ชวนชมพันธุ์ใหม่จากการฉายรังสี/อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์

เรื่อง  ชวนชมพันธุ์ใหม่จากการฉายรังสี

พูดถึงธรรมชาติที่แสนสวยงาม นอกจากท้องฟ้า แม่น้ำ หาดทราย ทุ่งหญ้า หรือต้นไม้นานาพันธุ์ที่นึกถึงกันแล้ว สิ่งที่อดนึกถึงไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ หมู่มวลดอกไม้ที่แสนสวยงาม เพราะดอกไม้แต่ละชนิดก็จะมีรูปร่างหน้าตาและสีสันที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อได้อยู่รวมกันตามธรรมชาติแล้ว ก็สามารถทำให้จิตใจของเราเบิกบานได้มากทีเดียว ซึ่งดอกไม้หรือไม้ดอกนี้ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เรานิยมปลูกกันเพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกเพื่อไว้ดูเล่น เพื่อการประดับตกแต่งบ้าน หรือเพื่อเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ ซึ่งการมอบดอกไม้ให้เป็นของขวัญนั้น จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีแก่ผู้รับได้มากทีเดียว จึงไม่แปลกใจเลยที่ไม้ดอกจะได้รับความนิยมในการปลูกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก และวันนี้เราจะมารู้จักกับไม้ดอกชนิดหนึ่ง ที่กำลังเป็นที่นิยมกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมปลูกเพื่อประดับตกแต่งบริเวณบ้าน สีของดอกนั้นมีสีสันที่สวยงามมาก ไม้ดอกที่ว่านั้นก็คือ  ชวนชมนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ของชวนชมให้ดีขึ้น ซึ่งในที่นี้เราจะกล่าวถึงการฉายรังสีเพื่อให้ได้ชวนชมพันธุ์ใหม่

ชวนชม เป็นพรรณไม้ที่มีสีสันของดอกสวยงามสะดุดตา มีรูปทรงของต้นและกิ่งก้านที่สวยงามและอ่อนช้อยนุ่มนวล เป็นไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพแห้งแล้งจนได้รับสมญาว่า Desert Rose หรือ กุหลาบทะเลทราย นอกจากนี้ ชวนชมยังเป็นชื่อที่มีความไพเราะเป็นศิริมงคลตามความเชื่อของคนไทย แม้แต่ชาวจีนซึ่งเรียกชวนชมว่า ปู้กุ้ยฮวย หรือดอกไม้แห่งความร่ำรวยก็ยังมีความหมายไปในทางศิริมงคลเช่นกัน ชวนชมมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกาแถบประเทศแทนซาเนียและเคนย่า ค้นพบครั้งแรกโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน แต่กลุ่มนักพฤกษศาสตร์ในสมัยนั้นเชื่อว่าไม้ดอกที่พบเห็นเป็นเพียงลั่นทมพันธุ์ใหม่เท่านั้น

ชวนชม เป็นไม้ดอกที่เรารู้จักกันมานานมากแล้วในประเทศไทย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีผู้นำชวนชมเข้ามาปลูกเลี้ยงตั้งแต่เมื่อใด แต่มีบางวรรคของวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ที่ได้มีการกล่าวถึงดอกชวนชมนี้ด้วย เราไปฟังกัน

พระโฉมยงทรงเก็บกุหลาบเทศ                       ประทานองค์อัคเรศจินตะหรา
ทำเทียมเลียมลอดสอดคว้า                                                กัลป์ยาปัดกรค้อนคม
พระทรงสอยสร้อยฟ้าสารภี                                              ให้มาหยารัศมีแซมผม
เลือกเก็บดอกลำดวนชวนชม                                            ใส่ผ้าห่มให้สการะวาตี

วรรคหนึ่งจากวรรณคดีเรื่องอิเหนา ตอน นางจินตะหราพาอิเหนาไปชมสวน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๒

เมื่อได้ฟังบทกลอนจากวรรณคดีดังกล่าวก็พอที่จะคาดเดาได้ว่า ชวนชมนั้นคงมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แล้ว แต่อาจจะยังไม่แพร่หลายมากเท่าไร

ชวนชม มีลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน อวบน้ำ ต้นและกิ่งเป็นลำกลม ผิวค่อนข้างเรียบสีเขียวอมเทา เปลือกบาง แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ ส่วนโคนของลำต้นพองออกมีขนาดรูปทรงเล็กแตกต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์ เรียกว่า โขด ทำหน้าที่เป็นรากที่ใช้สะสมอาหารเหมือนพืชหัวทั่วๆไป ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนรอบกิ่งคล้ายๆกังหันหลายๆชั้น และออกหนาแน่นตรงปลายกิ่ง ลักษณะใบและขนาดของใบแตกต่างไปตามพันธุ์ เช่น ใบรูปไข่กลับ ใบรูปหอกกลับ รูปแถบ ปลายใบมีทั้งเว้า มน แหลม และใบตัด ขอบใบเรียบ หยักหรือเป็นคลื่น ใบแผ่แบนหรือห่อขึ้น แผ่นใบหนาแข็งเขียวเข้มเป็นมันหรือมีขนใต้ท้องใบ ดอกเป็นช่อออกที่ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งประมาณ 10-20 ดอก ส่วนใหญ่มีกลีบดอก 5 กลีบ อาจมีดอกซ้อนหรือ 6 กลีบบ้าง กลีบดอกเรียงติดอยู่รอบโคนกลีบดอก หรือหลอดดอก ลักษณะกลีบดอกมีหลายรูปแบบ คือ รูปกลม รูปไข่ รูปไข่กลับ รูปแถบและรูปรี ขึ้นอยู่กับพันธุ์ มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ฝักหรือผลออกเป็นคู่ติดกัน ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อนเล็กๆ คล้ายเมล็ดข้าวเปลือก มีขนสีน้ำตาลอ่อนเป็นพู่ ติดอยู่ที่ปลายแหลมทั้งสองข้าง

เดิมชวนชมเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบแอฟริกาซึ่งมีสภาพแห้งแล้ง  เมื่อนำมาปลูกในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า  ดินปลูกที่ดีขึ้น  ชวนชมย่อมเจริญเติบโตได้ดีกว่าในดินทรายถิ่นกำเนิดเดิม  แต่โครงสร้างของต้นชวนชมก็ยังเป็นไม้อวบน้ำอยู่เช่นเดิม  ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม  คือต้นยังอวบน้ำและทนน้ำขังไม่ได้  ดังนั้นดินที่เหมาะในการปลูกชวนชมจึงควรเป็นดินโปร่งร่วนซุย  มีการระบายน้ำได้ดีคล้ายดินทราย  ผู้ปลูกเลี้ยงส่วนใหญ่จึงนิยมเติมวัสดุปรุงดินต่างๆ เพิ่มลงไปในดินเพื่อให้มีความร่วนซุย  เช่น ใบก้ามปู  กาบมะพร้าวสับ  เปลือกถั่วลิสง  แกลบดิบ และทรายหยาบ เป็นต้น ชวนชมเป็นพืชที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี  หากชวนชมอยู่ในสภาพที่แฉะเกินไปหรือมีน้ำขังจะทำให้มีอาการเหี่ยวเฉา  ใบเหลืองและร่วง  โขดหรือหัวเน่าได้ง่าย  ชวนชมเป็นไม้ที่ฟื้นตัวได้ง่าย  เช่น  ถ้างดน้ำประมาณ 1 สัปดาห์ ลักษณะต้นจะนิ่ม  เมื่อได้รับน้ำและปุ๋ยอีกครั้งชวนชมจะแตกใบขึ้นมาใหม่  แต่ถ้าขาดน้ำนานเกินไปใบจะเหี่ยวหรือไหม้ตามขอบใบ  ดอกจะเหี่ยวและร่วงเร็ว  ชวนชมต้นที่ยังอ่อนต้องให้น้ำแต่น้อย  ถ้าต้นอ่อนได้น้ำมากจะทำให้เน่าได้ง่าย  การให้น้ำพอดีจะทำให้ต้นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  ถ้าเป็นชวนชมต้นใหญ่ควรให้น้ำวันละครั้ง  สำหรับช่วงฤดูฝนอาจเว้นการรดน้ำบ้างตามความเหมาะสม  น้ำที่ใช้รดควรเป็นน้ำที่สะอาดและไม่ควรรดน้ำให้โดนดอกเพราะจะทำให้กลีบดอกช้ำและร่วงเร็ว

ชวนชมเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยไม่มากนัก  การใส่ปุ๋ยมากเกินไปนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้วยังทำให้ชวนชมเน่าได้ง่าย  ชวนชมต้นเล็กต้องการธาตุอาหารไม่มาก  ควรใส่ปุ๋ยที่มีตัวหน้าสูง เช่น 15-5-5 หรือสูตรเสมอ 15-15-15 ในปริมาณน้อยๆ ทุก 2 สัปดาห์ ประมาณ 1-2 เดือน  เมื่อต้นโตเต็มที่พร้อมที่จะออกดอกจึงเปลี่ยนเป็นปุ๋ยเร่งดอกสูตร 8-24-24 ทุกๆ 2 สัปดาห์ ประมาณ 1-2 เดือนชวนชมจะออกดอก  หลังจากนั้นบำรุงต้นโดยให้ปุ๋ยสูตรเสมอเดือนละครั้ง  และให้ธาตุอาหารเสริมประมาณ 3 เดือนครั้ง  สำหรับชวนชมที่ติดฝักควรเว้นระยะการให้ปุ๋ยให้ห่างขึ้นและลดปริมาณการให้ปุ๋ยให้น้อยลง   ธรรมชาติของชวนชมจะมีลักษณะทรงต้นและการบิดตัวที่สวยงามอยู่แล้ว  แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีการตัดแต่งบังคับรูปทรงให้เป็นไปตามต้องการ  โดยเฉพาะชวนชมที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปหรือต้นที่โตแล้ว  มีกิ่งก้านสาขาเก้งก้างไม่เป็นพุ่มสวยงาม  การตัดกิ่งควรตัดกิ่งก้านที่แตกออกมาเกะกะไม่เป็นระเบียบ  กิ่งที่พาดทับกันไปมา  กิ่งที่ตาย  กิ่งที่ฉีกหัก  กิ่งที่คดไปมา  และกิ่งที่เป็นโรคออกบ้าง  เพื่อช่วยเปิดให้แสงและอากาศถ่ายเทได้สะดวก  ลักษณะทรงพุ่มเป็นระเบียบสวยงาม  สำหรับพันธุ์ที่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน  แต่มีลำต้นสูงชะลูด  ลำต้นอาจหักเมื่อโดนลมแรง  อาจตัดยอดไปขยายพันธุ์  เพื่อให้ส่วนโคนที่เหลือแตกกิ่งออกมาใหม่  การตัดควรใช้มีดที่คมและสะอาดตัดให้ชิดลำต้น  ถ้ารอยตัดมีขนาดโตกว่า 1 ซม.  ควรใช้ปูนแดงทาที่รอยตัดเพื่อป้องกันเชื้อรา

การปลูกเลี้ยงชวนชมในอดีตส่วนใหญ่ปลูกเลี้ยงเพื่อให้มีดอกไว้ชื่นชมเพียงอย่างเดียวเมื่อมีชวนชมพันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศ  โดยเฉพาะสายพันธุ์ทางฮอลแลนด์ซึ่งมีโขดเป็นจุดเด่นและมีลักษณะสวยงาม  จึงทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงนิยมเลี้ยงชวนชมให้มีดอกดกสวยงามควบคู่ไปกับการเลี้ยงโขดให้มีโขดใหญ่สวยงาม  โขดยิ่งมีขนาดใหญ่ได้สัดส่วนยิ่งจะโดดเด่นสวยงามและมีราคาแพง   การทำให้ชวนชมมีโขดใหญ่จะต้องทำให้รากชวนชมสะสมอาหารไว้ให้มากที่สุด  เพราะโขดของชวนชมคือส่วนหนึ่งของราก  จึงต้องให้โขดเจริญเติบโตใต้ดินตั้งแต่แรกปลูก  และเมื่อชวนชมอายุได้ขนาดจะต้องเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นเป็นระยะทุก 4-5 เดือน  เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้โขดได้เจริญเติบโต  ถ้าปลูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัดโขดจะมีขนาดเล็ก  เมื่อโขดมีขนาดใหญ่และได้รูปร่างตามต้องการแล้วจึงเปลี่ยนเป็นกระถางสำหรับโชว์โขดโดยเฉพาะ  ทั้งนี้รวมเวลาจนถึงโขดมีขนาดใหญ่ตามที่ต้องการอาจต้องใช้เวลานับปี   สำหรับโขดที่ปลูกโชว์ควรปลูกให้สูงเหนือดินขึ้นมาประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของโขดการทำให้ออกดอกและติดฝัก  เนื่องจากชวนชมเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจึงควรปลูกกลางแจ้งจะทำให้ชวนชมออกดอกตลอดปี ที่สำคัญคือดินปลูกต้องมีธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จึงจะทำให้ชวนชมออกดอกและติดฝักดี

การขยายพันธุ์ของชวนชมนั้นมีหลายวิธีด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการปักชำกิ่ง  เป็นวิธีขยายพันธุ์ที่ง่ายและสะดวก  ต้นใหม่ที่ได้จะมีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ  การปักชำสามารถทำได้ตลอดทั้งปี  แต่ช่วงที่ดีที่สุดคือช่วงก่อนและหลังฤดูฝน ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนและช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม  เพราะในช่วงฤดูฝน ฝนตกชุกอาจทำให้กิ่งชำเน่าได้ง่าย  ส่วนในช่วงฤดูแล้งกิ่งชำอาจจะเจริญเติบโตช้าเพราะอากาศแห้งและร้อนเกินไป  การตอนกิ่ง  จะใช้วิธีการตอนแบบปาดกิ่ง  โดยเลือกกิ่งตอนที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 ซม.  ความยาวไม่เกิน 1 ฟุต  ใช้มีดที่คมและสะอาดปาดเข้าไปในเนื้อไม้เป็นแนวเฉียงขึ้น ลึกเกือบถึงกึ่งกลางลำต้น  เช็ดยางออกแล้วใช้ไม้จิ้มฟันหรือหลอดกาแฟค้ำกลางรอยปาดเพื่อไม่ให้แผลติดกัน  ทิ้งไว้ประมาณ 7 วันเพื่อให้แผลแห้ง  จากนั้นหุ้มรอยแผลด้วยดินหรือกาบมะพร้าว  ห่อด้วยถุงพลาสติกใช้เชือกมัดหัวท้ายให้แน่น  ประมาณ 20-30 วัน กิ่งตอนจะออกรากจึงตัดกิ่งตอนไปปลูกต่อไป

การเพาะเมล็ด  ควรใช้เมล็ดใหม่มาเพาะเพราะจะทำให้มีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง  เลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ไม่ลีบ  นำไปเพาะในวัสดุเพาะที่เป็นส่วนผสมระหว่างทรายหยาบกับขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 1:1 หรือขี้เถ้าแกลบล้วนๆ   โดยโรยหรือวางเมล็ดบนวัสดุเพาะให้กระจายเท่าๆ กันแล้วกลบด้วยวัสดุเพาะเบาๆ   รดน้ำผสมยาป้องกันเชื้อราพอหมาดๆ  วางภาชนะเพาะในที่มีแสงรำไรอย่าให้ถูกแสงแดดโดยตรง  รดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง  ประมาณ 3-7 วัน  เมล็ดจะเริ่มงอกเป็นต้นอ่อน  เมื่อต้นกล้ามีใบเลี้ยงประมาณ 4-5 ใบ จึงเริ่มให้อาหารเสริม ฮอร์โมน และยาป้องกันเชื้อราอ่อนๆ ประมาณสัปดาห์ละครั้ง  เมื่อต้นชวนชมมีอายุ 1-2 เดือน จึงแยกไปปลูกในกระถางเดี่ยวต่อไป

ในด้านการปรับปรุงพันธุ์มีการผสมพันธุ์ข้าม เพื่อให้ได้ชวนชมพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากพ่อแม่พันธุ์ การปรับปรุงพันธุ์โดยการกลายพันธุ์เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ได้พันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือพันธุ์ลูกผสมที่ได้จากการผสมพันธุ์ การฉายรังสีสามารถชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ รังสีที่นิยมใช้คือ รังสีแกมมา และรังสีเอกซ์ เพราะสามารถฉายผ่านทะลุเข้าไปถึงเนื้อเยื่อภายในได้ดี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับยีนส์  ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมหรือทำให้เกิดการขาดของโครโมโซม ทำให้ได้ลักษณะพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมา  การใช้รังสีสามารถใช้ได้กับส่วนขยายพันธุ์ต่างๆของพืช เช่น กิ่ง ตา  ส่วนหัว แต่ที่นิยมมากคือเมล็ด เนื่องจากหาง่าย  มีปริมาณมาก และสะดวกในการขนส่ง แม้ว่าจะต้องใช้รังสีสูงกว่าส่วนอื่นๆ ของพืชก็ตาม สำหรับชวนชมซึ่งขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบมีเพศและไม่ใช้เพศ จะได้เปรียบกว่าพืชที่ขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะสามารถฉายรังสีให้กับกิ่งพันธุ์ ต้นกล้า หรือกับเมล็ดก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถฉายรังสีได้ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ทำให้มีโอกาสที่จะคัดเลือกพันธุ์กลายได้มากขึ้น

ชวนชมพันธุ์ อเดเนียม โซมาเลนส์ วาร์ โซมาเลนส์ บาล์ฟ เอฟ เป็นชวนชมกลุ่มยักษ์ใบเรียว พบที่โซมาเลีย แทนซาเนีย และตะวันตกของเคนยา เป็นไม้ยืนต้น มีลำต้นตรงใหญ่ชะลูด โขดมีขนาดใหญ่เป็นกรวยสูงรับกับลำต้น เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยโตเร็วมาก ปลูกได้ไม่กี่ปีก็อาจสูงกว่า 2 เมตร ใบเรียวแคบ ไม่มีขน สีเขียวสด เส้นใบสีขาวเห็นชัดเจนรูปร่างคล้ายใบยี่โถมาก ดอกดก ออกดอกตามลำต้นและกิ่งหลัก ดอกมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สีชมพู ริมของกลีบดอกมีสีแดงและขีดลงบริเวณส่วนกลางและกลีบดอก กลีบดอกไม่เกยกัน ติดฝักได้ดี เมล็ดมีขนาดใหญ่ เป็นไม้ที่นำเข้ามาในประเทศไทยมากกว่า 20 ปี มีการพัฒนาต้นและดอกไปมาก แต่ส่วนใหญ่มักจะเน้นให้คงสภาพสายพันธุ์ยักษ์ดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด

รศ.อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ปรับปรุงพันธุ์ชวนชมพันธุ์ยักษ์ใบเรียว ด้วยเทคนิคการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์ โดยนำเมล็ดพันธุ์ชวนชมมาฉายรังสีแกมมาแบบเฉียบพลีน ด้วยเครื่องฉายรังสีแกมมามาร์ค-วัน ณ ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปริมาณ 200-300 เกรย์ นำเมล็ดรุ่นที่ 1 ที่ผ่านการฉายรังสีแล้วกลับไปปลูกบำรุงรักษา และได้ติดตามดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อพบลักษณะแปลกใหม่ที่ต้องการ จึงทำการคัดเลือกและหาวิธีการทำให้ได้ลักษณะที่คงตัว แล้วขยายพันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่  ด้วยวิธีการดังกล่าว ขณะนี้สามารถคัดพันธุ์กลายไว้ได้ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์กลายซุปเปอร์ไวท์ ลักษณะเด่นคือ มีดอกสีขาว ในขณะที่พันธุ์เดิมมีดอกสีชมพูขอบแดง ออกดอกได้ดกและบ่อยกว่าพันธุ์เดิม ลักษณะใบกว้างกว่าใบของพันธุ์เดิม  อีกพันธุ์หนึ่งที่ค้นพบก็คือ พันธุ์กลายซุปเปอร์เรด  ลักษณะเด่นคือ มีดอกสีแดง ในขณะที่พันธุ์เดิมมีดอกสีชมพูขอบแดง รูปร่างลักษณะของดอกนั้นต่างจากพันธุ์เดิมตรงที่ปลายกลีบเรียบไม่มีส่วนแหลมยื่นออกมาเหมือนพันธุ์เดิม
เห็นได้ว่า รังสีมีประโยชน์ต่องานปรับปรุงพันธุ์พืช ช่วยให้ได้พันธุ์ใหม่ๆ ออกมาในระยะเวลาอันสั้น โดยลักษณะดีของพันธุ์เดิมไม่เปลี่ยนแปลง  แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้างในการดำเนินงานทดลองคือ ต้องใช้พืชทดลองเป็นจำนวนมาก และใช้เนื้อที่มากในการเพาะปลูก  เพื่อให้มีโอกาสพบ พันธุ์กลายสูงขึ้น  ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงทางกรรมพันธุ์ นั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ยากแก่การตรวจสอบ จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคที่เหมาะสมมาช่วยในการคัดเลือก  โดยต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่แน่นอนว่าต้องการปรับปรุงให้ได้ลักษณะใด แล้วทำการคัดเลือกให้ได้ลักษณะนั้น
เรียบเรียงโดย

วิทวัส ยุทธโกศา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สวพ.มก. 
โทรศัพท์ 0-2561-1474