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะต่อๆ มางานวิจัยสตรอว์เบอร์รี่ของโครงการหลวง เป็นความร่วมมือของนักวิจัยและบุคลากรจากหลากหลายสถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทำให้โครงการหลวงสามารถผลิตพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูกอย่างแพร่หลาย อาทิเช่น

  1. สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน50 พระราชทานเมื่อปี 2539 ซึ่งเป็นปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วนำเข้ามาผสมตัวเองตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2536 สามารถเจริญเติบโต และให้ผลผลิตดีในสภาพอากาศเย็นปานกลาง ทรงพุ่มปานกลางค่อนข้างแน่น ไม่ต้านทานต่อไรแต่ต้านทานราแป้งได้ดี ผลผลิตมีคุณภาพดี รูปร่างเป็นลิ่มสีแดงถึงแดงเข้ม เนื้อและผลค่อนข้างแข็ง
  2. สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 70 พระราชทานเมื่อปี พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ผลมีลักษณะทรงกลมหรือทรงกรวย สีแดงสดใสแต่ไม่สม่ำเสมอ เนื้อและผลค่อนข้างแข็ง มีความฉ่ำ มีกลิ่นหอมและรสชาติดี
  3. สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน72 พระราชทานมื่อปี พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื้อผลแข็งกว่าพันธุ์พระราชทาน70  แต่มีความหวานน้อยกว่า มีกลิ่นหอมเมื่อสุกเนื้อภายในผลมีสีขาว ผิวผลเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงถึงแดงจัด เงาเป็นมันที่ผิวผล ทนต่อการขนส่งมากกว่าสายพันธุ์อื่น
  4. สตรอว์เบอร์รี่พันธ์ุพระราชทาน 60 พระราชทานมื่อปี พ.ศ. 2549 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยเป็นพันธ์ุลูกผสมที่ขึ้นทะเบียนพันธ์ุพืชของประเทศไทยเป็นครั้งแรก
  5. สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 พระราชทานเมื่อปี พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เป็นสายพันธุ์ที่นำเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่นมาปลูก ใช้เวลาทำการวิจัยมายาวนานถึง 6 ปีเต็ม ได้สตรอว์เบอร์รี่ที่มีลักษณะเด่นที่ให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่ เมื่อสุกมีกลิ่นหอม และรสชาติหวาน เนื้อผลแน่นสีแดง เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน
  1. สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 88 เป็นพันธุ์สุดท้ายในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทางโครงการหลวงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อพันธุ์ไปเมื่อปีพ.ศ. 2559 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้ว่า “พันธุ์พระราชทาน 88 พัฒนาสายพันธุ์มาตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมล่าสุดที่เกิดในประเทศไทย คือเป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์พระราชทาน 80 กับพันธุ์พระราชทาน 60 เป็นพันธุ์ที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศในเมืองไทย มีลักษณะเด่นในเรื่องของกลิ่นหอม รสชาติดี เนื้อละเอียดแน่น ผิวสวยสีแดงสด ทรงผลคล้ายรูปหัวใจ เหมาะสำหรับทานผลสด มีคุณภาพทัดเทียมสตรอว์เบอร์รี่จากต่างประเทศอย่างเกาหลีและญี่ปุ่น ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนพันธุ์และจะทำการส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูกต่อไป

แม้ว่าขณะนี้จะมีสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ดีหลายพันธุ์แล้ว แต่งานวิจัยของโครงการหลวงจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ ยังต้องเดินหน้าพัฒนาสตรอว์เบอร์รี่ต่อไปตามพระราชดำริ โดยในอนาคตงานวิจัยจะทำให้สตรอว์เบอร์รี่เป็นผลไม้ที่ไม่เพียงอร่อย แต่รับประทานแล้วได้สารที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อร่างกายเพิ่มขึ้น เป็นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ที่มีสารแอนโทไซยานินสูง อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดมะเร็ง ฯลฯ เป็นต้น

ปัจจุบันสตรอว์เบอร์รี่ จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท สามารถปลูกเป็นพืชหลักสร้างอาชีพกันในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ทั้งบนพื้นที่สูงและพื้นที่ราบ ไม่ใช่เฉพาะบนพื้นที่สูงภาคเหนือเช่นในอดีตอีกต่อไป

งานวิจัยสตรอว์เบอร์รี่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงงานหนึ่งในหลายพันโครงการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9  ที่มีสายพระเนตรอันก้าวไกลในวิธีการที่จะหยุดยั้งการปลูกฝิ่น และสามารถพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา พลิกฟื้นจากการปลูกฝิ่น กลายมาเป็นการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่สร้างรายได้มหาศาล ทั้งหมดนี้ล้วนเนื่องด้วยพระบารมีล้นเกล้าฯ ของในหลวง รัชกาลที่ 9

ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์  รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสถวายงานและร่วมงานกับโครงการหลวงตั้งแต่สมัยเป็นนักวิจัยอยู่สถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขาง  ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทางด้านไม้ผลเขตหนาว ทำงานวิจัยสตรอว์เบอร์รี่ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ การปลูก การขยายพันธุ์ การส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ สร้างอาชีพที่มั่นคง  ซึ่ง ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ของตนเองและของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของโครงการหลวง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจุจบัน

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ 

ที่มาข้อมูล :      – ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ /KURDI News clip

– โครงการหลวง

– ห้าทศวรรษมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้อสนเทศงานวิจัย  

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่  :  ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                             สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th