เครื่องผ่าปลากะตักสมรรถนะสูง

ผ่าเร็ว ผ่าไว ผ่าได้ทันใจ ด้วยเครื่องผ่าปลากะตักสมรรถนะสูง สามารถทดแทนแรงงานคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ปลากะตัก มีชื่อสามัญว่า Anchovy  ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Encrasicholina Stolephorus sp. ในประเทศไทยมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ปลาฉิ้งฉั้ง ปลาจิ้งจั๊ง ปลาบูร่า ปลากะตัก ปลาไส้ตัน ปลาหัวอ่อน ปลามะลิ ปลายู่เกี้ย ปลาเก๋ย ปลากล้วย

ปลากะตักนิยมใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำปลา ทำปลาป่น และทำน้ำบูดู ส่วนการบริโภคปลากะตักทั้งตัวนิยมบริโภคในรูปของการทำปลากะตักต้มตากแห้ง ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

การทำปลากะตักต้มตากแห้ง ที่มีขนาดเล็ก สามารถนำไปต้ม ตากและทอดบริโภคได้เลย  แต่ในบางพื้นที่ ปลามีขนาดลำตัวใหญ่ ไม่สะดวกแก่การบริโภค จึงจำเป็นต้องมีการลดขนาดเพื่อให้เหมาะสมต่อการบริโภค ในท้องถิ่นจะเรียกกิจกรรมนี้ว่า การฉีกปลา มีผู้รับจ้างฉีกปลาจำนวนมาก ทั้งเด็กและ คนชรา คนหนึ่งฉีกได้วันละประมาณ 2 ถุง หรือ 20 กิโลกรัม และยังไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสมกับการฉีกปลากะตัก

ผศ.ดร.ศุภกิตติ์ สายสุนทร  ผศ.ดร.สุดสายสิน แก้วเรือง และนายปฏิพัทธ์ สุบรรณ์ จากภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้ออกแบบและพัฒนาต่อยอดเครื่องผ่าปลากะตักสมรรถนะสูง ให้สามารถลดขนาดปลากระตักต้มตากแห้งลง เพื่อให้เหมาะสมต่อการบริโภค แทนการใช้แรงงานคนในการฉีกปลากะตัก สามารถเพิ่มความเร็วในการผ่าปลากกะตัก ให้สามารถผลิตปลากะตักได้มากขึ้นในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ลดเวลาในทำงานโดยใช้แรงงานคน

เครื่องผ่าปลากะตักสมรรถนะสูง ประกอบด้วย ชุดป้อนปลากกะตัก สายพานลำเลียง ชุดผ่าปลากกะตัก มอเตอร์ไฟฟ้า ชุดตะแกรงเขย่า และโครงเครื่อง   โดยอุปกรณ์ส่วนที่สัมผัสกับอาหารทำจากวัสดุที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตัวเครื่องมีแผ่นสแตนเลสปิดมิดชิดป้องกันอันตรายจากชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่

หลักการทำงานของเครื่องผ่าปลากะตักสมรรถนะสูง โดยการนำปลาเข้าเครื่องผ่านช่องป้อนปลา จากนั้นปลากะตักจะถูกลำเลียงโดยสายพานลำเลียงปลา และจะลำเลียงปลาให้หล่นลงมาสู่ลูกกลิ้งป้อนปลา ลูกกลิ้งจะพาให้ปลาเคลื่อนที่ไปสู่ใบมีดผ่า ปลาจะถูกผ่าและหล่นใส่ตะแกรงคัดแยก โดยตะแกรงคัดแยกชั้นบนจะได้ปลาที่ถูกผ่า ส่วนตะแกรงชั้นล่าง จะได้หัว เศษไส้ และก้างปลา ซึ่งในสภาวะการทำงานที่เหมาะสม ความเร็วรอบลูกกลิ้งผ่าปลากะตักที่ 700 รอบต่อนาที ที่ระยะห่างระหว่างลูกกลิ้ง 2 ม.ม. จากผลการทดสอบได้ปลากะตักผ่าที่สมบูรณ์อยู่ในเกณฑ์ 5 คะแนนอยู่ที่ 98%  กำลังการผลิตได้ 55.56 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และมีประสิทธิภาพในการคัดแยกเท่ากับ99.16 %

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : ผศ.ดร.ศุภกิตติ์ สายสุนทร และคณะผู้วิจัย

ภาควิชาเกษตรกลวิธาน

คณะเกษตร

                    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่อง/สื่อเผยแพร่  :        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                             สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ผศ.ดร.ศุภกิตติ์ สายสุนทร