โปรแกรมวัดความยาวของลูกกุ้ง

นักวิจัย มก.พัฒนาโปรแกรมวัดความยาวลูกกุ้งจากการถ่ายภาพดิจิตอล เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อขายลูกกุ้งของเกษตรกร

แนวทางปฏิบัติโดยปกติของการซื้อขายลูกกุ้งของเกษตรกร จะมีการสุ่มวัดความยาวของลูกกุ้ง เพื่อวัดอัตราการเจริญเติบโตสำหรับใช้เป็นมาตรฐานก่อนมีการซื้อขายลูกกุ้ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวโดยปกติจะใช้เวลาค่อนข้างมากและจำเป็นต้องใช้แรงงานคนในการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดระหว่างการปฏิบัติอันเนื่องมาจากความไม่ชำนาญของแรงงาน และมีปริมาณงานที่แรงงานต้องปฏิบัติค่อนข้างมาก

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโปรแกรมวัดความยาวของลูกกุ้ง โดย รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี อาจารย์ประจำภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวยังสามารถแสดงจำนวนของลูกกุ้งในแต่ละช่วงความยาวได้ด้วย

การใช้งานโปรแกรมวัดความยาวของลูกกุ้ง (Post Larval Shrimp Measurement Program; PLSM) โดยการปฏิบัติงานเริ่มจากการถ่ายภาพลูกกุ้งที่ต้องการวัด จากนั้นโหลดรูปเข้าสู่โปรแกรม ทำการวัดโดยการลากเม้าท์บนตัวลูกกุ้งที่ต้องการวัด โปรแกรมจะแสดงค่าความยาวเฉลี่ย(Mean)  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation;SD) สัมประสิทธ์ความผันแปร (Coefficient of variation; CV)  ค่าน้อยที่สุด (Min) และค่ามากที่สุด (Max) รวมถึงแสดงจำนวนของลูกกุ้งในแต่ละช่วงความยาวออกมา นอกจากแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือ ยังสามารถพิมพ์ผลออกมาทางเครื่องพิมพ์ หรือส่งข้อมูลไปยังโปรแกรม Microsoft excel ได้

ทั้งนี้ความแม่นยำจะขึ้นอยู่กับฐานข้อมูล ความชัดเจนของรูปถ่าย และการลากเส้น นับว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรอย่างมากในการซื้อขายลูกกุ้ง  ช่วยลดเวลา และแรงงานในการปฏิบัติงานด้วยการติดตั้งโปรแกรมในการวัดความยาวลูกกุ้งไว้ใช้งาน

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี

ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

คณะประมง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่อง/สื่อเผยแพร่  : วันเพ็ญ  นภาทิวาอำนวย 

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                    สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี