ถั่วเขียว: ประวัติการพัฒนาการวิจัยถั่วเขียวในประเทศไทย

 

ย่อภาพกว้างถั่ว

 

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าประเทศไทยเริ่มปลูกถั่วเขียวเมื่อใด แต่จากบันทึกของนักวิชาการที่ดำเนินการวิจัยด้านถั่วเขียว ได้บันทึกไว้ว่า

ในช่วงปี พ.ศ. 2490-2492 ถั่วเขียวที่เกษตรกรปลูกในขณะนั้นมีเมล็ดเล็กมาก น้ำหนักเมล็ดที่ปลูกในอัตราเพียง 2.75 กก./ไร่ ตัวอย่างเช่นพันธุ์ ‘ศรีสำโรง’เป็นถั่วเขียวที่เกษตรกรในจังหวัดสุโขทัยนิยมปลูก ผลผลิตเฉลี่ยจะได้ประมาณ 85 กก./ไร่ ซึ่งถ้าปลูกในต้นฤดูฝนจะไม่ออกดอก เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสงมากจนถึงกับต้องระบุวันปลูกไว้ว่าควรปลูกระหว่างวันที่ 15-30 กันยายนของทุกปี เพราะถ้าปลูกเร็วกว่านี้ถั่วเขียวจะเจริญเติบโตทางลำต้นและไม่ออกดอกจนกว่าจะสิ้นฤดูฝน

พ.ศ. 2500  ได้มีการสำรวจพันธุ์ถั่วเขียวพื้นเมืองของประเทศไทย พบว่ามีอยู่ 4 พวก คือ(1)ถั่วเขียวเมล็ดเล็ก ซึ่งเป็นที่นิยมปลูกเป็นส่วนใหญ่ (2)ถั่วเขียวทอง หรือถั่วทอง มีเปลือกหุ้มเมล็ดสีออกเหลือง (3)ถั่วเขียวผิวมันมีทั้งพันธุ์ที่ฝักแก่มีสีดำและสีขาว (4)ถั่วเขียวอินเดียหรือถั่วเขียวผิวดำนั่นเอง

พ.ศ. 2503-2513 กรมกสิกรรม(กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน)ได้ดำเนินการเปรียบเทียบพันธุ์ถั่วเขียวเรื่อยมา พบว่าในช่วงปีนี้  เกษตรกรไทยปลูกถั่วเขียวพันธุ์พื้นเมืองเป็นการค้าเรื่อยมา ซึ่งให้ผลผลิตต่ำ

ปลายปี พ.ศ. 2511  ได้มีการนำพันธุ์จากต่างประเทศ  ซึ่งส่วนใหญ่จากประเทศฟิลิปปินส์ มาปลูกทดสอบตามสถานีวิจัยต่างๆ และพบว่า สายพันธุ์ M7A ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง อายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่า สุกแก่พร้อมกันและเมล็ดโต ต่อมาได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรในปี 2519 โดยให้ชื่อพันธุ์ว่า “อู่ทอง 1”และส่งเสริมให้ปลูกเป็นพันธุ์การค้าเรื่อยมา

พ.ศ. 2521 กรมวิชาการเกษตรได้ประกาศส่งเสริมพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำ“อู่ทอง 2” อีกหนึ่งพันธุ์ แต่เนื่องจากถั่วเขียวผิวดำมีปลูกประมาณร้อยละ 20 ของประเทศ จึงมีความสำคัญน้อยกว่าถั่วเขียวผิวมัน

พ.ศ. 2528 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ปล่อยพันธุ์ “กำแพงแสน 1” (กพส.1) และ“กำแพงแสน 2” (กพส.2)

พ.ศ. 2530 กรมวิชาการเกษตรโดยศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ได้ปล่อยพันธุ์ “ชัยนาท 60” (VC1778A) เป็นพันธุ์ที่อายุสั้นกว่าถั่วเขียวพันธุ์ กพส.1 และ กพส.2

พ.ศ. 2531 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปล่อยพันธุ์ “ม.อ.1” (V2768A) ซึ่งทนต่อร่มเงา เหมาะกับการปลูกในภาคใต้

พ.ศ. 2534 ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทปล่อยพันธุ์ “ชัยนาท 36” (V1168A) ซึ่งทนทานต่อสภาพดินด่างและอายุสั้น (55 วัน)  พันธุ์ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เป็นพันธุ์ที่ได้จากการปลูกทดสอบผลผลิตและคัดเลือกจากสายพันธุ์ที่นำเข้าโดยตรง ไม่มีการผสมข้ามเพื่อปรับปรุงพันธุ์

พ.ศ. 2543 ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทนำเมล็ดพันธุ์ กพส.2 ไปฉายรังสี คัดเลือกได้พันธุ์ใหม่ที่มีขนาดเมล็ดโตขึ้นและทนทานต่อสภาพดินด่าง ให้ชื่อว่า “ชัยนาท 72”

พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ปล่อยพันธุ์ “มทส. 1” ซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์อู่ทอง1 กับสายพันธุ์ VC1560D เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคราแป้งและโรคใบจุด

 22.IMG_5127 53.กล้าถั่ว