ระบบความจริงเสมือนแบบฝังตัวเต็ม

โลกแห่งอนาคตที่ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้ตามจินตนาการที่ต้องการ ด้วยระบบความเป็นจริงเสมือน เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนานวัตกรรมอย่างยั่งยืน

 

ก้าวสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยระบบความเป็นจริงเสมือน  หรือ เทคโนโลยีการสร้างภาพเสมือนจริง (Virtual Reality หรือ VR)  เทคโนโลยียอดฮิตในปัจจุบันที่มีการพัฒนาก้าวล้ำอย่างต่อเนื่อง และเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนในยุคดิจิทัล โดยมีการใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือนทั้งในวงการศึกษา การแพทย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุกิจ ที่มีการประยุกต์ใช้ในวงการบันเทิง ที่สามารถทำให้โลกเสมือนจริงกลายเป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

ความเป็นจริงเสมือน (virtual reality: VR) คือ การมองเห็นสิ่งต่างๆได้เกินกว่าสิ่งที่มีอยู่จริง เราสามารถมีส่วนร่วมกับบรรยากาศที่เปรียบเสมือนจริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากการสร้างขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ ที่ป้อนตรงต่อสมอง ผู้ใช้จะเกิดการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสการมองเห็น การได้ยิน ความรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม 3 มิติที่ถูกสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ และสามารถตอบโต้กับสิ่งแวดล้อมจำลองนั้นได้ด้วย

จากการพัฒนาเทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์ ทั้งทางด้านเรขาคณิต และทางด้านฟิสิกส์ จนทำให้เกิดระบบการสื่อสารข้อมูลแบบฝังตัวเต็ม (Fully Immersive Virtual Reality) ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานสามารถมีปฏิกิริยาตอบสนองกับสภาวะแวดล้อมเสมือนจริงเหมือนกับได้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ซึ่งทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ต่อสภาวะแวดล้อมทางด้านความรู้สึกที่เสมือนจริงมากกว่าการสื่อสารผ่านจอแสดงผลปกติ นอกจากนี้การได้รับประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้ออกแบบและเจ้าของงานยังช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ระหว่างผู้ออกแบบและผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์

ความจริงเสมือนแบบฝังตัวเต็มหรือฝังตัวโดยสมบูรณ์ (Fully Immersive Virtual Reality) คือปรากฏการณ์ซึ่งเกิดจากกระบวนการสังเคราะห์การกระตุ้นประสาทรับรู้ของสมอง การกระตุ้นที่สมจริงสามารถทำให้ระบบประสาทส่งข้อมูลไปยังสมองจนเชื่อว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง ปัจจุบันระบบความจริงเสมือนได้มีการพัฒนาเป็นอย่างมากจนสามารถสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้ใช้ในระดับฝังตัวเต็ม ระบบดังกล่าวประกอบด้วยอุปกรณ์หลายชนิด ได้แก่ จอแสดงผลชนิดสวมศีรษะ ลู่เดินชนิดรอบทิศทาง  หน่วยประมวลผลทางฟิสิกส์ และซอฟต์แวร์จำลองสถานการณ์

ดร.ศิรเดช สุริต อาจารย์ประจำภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำระบบความจริงเสมือนแบบฝังตัวเต็ม มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ระหว่างผู้ออกแบบเชิงเทคนิคและผู้ใช้ขั้นปลายในลักษณะการทำงานที่มีการประสานงานแบบเสมือนจริง ซึ่งในการสร้างระบบดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพนั้น ได้ทำการศึกษาและกำหนดตัวแปรที่เกี่ยวข้องหลายประการ โดยในงานวิจัย กระบวนการสื่อสารการออกแบบจากแบบจำลองสารสนเทศอาคารโดยใช้ระบบต้นแบบเสมือนจริง(Fully Immersive Virtual Reality) ชิ้นนี้ ได้นำเสนอกระบวนการศึกษาตัวแปรสภาวะแวดล้อมของระบบที่เหมาะสมในการสร้างระบบความจริงเสมือนชนิดสัมผัสเต็ม โดยใช้การทดลองกับกลุ่มตัวอย่างและประมวลผลในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยมีกรณีศึกษาเป็นระบบอาคารเสมือนจริงซึ่งได้ข้อมูลจากแบบจำลองสารสนเทศอาคาร  ทำให้ผู้ใช้รู้สึกเหมือนอยู่ในสถานที่นั้นๆในแบบ 3 มิติ รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์ต่อสภาวะแวดล้อมนั้นๆ ด้วย

ระบบการสื่อสารข้อมูลแบบฝังตัวเต็ม หรือระบบความจริงเสมือนชนิด Fully Immersive Virtual Reality ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดนวัตกรรม มก. ปี 2559 ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ประเภทบุคลากรจูเนียร์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 และร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560 ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน เมื่อวันที่ 27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เว็บไซต์ : https://pirun.ku.ac.th/~archsds/01/?page_id=71

เจ้าของผลงาน             : ดร.ศิรเดช สุริต

                                       ภาควิชานวัตกรรมอาคาร

                                      คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

                                      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่อง/สื่อเผยแพร่    :       ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                                     สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                                    โทร. 02 561 1474

                                   e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ดร.ศิรเดช สุริต