วัสดุก่อสร้างทนไฟ จากเศษไม้ยางพารา

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=EEtpItZY7qQ[/youtube]

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 9 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554

เรื่อง “วัสดุก่อสร้างทนไฟ จากเศษไม้ยางพารา”

บทวิทยุโดย  หทัยรัตน์  ศรีสุภะ

 

………………………………………………………………………………………………………………………………………….

 -เพลงประจำรายการ-

 สวัสดีค่ะ คุณผู้ฟังทุกท่านค่ะ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ค่ะ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีดิฉัน หทัยรัตน์  ศรีสุภะ เป็นผู้ดำเนินรายการค่ะ

คุณผู้ฟังค่ะ ทุกวันนี้เราต่างก็ได้ยินการรณรงค์ลดจำนวนการใช้วัสดุจากธรรมชาติ หรือ นำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมไปถึงกระบวนการรีไซเคิล ลดการใช้วัสดุที่สิ้นเปลือง  ตามกระแสการรณรงค์ลดโลกร้อนที่ทุกคนกำลังหันมาให้ความสนใจกันอย่างมากอยู่ขณะนี้ และวัสดุทนแทนที่ว่านี้ ต้องมีคุณสมบัติสามารถนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างสวยงาม หรือถ้าวัสดุก่อสร้างก็ต้องมีการทดสอบในเรื่องความทนทานปลอดภัย และพัฒนาไปจนถึงงานไม้ที่ทนไฟเลยนะค่ะ ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างความแตกต่างเพิ่มคุณค่าให้ตัวผลิตภัณฑ์ และถึงแม้ว่าจะเป็นงานไม้แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องตัดฟันไม้ใหญ่เลยค่ะ แต่ได้มีการนำเศษไม้ที่เหลือทิ้งจากการแปรรูป มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่ได้จากเศษไม้เหล่านั้นค่ะ คุณผู้ฟังค่ะมีไม้อยู่ชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมนำมาแปรรูป จึงทำให้มีเศษไม้เหลือทิ้งชิ้นเล็กๆมากตามไปด้วย และไม้ที่ดิฉันกำลังพูดถึงนี้ นั่นก็คือไม้ยางพารานั่นเองค่ะ… คุณผู้ฟังหลายท่านฟังๆแล้วอาจจะสงสัยนะค่ะ ว่าไม้ยางพารามันก็เป็นไม้ธรรมดาธรรมดา ที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างทั่วไปแล้วจะต่างจากไม้แบบอื่นอย่างไร วันนี้ดิฉันมีคำตอบค่ะ แต่ก่อนอื่นเราคงต้องมารู้จักกับ ไม้ยางพารา ที่ว่านี้ ให้มากขึ้นอีกหน่อยกันก่อนดีกว่าค่ะ

ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาจะมีโครงการรณรงค์ กวดขันจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างเคร่งครัด แต่ยังปรากฏมีขบวนการรุกพื้นที่ป่า เพื่อนำพื้นที่ไปทำการเกษตรเชิงเดี่ยว การนำพื้นที่ไปสร้าง รีสอร์ทอย่างต่อเนื่อง   ภายหลังพ.ร.บ.ยกเลิกสัมปทานป่าไม้ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา ทำให้ต้องยุติการตัดไม้ที่ได้จากป่าภายในประเทศเพื่อนำเข้าไม้จากประเทศ เพื่อนบ้านแทน ส่งผลให้ไม้มีราคาสูงขึ้น คนไทยในยุคนี้ต้องหันไปสร้างบ้านด้วยวัสดุอื่น อย่างเหล็ก ปูน แทน

 อุตสาหกรรมไม้ยางพารา (Rubberwood Industry) หมายถึง กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับไม้ยางพาราทั้งระบบทุก ๆ ปัจจัย ครอบคลุมตั้งแต่การเลือกสรรพันธุ์ต้นยางพารา การปลูก การนำไม้ยางพารามาใช้ประโยชน์ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีการเพาะปลูกยางพารามากกว่าร้อยปี หากมองนโยบายของภาครัฐในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ได้มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากน้ำยางเป็นหลัก  จะเห็นถึงแนวโน้มการควบคุมการขยายพื้นที่การปลูกต้นยางอย่างชัดเจน ซึ่งการจำกัดพื้นที่การปลูกสวนยางโดยมิได้มองถึงประโยชน์จากไม้ยางพาราเป็น สำคัญ ข้อจำกัดต่างๆ ของไม้ยางพาราในประเทศยังไม่ได้มียุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจน ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่แท้จริงยังมิได้มีการศึกษาอย่างจริงจังทั้งระบบ จึงมีความสำคัญยิ่งที่จะนำอุตสาหกรรมไม้ยางพาราทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึง ปลายน้ำและโอกาสในการพัฒนาในปัจจัยต่าง ๆ มาจัดทำยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไม้ยางพาราเพื่อสร้างความชัดเจนและความสำคัญของ ไม้ยางพาราทั้งระบบ ในสภาพปัจจุบันการใช้ไม้ยางพาราในข้อจำกัดที่มีอยู่และ มีการพัฒนาไปแล้วในระดับหนึ่งนั้น ไม้ยางพารายังคงมีศักยภาพที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายด้าน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือ Waste  ให้เป็นจริงเป็นจัง และการพัฒนาข้อจำกัดให้เป็นโอกาสอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม้ยางพารายังไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การทำอุตสาหกรรมไม้แบบธรรมดาเท่านั้น วัสดุที่ได้จากไม้ยางพารายังมีทีเด็ดมากกว่านั้นค่ะ แต่ช่วงนี้เราพักกันสักครู่ก่อนนะค่ะ  แล้วเดี๋ยวกลับมาฟังกันต่อค่ะ….

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังค่ะ ดูเหมือนว่าความฝันที่คนไทยจะปลูกสร้างบ้านที่อยู่อาศัยด้วยไม้ในอนาคตจะ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ที่จะต้องลงทุนไปกับการสร้างบ้าน บางครั้งการลงทุนอาจจะสูญเปล่าเพราะวัสดุที่ได้ไม่ตรงตามสเปกที่วางไว้ วัสดุที่ใช้ไม่มีความแข็งแรงทนทานพอ ราคาแพงและไม่ได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกด้าน อาจจะราคาถูกแต่ก็ไม่สวยไม่ทน แต่งานวิจัยที่ดิฉันจะนำมาเล่าให้คุณผู้ฟังได้ฟังกันนั้น  นอกจากจะตอบโจทย์ของตลาดที่ต้องการความสวย คงทน ราคาไม่สูงมาก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แต่คุณสมบัติของไม้ที่ว่ามามากมายยังไม่ได้หมดเพียงเท่านั้นนะค่ะ เพราะผู้ที่ทำการวิจัยได้ศึกษาถึงข้อดีของมันที่เป็นมากกว่าวัสดุไม้ธรรมดาๆ นั้นก็คือการทำเป็นวัสดุทนไฟนั้นเองค่ะ คุณผู้ฟังคงจะสงสัยอยู่เหมือนกันใช่ไหม ว่าไม้จะทนไฟได้จริงหรือ แล้วถ้าทนได้จะสามารถทนความร้อนได้มากแค่ไหน… คุณผู้ฟังต้องติดตามทุกช่วงของรายการ แล้วคุณผู้ฟังก็จะได้ทราบเคล็ดลับดิฉันมีคำตอบให้คุณผู้ฟัง

ผลงานวิจัยที่ดิฉันกล่าวถึงนี้ เป็นผลงานวิจัย ของ รองศาสตราจารย์ทรงกลด จารุสมบัติ จากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมวิจัย ที่ได้ทำงานวิจัยด้านการใช้ไม้ ทำให้เห็นโอกาสและช่องทางใหม่ๆ  นับแต่นี้ไปการใช้ไม้มาสร้างบ้านจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ทีมงานวิจัยนี้ได้พัฒนาไม้ทนไฟจากไม้ยางพาราด้วยวิธีคลอสลามิเนต หรือการวางสลับทิศทางซ้อนกัน 3 ชั้นเพื่อเสริมแรง จึงทนต่อแรงกระทำถึง 3-5 เท่า จากไม้โครงสร้างทั่วไป ด้วยการอัดด้วย น้ำสารประกอบโบรอน เพื่อให้ป้องกันไฟ  แถมยังจะป้องกันพวกปลวกและมอดได้อีกด้วยค่ะ  วัสดุที่ได้จึงมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับไม้ ที่ไม่ว่าจะตอกตะปูไสหรือการขึ้นรูปเป็นชิ้นสวนไม่ว่าประตู/หน้าต่าง/แผ่นไม้ก็สามารถทำได้
คุณผู้ฟังค่ะ รองศาสตราจารย์ทรงกลด กล่าวถึงที่มาของการทำงานวิจัยชิ้นนี้ว่า เกิดจากแนวคิดของผู้ประกอบการที่ต้องการนำไม้ยางพารามาแปรรูปพัฒนาให้เป็น วัสดุก่อสร้างในที่อยู่อาศัยได้  การทำสวนยางใน ประเทศไทย มีจุดประสงค์ เพื่อกรีดเอาน้ำยาง เป็นหลัก แต่ผลพลอยได้ หลักจากการทำสวนยาง คือ ไม้ยางพารา ในอดีตต้นยาง ที่ถูกตัดโค่นส่วนใหญ่ ถูกเผาทิ้ง บางส่วนนำไปทำฟืน และ สร้างความยุ่งยาก ให้แก่ชาวสวนเป็นอันมาก ประกอบกับไม้ยางพารา มีความทนทานตามธรรมชาติ ค่อนข้างต่ำ แมลง และเห็ดราสามารถ เข้าทำลายเนื้อได้ง่าย และรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อตัดต้นยางแล้ว ต้องนำไปใช้ประโยชน์ ทันที จากขีดจำกัด ของการนำไม้ยางพารามา ใช้ประโยชน์ดัง ที่กล่าวมาแล้ว จึงไม่มีผู้สนใจนำไม้ยางพาราไปใช้ ทำให้เกิดความสูญเปล่า ทางเศรษฐกิจเป็น อย่างมาก ต่อมา เมื่อทรัพยากรป่าไม้ขาดแคลน ไม้คุณภาพดีที่เคยหาได้ง่าย และราคาถูกเริ่ม หายาก และมีราคาแพง ดังนั้น จึงได้พยายามหาวิธีที่จะนำไม้ยางพารา มาใช้ประโยชน์ จนประสบความสำเร็จ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ จากไม้ยางพาราเป็นที่ต้องการ ของต่างประเทศ ทำให้เกิดอาชีพการทำไม้ยางพารา ขึ้นในพื้นที่ที่มี การปลูกยางพารา ทั้งในภาคใต้ ภาคตะวันออก และเกือบทุกภาคของประเทศ

ที่ผ่านมาในตลาดมองว่ายางพาราเป็นไม้เนื้ออ่อนเพราะมีสีขาว  แต่แท้จริงความแข็งเทียบเท่ากับไม้สัก ซึ่งอายุไม้ยางพาราที่นำมาใช้งานได้ 25 ปี เป็นอายุที่ยางพารากรีดยางแล้วไม่คุ้มเกษตรกรจะตัดโค่นเพื่อนำพื้นที่ปลูก ยางใหม่ คุณสมบัติของยางพาราเป็นไม้ที่ดี   เพียงแต่มีข้อเสียคือ มีแป้งมากกว่าไม้ทั่วไป 5 เท่าตัว เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ชื่นชอบของพวกมอดแมลง และเชื้อราในเนื้อไม้ได้สูงเมื่อรู้จุดอ่อนตรงนี้จึงอัดน้ำยาสารประกอบโบรอนป้องกันแมลงลงไป ซึ่งนี้ก็เป็นผลพลอยได้จากน้ำยาสารประกอบโบรอนที่ใช้กันแมลง เพราะ คุณสมบัติสารชนิดนี้เมื่อเจอไฟจะทำเนื้อไม้เย็นลงไป ไม่เกิดไฟลาม  สามารถที่จะหน่วงเวลาไฟไหม้ได้ 30 นาที ถ้าเทียบกับไม้เบญจพรรณทั่วไป (โดยการทดลองที่อุณหภูมิ 900-1000 องศาเซลเซียส)  ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ผู้อยู่อาศัยมีเวลาหนีเหตุเพลิงไหม้ได้  ซึ่งไม้เคลือบสารประกอบโบรอนห้ามโดนน้ำ ดังนั้นเพื่อป้องกันเมื่อแปรรูปออกมาแล้วต้องใช้น้ำมันเชลแล็กเคลือบไว้  สำหรับตอนนี้เราพักกันสักครู่ เดี๋ยวเรากลับมาฟังกันต่อในช่วงหน้าค่ะ….

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังค่ะ รองศาสตราจารย์ทรงกลด  กล่าวว่าคาดว่ากลางปีนี้ผลิตภัณฑ์ไม้ทนไฟจะออกสู่ตลาดได้ ซึ่งต้นทุนของการทำไม้ทนไฟป้องกันมอดและปลวก  คำนวณออกมาแล้วเฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 90 บาทเมื่อเทียบกับไม้แปรรูป แม้ราคาจะสูงแต่มีคุณสมบัติป้องกันปลวกและป้องกันไฟได้   ที่สำคัญไม่ลามติดไฟ  ขณะที่ไม้เบญจพรรณชนิดอื่น ปลวกกินหมดไม่ว่าจะเป็นไม้สักที่มีความเชื่อมาว่าปลวกไม่กิน แต่แท้จริงเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะไม้สัก เป็นเพียงไม้ชนิดหนึ่งที่ปลวกไม่ชอบเพราะมีสารเคมีอยู่ในเนื้อไม้ เพราะธรรมชาติของปลวกเมื่อเจอกระดาษไม้ชนิดอื่น  จะเลือกกินก่อนเหลือไม้สักไว้ทีหลัง แต่ถ้าไม่มีอาหารให้เลือกเหลือเพียงไม้สักปลวกก็กินเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เสาชิงช้ากรุงเทพมหานครที่ต้องเปลี่ยนเพราะถูกปลวกกินเช่นกัน
หัวหน้าทีมวิจัยไม้ทนไฟกล่าวว่า ไม้เป็นวัสดุดีกว่า  และเมื่อมองในด้านสิ่งแวดล้อม ไม้เป็นสิ่งที่รักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีสุด แต่ต้องรู้จักวิธีการจัดการด้วย เพราะจากตัวเลขการใช้พลังงานในการแปรรูปไม้อยู่ที่ประมาณ 5-8 เมกะจูนต่อไม้ 1 กิโลกรัม  ขณะที่ เหล็ก อะลูมิเนียม ถ้านำมาแปรรูปใช้พลังงาน 10-20 เท่าเมื่อเทียบปริมาณเท่าไม้ ดังนั้น เมื่อตัดไม้มาใช้ต้องใช้ประโยชน์ให้ได้มากสุด งานวิจัยนี้ใช้ไม้ยางพาราที่มีอยู่มากที่สุดในประเทศไทย ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยาง พารา 14 ล้านไร่ อายุของยางพารา อยู่ที่ 25 ปี     เมื่อครบอายุเกษตรกรต้องตัดโค่นทิ้งเพราะได้น้ำยางน้อยไม่คุมทุนที่จะปลูก “ไม้ยางพาราจะเป็นไม้ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม้ เพื่อทดแทนจากป่าธรรมชาติ ยางพาราถือเป็นพืชที่ดีที่สุดในโลก ตอนปลูกก็มีเงินก้นถุงจากองค์กรสงเคราะห์สวนยาง หลังจาก 6 ปีครึ่งเป็นต้นไปเกษตรกรกินเงินรายวันจากการขายน้ำยาง ครบ 25 ปีโค่นขายได้อีกปัจจุบันขายไร่ละ 40,000-50,000 บาท แต่ขึ้นอยู่กับพื้นที่ขนาดของเนื้อไม้”   ทั้งนี้งานวิจัยชิ้นนี้นอกจากนำไม้ยางพารามาผ่านกระบวนการได้แล้วไม้ชนิดอื่นก็ทำได้ด้วยวิธีเดียวกัน แต่นักวิจัยเลือกยางพาราเพราะเป็นไม้ปลูกทดแทนตลอดเวลา  ขณะที่ไม้เบญจพรรณชนิดอื่นก็ใช้วิธีการเดียวกันได้ นอกจากนี้ในปีนี้ยังมีงานวิจัยด้านไม้เพิ่มเติม ด้วยการพัฒนาแผ่นไม้อัดเรียงเสี้ยน โดยใช้กิ่งไม้จากสวนผลไม้ ไม่ว่าจะเป็น เงาะ ทุเรียน ลำไย ซึ่งเกษตรกรต้องตัดสางทิ้งอยู่แล้วมาอัดเป็นแผ่น  เพื่อนำมาทดแทนไม้อัด ที่ต้องใช้ไม้แผ่นขนาดใหญ่ คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะสามารถนำไป สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์และน่าจะได้รับการตอบรับจากตลาดและผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีค่ะ แต่การเลือกไม้ที่จะนำมาใช้งานต้องพิจารณาอยู่ด้วยกัน  2  ประเด็นคือ

1. การเลือกมาใช้ในงานรับน้ำหนักโดยตรง  ได้แก่  ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างที่ไม่ต้องการความประณีตมากนัก  เช่น  การก่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย  ไม้จำพวกนี้ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับน้ำหนักและต้านทานแรงต่าง  ๆ  มากกว่าความสวยงาม  ความแข็งแรง  จึงเป็นข้อแรกที่จะต้องคัดเอาไม้ที่แข็งแรงเท่าที่จะสามารถทำได้  คือ  ต้องเป็นไม้ที่เนื้อแน่น  แข็งแกร่ง  เหนี่ยว  ไม่เปราะง่าย  ควรเลือกไม้แก่นหรือไม้ที่มีอายุเหมาะแก่การตัด  ไม่มีรอยชำรุดเสียหาย  เช่น  เป็นตา  ผุ  แตกร้าว  ปิดงอ  คด  โค้ง และเป็นไม้ที่ผ่านการผึ่งมาได้ที่พอเหมาะแก่งานประเภทนี้

2. การเลือกไม้มาใช้ในงานประณีต ไม้ที่เลือกมาใช้งานประเภทนี้ เป็นไม้ที่ไม่ต้องรับน้ำหนักหรือต้านแรงมากเหมือนไม้ที่ใช้งานประเภทแรก แต่งานประเภทนี้จะนำไม้ไปประกอบเป็นรูปร่างต่างๆ เช่น บาน ประตู  หน้าต่าง  เครื่องเรือน ตู้  โต๊ะ เก้าอี้ หรือครุภัณฑ์ต่างๆ ที่จะทำอย่างประณีตเรียบร้อยและต้องการความสวยงามมากกว่าความแข็งแรง  เป็นงานที่ทำได้ยากและต้องใช้ฝีมือ

แต่การแปรรูปไม้ให้มีความพิเศษขึ้นมามากกว่าไม้ธรรมดานั้น ก็ยังไม่ได้หมดเพียงแค่การเป็น ไม้ทนไฟ  เท่านั้นนะค่ะ ยังสามารถทำได้อีกหลากหลายเลยค่ะ เดี๋ยวช่วงหน้าเรากลับมาฟังกันต่อค่ะ

 -เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังค่ะ  ช่วงที่แล้วที่ดิฉันได้บอกไปว่า การแปรรูปไม้นั้น นอกจากจะทำเป็นไม้ทนไฟได้แล้ว ยังมีการนำมาทำเป็นอย่างอื่นอีกมากมาย ก็อย่างเช่น

ไม้ทนไฟ ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นั้น น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดในการใช้ไม้ให้โตขึ้นไปอีก เนื่องจากสมบัติที่ติดไฟง่ายทำให้มันมีขีดจำกัดใน การใช้งานหลายๆ ด้าน ปัจจุบันการทำให้ไม้ทนไฟมักทำโดยการอัด หรือเคลือบสารเคมีต้านทานการติดไฟเข้าไป ซึ่งจะไปช่วยลดการเกิดปฏิกริยาเคมีในเนื้อไม้เมื่อเกิดความร้อนสูง แต่นักวิจัยกำลังศึกษาการใส่ส่วนผสมของอนุภาคนาโนเคลย์ลงไป เพื่อต้านทานการติดไฟ โดยอาจทำได้โดยการเคลือบผิวหรือการอัดเข้าไปในรูพรุน ที่มีขนาดเล็กมากซึ่งมักจะแทรกอยู่ตามเนื้อไม้ค่ะ

ไม้ต้านทานปลวก/เชื้อรา อนุภาคนาโนอาจใช้ในการป้องกันเชื้อราหรือปลวกกัดกินไม้ พัฒนาเทคนิคในการอัดอนุภาคนาโนของซิงค์ออกไซด์ และโลหะต่างๆ เข้าไปในเนื้อไม้ ซึ่งนอกจากจะฆ่าเชื้อโรคแล้ว ยังป้องกันแสง UV ด้วย มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้จดสิทธิบัตรในการ บรรจุยาฆ่าปลวกและเชื้อราเข้าไปใน   แคปซูลจิ๋ว ที่ทำจากพอลิเมอร์โดยสามารถควบคุมการปลดปล่อยได้ รวมไปถึงกระบวนการอัดอนุภาคนาโนเหล่านั้นเข้าไปในเนื้อไม้

ไม้ต้านทานUV/การผุกร่อน นาโนเทคโนโลยีสามารถนำมาช่วยเคลือบผิวหรือทรีทเนื้อไม้ให้มีคุณสมบัติต้าน ทานแสง UV รวมไปถึงความชื้น อันเป็นสาเหตุแห่งการผุกร่อนของไม้ บริษัทหนึ่งในประเทศเยอรมัน  ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วย อนุภาคนาโนที่สามารถพ่นแบบสเปรย์ลงไปบนพื้นผิวไม้ โดยมันจะเคลือบผิวและสร้างสภาพไม่ชอบน้ำขึ้นมา  มหาวิทยาลัยวิสคอนซิลพัฒนาเทคนิคในการเคลือบผิวไม้ด้วยอนุภาคนาโนและวัสดุ อินทรีย์ที่สามารถดูดซับพลังงานจากแสง UV บริษัทในเยอรมันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอนุภาคนาโนไททาเนียมไดออกไซด์เป็นองค์ ประกอบ เพื่อใช้เคลือบผิวไม้ที่มีสีอ่อน ให้ดูสดสวยและไม่ด่างดำ

หลังจากที่ทางทีมวิจัยได้ประสบความสำเร็จกับการแปรรูปเศษไม้ให้กลายเป็นไม้ทนไฟแล้วนั้น ตอนนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนในการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุที่ว่านี้กันต่อ ด้วยการขึ้นรูปไม้เป็นบานประตูและโครงสร้างบ้าน เพื่อทดสอบความคงทนในสภาวะทดลอง ก่อนจะส่งต่อองค์ความรู้ให้ภาคเอกชนนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป  รศ.ทรงกลด กล่าวและว่าผลงานไม้ทนไฟนี้นอกจากจะเพิ่มมูลค่า ให้เศษไม้แล้ว คุณสมบัติที่ทนต่อปลวกยังทำให้การใช้งานของไม้มีอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น  ถือว่าเป็นการใช้ไม้อย่างคุ้มค่าและยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีอีกทางหนึ่ง คือ ลดการตัดไม้เพราะไม้ทนไฟนี้ไม่จำเป็นต้องไปตัดไม้ต้นใหญ่มาทำ แต่จะใช้ประโยชน์จากเศษไม้ที่ทิ้งจากการแปรรูปไม้ตามโรงงานมาใช้เท่านั้น แถมยังจะให้ประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีกว่าด้วยซ้ำ  และด้วยกระบวนการผลิตที่ได้เติมน้ำยาสารประกอบโบรอนที่ใช้กันแมลง  ปลวก จึงทำให้ไม้ทนไฟนี้ยิ่งมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียเงินเสียงบประมาณในการซ่อมแซมดูแลบ่อยๆ  และยังไม่ต้องเสียค่าฉีดพ้นกำจัดปลวกอีกด้วยค่ะ ทั้งดีต่อคน ดีต่อโลก แถมยังทนทานแบบนี้ ถ้าจะยกให้ไม้กลับมาเป็นวัสดุแห่งอนาคต ดิฉันว่าก็คงจะมีหลายๆคนเห็นด้วยใช่ไหมค่ะ….

สัปดาห์หน้า ดิฉัน จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆมาฝาก คุณผู้ฟังอีก  อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ได้ในวัน เวลาเดียวกันนี้

หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้  ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วค่ะ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีค่ะ…….