แอปพลิเคชั่น M Traffic เพื่อผู้ใช้ถนนมอเตอร์เวย์

ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมมือกรมทางหลวง พัฒนา “ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการจัดการอุบัติการณ์บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง” สำหรับใช้บริหารจัดการการจราจรบนถนนมอเตอร์เวย์

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง คือถนนที่เราคุ้นกันในชื่อ “มอเตอร์เวย์”  ในปัจจุบันมี 2 เส้นทางคือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพ – ชลบุรี) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก บางปะอิน – บางพลี) เป็นทางหลวงพิเศษที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางการใช้บริการ มีการควบคุมการเข้า – ออกอย่างสมบูรณ์ มีรั้วกั้นตลอดแนวทาง สามารถใช้ความเร็ว 100 – 120 กม./ชม. สำหรับบนทางราบ และ 80 กม./ซม. สำหรับบนทางเนินและทางแยก โดยทางแยกเป็นทางแยกต่างระดับทุกแห่งซึ่งไม่มีสัญญาณไฟจราจร พร้อมมีสถานีบริการ ซึ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้บริการแก่ผู้ใช้ทางตามจุดที่กำหนด

การออกแบบถนนมอเตอร์เวย์ ได้มีการออกแบบเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้มาก และสามารถใช้ความเร็วได้สูง ซึ่งในการบริหารจัดการการจราจร หรือการจัดการอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นบนเส้นทาง หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการจราจร คือศูนย์ควบคุมการจราจร(ลาดกระบัง) โดยมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆ บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานแต่ละครั้งในเหตุการณ์เดียวกัน มีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทำให้การปฏิบัติงานนั้น ไม่มีแบบแผนที่แน่ชัด และเนื่องจากในระยะต่อๆไป กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองได้มีโครงการก่อสร้างเส้นทางเพิ่มเติมหลายโครงการ ทำให้เกิดภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น

 

ผศ.ดร.สโรช บุญศิริพันธ์  จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำเสนอระบบสนับสนุนการจัดการอุบัติการณ์บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Dicision Support System : DSS) เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน เป็นการนำระบบสารสนเทศ มาใช้บริหารจัดการจราจร เป็นระบบที่เสนอขั้นตอนในการปฏิบัติงานในแต่ละเหตุการณ์ ทำให้การปฏิบัติงาน และการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากให้การสนับสนุนข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการจราจร(ลาดกระบัง)แล้ว ยังช่วยในการประสานงาน และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้แก่ประชาชนและหน่วยงานอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานบนมอเตอร์เวย์ เช่น สภาพการจราจร เหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้น และรายละเอียดของเหตุการณ์ โดยมีช่องทางในการประชาสัมพันธ์ 2 ช่องทาง คือ Mobile Application ใน M Traffic ซึ่งมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ ส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และส่วนของประชาชน หากผู้ใช้เส้นทางพบเห็นความผิดปกติบนมอเตอร์เวย์ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้โดยตรงเพื่อตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชั่นดังกล่าว  คือ เว็บไซต์ http://dss.motorway.go.th

การประชาสัมพันธ์ข้อมูลการจราจร ทั้ง 2 ช่องทางนั้น จะแสดงผลในรูปแบบของเส้นสี และภาพ จากกล้องวงจรปิดแบบ real time ในส่วนการแสดงผลเหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้นบนเส้นทางนั้น จะแสดงในรูปแบบของสัญญลักษณ์ ( icon) และรายละเอียดของเหตุการณ์ เพื่อง่ายต่อการเข้าใจ ช่วยให้ผู้ใช้งานได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวในการวางแผนการเดินทางสามารถตรวจสอบเส้นทาง และติดตามสภาพการจราจรแบบ Real Time ได้ใน Mobile Application “M Traffic” ทั้งในระบบ IOS และ Android เพื่อความสะดวกรวดเร็วและประหยัดเวลาช่วยให้ผู้ใช้มอเตอร์เวย์ไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย

 

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

เจ้าของผลงาน  :    ผศ.ดร.สโรช บุญศิริพันธ์

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

คณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่อง/สื่อเผยแพร่  :        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                             สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ผศ.ดร.สโรช บุญศิริพันธ์