แผ่นดามกระดูกและหมุดยึดสำหรับสัตว์เล็ก

อีกหนึ่งความสำเร็จของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทีมนักวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มีส่วนร่วมในการพัฒนาวัสดุดามกระดูกและหมุดยึดสำหรับสัตว์เล็กทดแทนการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ และถ่ายทอดนวัตกรรมสู่ภาคเอกชน

การพัฒนาแผ่นดามกระดูกและหมุดยึดสำหรับสัตว์เล็ก เป็นโครงการศึกษาวิจัยภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ทีมวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก  วิจารสรณ์ จากภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง  คณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้น้อมนำพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2553 ใจความว่า “ให้ทำงานวิจัยค้นคว้าพัฒนาวัสดุฝังในทางการแพทย์ สำหรับใช้ในมนุษย์และให้ทำวิจัยสำหรับใช้ในสัตว์ให้มาก ซึ่งท้ายที่สุดก็จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์” จากนั้นในปี 2554 ทีมวิจัยจึงเริ่มพัฒนาวัสดุดามกระดูกสำหรับสัตว์เล็กสำหรับผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกหักในสัตว์ขนาดเล็ก เช่น สุนัข กระต่าย และแมว โดยมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนา วัสดุฝังในสัตว์ให้มีความเหมาะสมกับร่างกายขนาดเล็ก  สามารถผลิตได้เองในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพง

ที่ผ่านมาการรักษากระดูกหักในสัตว์เล็ก เช่น สุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน สุนัขพันธุ์ชิสุ หรือแมว และกระต่าย ที่หักและบาดเจ็บนั้น จะใช้วัสดุฝังในซึ่งเป็นวัสดุสำหรับดามกระดูกใบหน้ามนุษย์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะมีขนาดเล็กพอดีขนาดกระดูกสัตว์เล็ก  แต่กระดูกสำหรับดามใบหน้ามนุษย์นั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักและแรงกระแทก แม้ว่าโดยปกติเมื่อกระดูกหักแล้วจะเชื่อมประสานได้เอง แต่ช่วงรอยต่อของกระดูกที่สร้างขึ้นใหม่นั้นเปราะบางและรับน้ำหนักได้ไม่มาก กระดูกที่เพิ่งประสานไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้ การเสริมวัสดุดามจะช่วยรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้น ป้องกันความเสี่ยงกระดูกหักซ้ำ แล้วต้องผ่าตัดใหม่

แผ่นดามกระดูกที่พัฒนาขึ้นในโครงการวิจัยนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ทดแทนแผ่นดามราคาแพงที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ  เพื่อให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถเข้าถึงการบริการได้ในราคาที่สมเหตุสมผล  โดยมีความมั่นใจในคุณภาพ ภายใต้ระบบการจัดการคุณภาพ ISO 9001  โดยมีการทดสอบการใช้ในอาสาสมัครสัตว์ป่วยภายใต้โครงการ แผ่นดามปันน้ำใจสู่เพื่อน 4 ขา  ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินการโดยการคัดเลือกอาสาสมัครสัตว์ป่วยเข้าร่วมโครงการ โดยสุนัข และแมวที่เข้าร่วมโครงการต้องมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 5 กิโลกรัม และมีกระดูกหักที่ต้องยังไม่เคยได้รับการรักษาด้วยการทำศัลยกรรมมาก่อน รวมทั้งลักษณะรอยหักของกระดูกนั้นจะต้องมีความเหมาะสมในการรักษาด้วยแผ่นดามกระดูกและหมุดยึดตามการวินิจฉัยและความเห็นของสัตวแพทย์ผู้ทำการวิจัย โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องลงนามแสดงเจตนายินยอมเข้าร่วมโครงการ   ซึ่งจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดรักษากระดูกหักด้วยแผ่นดามกระดูกและหมุดยึด ข้อมูลผลข้างเคียง แนวทางป้องกัน แก้ไข และข้อปฏิบัติในการนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษา

การทำศัลยกรรมและการติดตามภายหลังจากการตรวจร่างกาย ผุ้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการนัดหมายเข้ารับการผ่าตัด สัตว์ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการวางยาสลบและทำการผ่าตัด ภายหลังการผ่าตัด จะได้รับการนัดหมายเพื่อติดตามผลการผ่าตัด เช่น การตรวจแผลภายหลังผ่าตัดในวันที่ 3 ตัดไหมในวันที่ 7 x-ray ตรวจการเชื่อมประสานของกระดูกทุกเดือนจนกว่ากระดูกมีการเชื่อมประสานกันสนิท โดยสัตว์ป่วยจะได้รับการใส่เฝือกช่วยประคับประคองจนอาการดีขึ้นตามความเหมาะสม

เป้าหมายของงานวิจัย นอกจากการพัฒนาให้วัสดุดามกระดูกสัตว์เล็กมีราคาต่ำกว่าวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างน้อย 1 ใน 3 และทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บริษัทเอกชน (บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)) โดยการมอบสิทธิและนวัตกรรมการผลิตหมุดยึดแผ่นดามและแผ่นดามกระดูกสำหรับสัตว์เล็ก เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 เพื่อนำไปผลิตวัสดุฝังในสำหรับสัตว์ขนาดเล็กในประเทศเพื่อลดการนำเข้า นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังส่งเสริมให้สถานรักษาพยาบาลสัตว์อื่นๆ หันมาใช้วัสดุที่พัฒนาขึ้นแทนการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทส  รวมทั้งให้การอบรมเทคนิคการผ่าตัดใส่อุปกรณ์ด้วย

นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของผลงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีส่วนร่วมจนนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์ได้ 

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : คณะสัตวแพทยศาสตร์

                           มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) สวทช.

เรื่อง/สื่อเผยแพร่  :        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก  วิจารสรณ์