คาลล่า ลิลลี่ ไม้ดอกสร้างรายได้ของเกษตรกรเมืองหนาว/บัวบาง ยะฮูป

เรื่อง  คาลล่า ลิลลี่ ไม้ดอกสร้างรายได้ของเกษตรกรเมืองหนาว

มนุษย์เราใช้ดอกไม้ในการบ่งบอกความรู้สึกและมอบให้กับผู้อื่นในวาระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความยินดี การแสดงความเสียใจ การให้กำลังใจหรือการแสดงความเคารพ เพราะดอกไม้แต่ละชนิดนั้น มีสีสันที่สวยงามในตัวของมันเอง เมื่อเรามอบดอกไม้ให้กับบุคคลในโอกาสต่างๆ  ผู้ที่รับดอกไม้เมื่อเห็นความสดใสสวยงามของดอกไม้ ก็จะช่วยให้จิตใจของผู้รับสดชื่นเบิกบาน มีกำลังใจ หรือคลายความเศร้าลงไปได้บ้าง คนไทยใช้ดอกไม้หลายชนิดในการแสดงความรู้สึก เช่น ชาวพุทธใช้ดอกบัว ดอกมะลิ ดอกกล้วยไม้ ดอกดาวเรืองในการบูชาพระด้วยจิตศรัทธา ใช้ดอกกุหลาบในการแสดงความรัก ใช้ดอกพุทธรักษาและดอกมะลิเพื่อแสดงความรักและเคารพมอบให้กับบิดามารดา เป็นต้น  และเมื่อถึงเทศกาลที่สำคัญๆ ดอกไม้จึงเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาสูงขึ้นตามความต้องการของผู้ซื้ออีกด้วย

ทุกวันนี้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยได้มีการประกอบอาชีพด้วยการปลูกไม้ดอกตามสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศออกขายสู่ท้องตลาดและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ทั้งพันธุ์ไม้ดอกของไทยและไม้ดอกที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ในปัจจุบันประเทศไทยมีไม้ดอกให้กับผู้บริโภคได้เลือกซื้อกันหลากหลายมากขึ้น

 

สถานีวิจัยดอยปุย สังกัดสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งสถานีที่มีภาระหน้าที่หลักในการดำเนินการวิจัยทดลองและขยายพันธุ์พืชเขตหนาว การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร รวมถึงการบริการวิชาการในรูปแบบต่างๆ จากความก้าวหน้าในการเร่งขยายและพัฒนาพันธุ์พืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ส่งผลให้สถานีมีผลผลิตที่หลากหลายออกสู่ท้องตลาดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผลผลิตที่สำคัญอีกหนึ่งชนิดที่สร้างชื่อให้และกำลังเป็นที่ต้องการของท้องตลาดอยู่ในขณะนี้คือ ดอกคาลล่า ลิลลี่

คุณบัวบาง ยะฮูป นักวิชาการเกษตรสถานีวิจัยดอยปุย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการนำดอกไม้พันธุ์คาลล่า ลิลลี่ เข้ามาทดลองปลูกในสถานีวิจัยดอยปุยว่า ดอกคาลล่า ลิลลี่ เป็นพันธุ์ไม้นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการนำเข้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยทดลองปลูกที่สถานีวิจัยดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแห่งเดียวและแห่งแรกของประเทศไทย พืชชนิดนี้เป็นดอกไม้ประเภทหัว มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ มีหลากหลายสายพันธุ์ ใช้ได้ทั้งเป็นไม้ตัดดอก ไม้ประดับ และไม้กระถาง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ประเภทไม้หัวยืนต้น หรือกลุ่มที่ไม่มีการพักตัว ใบเขียวเข้มเป็นมัน มีดอกสีขาว ช่อดอกตั้งอยู่ตรงกลางฐานดอกที่มีสีแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดและพันธุ์ช่อดอกจะประกอบด้วยกลุ่มเกสรตัวผู้อยู่ด้านบน ซึ่งเมื่อแก่จะพบละอองสีเหลืองอยู่มากมายและเกสรตัวเมียเมื่อแก่จะมีน้ำเมือกเหนียวๆ ติดอยู่ด้านล่างของช่อดอก    เมื่อดอกได้รับการผสมพันธุ์จะติดเมล็ด    เมล็ดจะเริ่มแก่และเนื้อหุ้มเมล็ดมีสีส้มหลังการผสม  30  วัน คาลล่า ลิลลี่จะออกดอกตลอดปี ดอกดกในช่วงฤดูร้อน ปริมาณดอกจะลดลงในช่วงฤดูฝน มีทั้งต้นสูงและต้นแคระสามารถใช้ปลูกเป็นต้นไม้ตัดดอกและปลูกเพื่อตกแต่งสถานที่ ชอบแสงอาทิตย์ เจริญเติบโตได้ดีภายใต้การพรางแสง 50-70 เปอร์เซ็นต์ จึงจะให้ดอกที่มีคุณภาพ  ปริมาณการออกดอกประมาณ 15-17 ดอกต่อกอต่อปี ดอกสามารถปักแจกันในน้ำธรรมดาได้นาน 7-14 วัน ช่วงที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือเดือนมีนาคม และให้ผลผลิตต่ำสุดในเดือนกรกฎาคม ส่วนกลุ่มที่ 2 ประเภทไม้หัวล้มลุกหรือกลุ่มที่มีการพักตัว มีการผลิตหัวใต้ดินและพักตัวในฤดูหนาว ลักษณะการเจริญเติบโตรูปร่างและสีของใบแตกต่างในแต่ละพันธุ์ จำนวนดอกต่อต้นขึ้นอยู่กับขนาดของหัวพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมปลูกกันในปัจจุบัน ได้แก่ Black eye, Black magic, Childsiana, Green calla และ Sunlight

คาลล่า ลิลลี่ เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง โดยพื้นที่ปลูกมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,250 เมตร ขึ้นไป ค่าอุณหภูมิที่เหมาะสมเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 18-24 องศาเซลเซียส ในการทดลองวิจัยระยะแรกๆ ของสถานีวิจัยดอยปุยนั้น มีการนำหัวพันธุ์เข้ามาทดลองปลูกเพียง 5 หน่อ โดยในหนึ่งหน่อสามารถแยกต้นได้ประมาณ 10 ต้น จนกระทั่งปัจจุบันนี้มีการขยายพันธุ์คาลล่า ลิลลี่ กว่า 3,000 ต้น ช่วงแรกที่ทดลองปลูกนั้นได้นำหัวพันธุ์คาลล่า ลิลลี่ ลงดินปลูกกลางแจ้ง แต่ประสบกับปัญหาคือ คาลล่า ลิลลี่ ที่ได้มีลักษณะต้นเตี้ย ก้านดอกสั้นไม่ยาวตามปกติ จึงแก้ปัญหาโดยการนำซาแรนมาคลุมพรางแสงบริเวณแปลงปลูกเพื่อให้มีแสงแดดรำไรส่องถึงต้น จากวิธีดังกล่าวทำให้ก้านของคาลล่า ลิลลี่ มีความยาวเพิ่มขึ้นถึง 90 เซนติเมตร และก้านยาวน้อยที่สุด 25 เซนติเมตร นอกจากจะมีก้านที่ยาวแล้วยังส่งผลให้ดอกคาลล่า ลิลลี่ ที่ได้มีความสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย

การปลูกคาลล่า ลิลลี่ นั้น สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะดีที่สุด การปลูกคาลล่า ลิลลี่ ในกลุ่มไม้หัวล้มลุก ต้องเป็นดินที่มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ขัง เพราะจะทำให้หัวเน่าได้ง่าย ระยะปลูกขึ้นอยู่กับขนาดของหัวพันธุ์ ถ้าหัวขนาด 1-3 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูก 12-15 เซนติเมตร หัวขนาด 4-6 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูกขนาด 20-25 เซนติเมตร แต่ในการทดลองของสถานีวิจัยดอยปุยจะเว้นระยะห่างในการปลูกเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ 50-70 เซนติเมตร โดยยกแปลงปลูกห่างจากพื้นดิน 20-30 เซนติเมตร หลังจากนั้น ให้ขุดหลุมปลูกให้ดินคลุมหัวแล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ย สูตร 15-15-15 และก่อนที่จะนำหน่อคาลล่า ลิลลี่ ลงแปลงปลูก จะนำไปแช่ในน้ำยากันเชื้อราก่อนเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดในแปลงปลูก นั่นก็คือสารละลายจิบเบอเรลลิน ซึ่งสามารถกระตุ้นการออกดอกและเพิ่มจำนวนดอกต่อวัน การใช้สารละลายนี้มีวิธีการใช้หลายๆ วิธี แต่วิธีที่นิยมและได้ผลดีที่สุดคือ การจุ่มหัวพันธุ์ลงในสารละลายจิบเบอเรลลิน ที่มีความเข้มข้น 50-100 ส่วนต่อล้านส่วน จากนั้นใช้ปุ๋ยคอกโรยให้ทั่วทั้งแปลงปลูกแล้วรดน้ำให้ชุ่มทั่วทั้งแปลง ตามด้วยการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งให้ดอก โดยรดน้ำเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง คือเวลาเช้า และเวลาเย็น ที่สำคัญในการรดน้ำนี้ต้องรดแบบชุ่มน้ำ เนื่องจากพันธุ์คาลล่า ลิลลี่ ที่ปลูกในสถานีวิจัยดอยปุยเป็นพันธุ์ที่ไม่มีการพักตัว ซึ่งแตกต่างจากอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีการพักตัวโดยหลังจากตัดดอกแล้ว ต้องลดการให้น้ำจนกระทั่งใบเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองและแห้งตาย และยังงดการใช้น้ำจนเข้าสู่ระยะพักตัว

การคัดเลือกหัวพันธุ์ในการปลูกก็ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการออกดอกด้วย ถ้าเลือกหัวพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่หลังจากที่ปลูกแล้วจะสามารถให้ดอกได้ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน แต่ถ้าหัวพันธุ์มีขนาดเล็กกว่า ระยะเวลาการให้ดอกจะนานถึง 6 เดือน หากหัวพันธุ์มีตาหน่ออยู่แล้ว จะออกดอกได้ทันทีหลังจากที่ปลูกไปแล้วประมาณ 1 อาทิตย์ ฤดูกาลออกดอกนั้นคาลล่า ลิลลี่ จะให้ดอกตลอดทั้งปี ดอกจะออกมาในช่วงฤดูหนาวต้นฤดูร้อน แต่จะออกดอกมากที่สุดเดือนมีนาคม ขนาดของดอกจะแบ่งออกเป็น 3 เกรด ตามความยาวของก้าน เกรดเอ มีขนาดความยาวก้านตั้งแต่ 60 เซนติเมตร ขึ้นไป จนถึง 90 เซนติเมตร เกรดบี มีขนาดความยาวก้านตั้งแต่ 45 เซนติเมตร ขึ้นไปจนถึง 60 เซนติเมตร และเกรดซี มีขนาดตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ขึ้นไป

คุณบัวบาง ยะฮูป กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ปลูกคาลล่า ลิลลี่ ไปแล้ว ต้นจะเริ่มแตกหน่อและทยอยแตกหน่อไปเรื่อยๆ จากหนึ่งหน่อ กลายเป็น 10-12 หน่อ แต่ถ้าปลูกไปนานๆ แล้วคุณภาพของต้นจะโทรม จะส่งผลให้ดอกไม่มีคุณภาพ ซึ่งแก้ไขได้โดยการขุดหน่อจากต้นเดิมไปปลูกเพื่อขยายพันธุ์ใหม่ และถ้าไม่เปลี่ยนแปลงปลูกใหม่ ก็ควรจะปรับปรุงคุณภาพดินในแปลงเดิม โดยการใช้ปุ๋ยคอกและปูนขาวโรยให้ทั่วทั้งแปลงก่อนนำหัวพันธุ์ลงปลูกอีกครั้ง ส่วนแมลงศัตรูของคาลล่า ลิลลี่ ที่พบมากที่สุดคือ หนอน เพลี้ยอ่อน ทาก และหนอนเจาะลำต้น สามารถป้องกันกำจัดได้โดยใช้ยาสัมผัส และยาดูดซึม โรคที่เป็นปัญหามากที่สุดของ คาลล่า ลิลลี่ คือ โรคเน่าเละ เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย จะพบมากในกลุ่มของพันธุ์ที่มีการพักตัว โดยเฉพาะแปลงที่มีความชื้นสูง สามารถป้องกันกำจัดโดยใช้ยา บอร์โด มิกซ์เจอร์ เอ็มแชด , คอปเปอร์ ออกซีคลอไรด์

ส่วนการขยายพันธุ์คาลล่า ลิลลี่ สามารถทำได้หลายวิธีคือ การเพาะเมล็ด ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมทำเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ผลิตลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆ แปลกๆ แต่ไม่นิยมทำในการผลิตเพื่อตัดดอก การขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อหรือการแยกหัวออกย่อยจากหัวใหญ่ จะทำให้เพิ่มปริมาณได้อย่างมาก  ถ้าขยายพันธุ์โดยใช้หน่อขนาดใหญ่จะทำให้ออกดอกภายใน 2 เดือน แต่ถ้าใช้หน่อขนาดเล็กปลูกจะใช้เวลาการเลี้ยงต้นเพื่อเจริญเติบโต และพร้อมให้ดอกนาน 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่อ ส่วนในกลุ่มที่มีการพักการให้ดอก ขึ้นอยู่กับขนาดของหัวพันธุ์ หัวพันธุ์ที่มีขนาดเล็กจะต้องปลูกเลี้ยงหัวเพื่อให้หัวมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงจะสามารถปลูกเพื่อตัดดอกได้ การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้ถ้าหากมีการขยายพันธุ์ต่อเนื่องกันซ้ำๆ หลายปี จะทำให้เกิดการสะสมโรคได้ จึงไม่นิยมขยายพันธุ์ต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 3 ปี อีกวิธีการหนึ่งคือการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการขยายพันธุ์ที่สามารถเพิ่มปริมาณต้นได้จำนวนมากในระยะสั้น นิยมทำกันในการปลูกเพื่อตัดดอกเป็นการค้า หลังจากนำต้นออกจากขวดสามารถให้ดอกได้ภายใน 6-7 เดือน ส่วนในกลุ่มที่มีการพักตัว การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้หลังจากนำต้นออกจากขวดจะต้องปลูกเพื่อให้ได้หัวพันธุ์มีขนาดที่เหมาะสมโดยต้องปลูก 2-3 ครั้ง เพื่อให้ได้หัวขนาด 4-5 เซนติเมตร จึงจะสามารถปลูกเพื่อตัดดอกได้

การขุดและการเก็บรักษาหัวพันธุ์ หลังจากคาลล่า ลิลลี่ให้ดอกสักระยะหนึ่งพืชจะเริ่มเปลี่ยนสีเหลือง และค่อยๆ แห้ง หัวคาลล่า ลิลลี่จะเริ่มโตขึ้น และสร้างผิวด้านนอกให้หนาขึ้น หลังจากขุดหัว จากนั้นนำมาล้างหัวพันธุ์ให้สะอาดปราศจากดินที่ติดมา แล้วจุ่มหัวด้วยยากันเชื้อรานาน 5-10 นาที ผึ่งให้หัวแห้ง 4-6 ชั่วโมง และรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 20-24 องศาเซลเซียส จะทำให้หัวคาลล่า ลิลลี่พร้อมที่จะปลูกได้ภายใน 6-8 อาทิตย์ การเก็บหัวไว้ที่อุณหภูมิ 4-8 องศาเซลเซียส มีผลเสียต่อการออกดอก และการงอกของพันธุ์ ถ้าเก็บหัวพันธุ์ไว้นานเกิน 15-20 อาทิตย์ จะทำให้มีดอกน้อยลง และก้านดอกสั้น

เรียบเรียงโดย

วิทวัส ยุทธโกศา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สวพ.มก. 
โทรศัพท์ 0-2561-1474