การเพาะเลี้ยงปลานิลแปลงเพศ/กำจัด รื่นเริงดี

 

เรื่อง  การเพาะเลี้ยงปลานิลแปลงเพศ

ในชีวิตประจำวัน ร่างกายของคนเราควรที่จะรักษาระดับภูมิคุ้มกันให้สูงอยู่เสมอ ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากโปรตีนที่บริโภค วิธีที่ดีที่สุดคือการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูง ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดของการบริโภคเนื้อสัตว์โปรตีนสูงก็คือ การบริโภคปลานั่นเอง เพราะในปลานั้นมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง การบริโภคปลาทุกวันจึงเป็นอีกทางหนึ่งในการเพิ่มภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ท่านคงพอรู้จักกับปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยมีการบริโภคปลาชนิดนี้สูงถึง 30 % ของการบริโภคปลาทั้งหมด เพราะเป็นปลาที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ อีกทั้งยังมีราคาย่อมเยา สามารถหาซื้อมารับประทานได้ตามท้องตลาดทั่วไปอีกด้วย ปลาชนิดนี้ก็คือ ปลานิล นั่นเอง

ความเป็นมาของปลานิลในบ้านเรานั้น เนื่องมาจากเมื่อประมาณวันที่ 25 มีนาคม 2508 พระจักรพรรดิอากิฮิโตแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ทรงจัดส่งปลานิลจำนวน 50 ตัว มาทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งในระยะแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดินเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางเมตร ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และหลังจากที่ได้เลี้ยงมา 5 เดือนกว่า ก็ปรากฏว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทีเดียว ซึ่งในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ายพันธุ์ปลาจากบ่อเดิมไปปล่อยในบ่อใหม่ทั้ง 6 บ่อ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2508 ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการมาตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2509 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”

ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา พบได้ทั่วไปตามหนอง บึงและทะเลสาบ ในประเทศซูดาน ยูกันดา แทนแกนยีกา รูปร่างลักษณะของปลานิลคล้ายกับปลาหมอเทศแต่ลักษณะพิเศษของปลานิลก็คือ ริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน ที่บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว ตามลำตัวมีลายพาดขวางจำนวน 9-10 แถบ ครีบหลังมีเพียง 1 ครีบ ประกอบด้วยก้านครีบแข็งและก้านครีบอ่อนเป็นจำนวนมาก ครีบก้นประกอบด้วยก้านครีบแข็งและอ่อนเช่นกันมีเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัว 33 เกล็ด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้ม ที่กระดูกแก้มมีจุดสีเข้มอยู่จุดหนึ่ง บริเวณส่วนอ่อนของครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางนั้นจะมีจุดสีขาวและสีดำตัดขวาง ดูคล้ายลายข้าวตอกอยู่โดยทั่วไป

ปลานิลมีอายุการเจริญพันธุ์ประมาณ 4-6 เดือน ปลานิลเพศผู้จะมีสีชมพูอมแดงใต้บริเวณคาง บนครีบหางและครีบหู ขณะที่เพศเมียจะมีคางออกสีเหลือง อย่างไรก็ตาม การแยกเพศปลาจะสามารถดูได้ที่ติ่งเพศเป็นหลัก โดยปลานิลเพศเมียมีติ่งเพศรูปไข่ปลายมน ในขณะที่ติ่งเพศของปลาเพศผู้ค่อนข้างเรียวปลายแหลม ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ติ่งเพศของปลาเพศเมียมีช่องเปิด 2 ช่อง โดยช่องเปิดของปัสสาวะอยู่ที่ปลายติ่ง ถัดเข้ามาจะมีช่องตามขวางบนติ่งเพศเป็นทางออกของไข่ ส่วนปลานิลเพศผู้ ติ่งเพศจะมีทางออกช่องเดียวที่ปลายติ่งเพศ

ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดที่ประเทศต่างๆ ยอมรับว่าเป็นปลาที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการเพาะเลี้ยง สามารถแพร่พันธุ์ได้ดีจนพบทั่วภูมิภาคของโลก เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเลี้ยงแบบต่างๆ ได้ดี มีการเจริญเติบโตเร็วและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงทำให้มีการเลี้ยงปลานิลกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ปลานิลจัดเป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกชนิดโดยเฉพาะสาหร่าย เศษซากเน่าเปื่อย แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ ตลอดจนสัตว์หน้าดิน เป็นปลาที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้แม้ในน้ำกร่อยซึ่งสามารถทนความเค็มได้ถึง 20 ส่วนในพัน ทนต่ออุณหภูมิและความเป็นกรด-ด่างของน้ำในช่วงกว้าง และจากการที่ปลานิลเพศผู้นั้นจะมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าปลานิลเพศเมียโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจริญพันธุ์แล้ว จึงทำให้มีผู้สนใจที่จะผลิตปลานิลเพศผู้เพื่อรองรับความต้องการของตลาดกันมากขึ้น

สำหรับการเพาะพันธุ์ปลานิลเพศผู้นั้นเกิดขึ้นจากการศึกษาวิจัยในความดูแลของอาจารย์กำจัด รื่นเริงดี หัวหน้าสถานีวิจัยประมงกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งมีวิธีการแปลงเพศปลานิลได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การคัดเพศ การผสมข้ามสายพันธุ์ การใช้เทคนิคทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการใช้ฮอร์โมนในการกระตุ้นให้ลูกปลาเปลี่ยนเพศ ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากยิ่งขึ้นโดยการเลี้ยงปลานิลเพศผู้เพศเดียว อย่างไรก็ตาม พบว่าการคัดเพศ การผสมข้ามสายพันธุ์ และการใช้เทคนิคทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตลูกปลานิลเพศผู้ล้วนนั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากในการปฏิบัติและการจัดการ แต่การเพาะพันธุ์ลูกปลานิลเพศผู้โดยการใช้ฮอร์โมนนั้นเป็นวิธีการที่สะดวก มีการจัดเก็บพ่อแม่พันธุ์ที่ง่าย ไม่จำกัดสายพันธุ์และยังให้ประสิทธิภาพในการแปลงเพศสูงไม่น้อยกว่า 90% ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่าย การเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศนั้นเริ่มจากการเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ก่อน ซึ่งถ้าเป็นบ่อดินควรเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเนื้อที่ตั้งแต่ 50-1,600 ตารางเมตร โดยให้สามารถกักเก็บน้ำได้ระดับสูง 1 เมตร บ่อควรมีเชิงลาดตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ถ้าเป็นบ่อเก่าก็ควรวิดน้ำและสาดเลนขึ้น แล้วตกแต่งภายในบ่อให้ดินแน่น แล้วนำปูนขาวมาโรยให้ทั่วบ่อ จากนั้นตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วจึงเปิดหรือสูบน้ำเข้าบ่อผ่านผ้ากรองหรือตะแกรงตาถี่ให้มีระดับสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งการใช้บ่อดินเพาะปลานิลนั้นจะมีประสิทธิภาพดีกว่าวิธีอื่น เพราะเป็นบ่อที่มีลักษณะคล้ายคลึงตามธรรมชาติ และการผลิตปลานิลจากบ่อดินก็จะได้ผลผลิตสูง ต้นทุนก็ต่ำกว่าวิธีอื่นด้วย แต่ถ้าหากเกษตรกรใช้การเลี้ยงในกระชัง ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยใช้กระชังไนล่อนตาถี่ ขนาดของกระชังประมาณ 2 x 3 x 1.5 เมตร วางกระชังในบ่อดิน หรือในหนองบึง อ่างเก็บน้ำ ให้พื้นกระชังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำประมาณ 1 เมตร และใช้หลักไม้ 4 หลักผูกตรงมุมยึดปากและพื้นกระชังให้แน่นเพื่อให้กระชังขึงตึง ในกรณีที่เกษตรกรไม่มีพื้นที่ดินนั้น การผลิตลูกปลานิลโดยการเพาะโดยวิธีนี้จะมีความเหมาะสม เพราะทำให้สามารถเพาะเลี้ยงปลาได้ เช่นการเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำ หนอง บึงและลำน้ำต่างๆ ถ้าบ่อที่ใช้เพาะเป็นบ่อปูนซีเมนต์ เกษตรกรก็สามารถใช้เพาะพันธุ์ลูกปลานิลได้เช่นกัน ซึ่งรูปร่างของบ่อนั้นจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือรูปวงกลมก็ได้ มีความลึกประมาณ 50 ซม. – 1 เมตร พื้นที่ผิวน้ำตั้งแต่ 10 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งต้องทำความสะอาดบ่อจากนั้นจึงเติมน้ำที่กรองด้วยผ้าไนล่อนหรือมุ้งลวดตาถี่ ให้มีระดับน้ำสูงประมาณ 50-80 ซม. ถ้าจะใช้เครื่องเป่าลมช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำก็จะช่วยทำให้การเพาะปลานิลด้วยวิธีนี้ได้ผลมากขึ้น ซึ่งการเพาะปลานิลด้วยบ่อซีเมนต์นั้น ถ้าต้องการที่จะทำให้ได้ลูกปลามากก็จะต้องใช้บ่อขนาดใหญ่ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงขึ้น หลังจากนั้นเกษตรกรจึงนำพ่อแม่ปลานิลมาปล่อยลงเพาะพันธุ์ ซึ่งจากที่ได้มีการสังเกตพฤติกรรมในการผสมพันธุ์ของปลานิลแล้ว พบว่าปลาตัวผู้มีสมรรถภาพที่จะผสมพันธุ์กับปลาตัวเมียอื่นๆได้อีก ดังนั้นการเพิ่มอัตราส่วนของปลาตัวเมียให้มากขึ้น คาดว่าจะได้ลูกปลานิลเพิ่มขึ้นด้วย  การเพาะปลานิลในกระชังใช้อัตราส่วนของปลา 6 ตัวต่อตารางเมตร โดยใช้ตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 3-5 ตัว และให้อาหารเลี้ยงอีกประมาณ 5-7 วัน จากนั้นจึงทำการตรวจสอบแม่ปลาเพื่อทำการเก็บรวบรวมไข่ที่ได้รับการเพาะ มาเพาะในโรงเพาะฟักต่อไป

การอนุบาลลูกปลานิลแปลงเพศนั้นเริ่มตั้งแต่การนำไข่ปลานิลที่เคาะได้จากแม่ปลามาแยกระยะต่างๆ ของลูกปลาและทำความสะอาดเอาเศษตะกอนและขยะออก ซึ่งไข่ปลานิลแบ่งออกได้ 5 ระยะ คือ

ระยะที่ 1           ไข่จะมีสีน้ำตาล หรือสีเหลือง

ระยะที่ 2           ไข่เริ่มมองเห็นดวงตาเป็นจุดสีดำ 2 จุด

ระยะที่ 3           เราสามารถมองเห็นดวงตาได้ชัดเจน และมีหางใสๆ ออกมา

ระยะที่ 4           ไข่จะมีการฟักออกมาเป็นตัวแต่จะยังมีส่วนที่เป็นโยล์คหรือส่วนที่เป็นแหล่งสะสมอาหารของตัวอ่อนติดอยู่ และ

ระยะที่ 5           ส่วนที่เป็นโยล์คจะยุบหายไป

เมื่อเราแยกระยะไข่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำไข่ไปทำการชั่งน้ำหนักเพื่อหาจำนวนไข่ จากนั้นให้นำไข่ระยะที่ 1 และ 2 มาใส่ลงในกรวยฟักไข่และปรับกระแสน้ำให้เหมาะสม เมื่อฟักไข่เป็นตัวให้นำมาอนุบาลในบ่อปูนขนาด 2 x 3 x 0.5 เมตร ใส่น้ำลึก 30 ซม. ในขนาดความหนาแน่น 5,000 ตัวต่อตารางเมตร และต้องทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อทุกวันหรือวันเว้นวัน เมื่อลูกปลานิลอายุได้ 10 วัน ก็ทำการย้ายลูกปลาลงไปอนุบาลต่อในกระชังที่แขวนลอยไว้ในบ่อดิน โดยให้กระชังมีขนาด 2 x 3 x 1.5 เมตร โดยให้ก้นกระชังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ 1 เมตร จากนั้นจึงทำการอนุบาลลูกปลานิลแปลงเพศต่อจนลูกปลามีอายุ 21-25 วัน จึงเลิกให้อาหารผสมฮอร์โมนกับลูกปลานิล ซึ่งจะได้ลูกปลานิลที่มีขนาดประมาณ 1.5 ซม. น้ำหนักประมาณ 0.5 กรัม

ในการแปลงเพศลูกปลานิลโดยการใช้ฮอร์โมนนั้น เป็นการเพาะพันธุ์ลูกปลานิลเพศผู้ทั้งหมด โดยวิธีการใช้ฮอร์โมนสเตียรอยด์สังเคราะห์ผสมในอาหารให้ลูกปลาวัยอ่อนกินในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปลาเพศเมียโดยไม่มีผลต่อปลาเพศผู้ในรุ่นเดียวกัน ข้อดีของการแปลงเพศโดยการใช้ฮอร์โมนคือ เราสามารถเปลี่ยนเพศได้จากการเพาะพันธุ์ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องจัดหาพ่อแม่พันธุ์สายพิเศษ ซึ่งในการผลิตลูกปลานิลด้วยวิธีนี้ยังสามารถปรับปรุงหรือดัดแปลงได้ง่าย และสามารถทำได้ทั้งในบ่อดิน กระชังหรือบ่อซีเมนต์

ขั้นตอนการผสมอาหารฮอร์โมน สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้ ขั้นแรกคือ ละลายฮอร์โมนสเตียรอยด์สังเคราะห์ 60 มิลลิกรัมในเอธานอล 240 ซีซี เก็บในขวดสีชาใส่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยให้เก็บฮอร์โมนไว้ได้นาน จากนั้นทำการฉีดสเปรย์ฮอร์โมนลงไปบนปลาป่นที่ร่อนแล้วจำนวน 1 กก. แล้วนำไปผึ่งให้แห้งประมาณ 12 ชั่วโมง เพื่อให้เอธานอลระเหยออกไปให้หมด หลังจากนั้นจึงเก็บอาหารที่ผึ่งแล้วใส่ภาชนะเก็บไว้ในตู้เย็น ในการคำนวณอัตราส่วนของอาหารนั้น หากปลาป่น 1 กก. จะใช้ฮอร์โมนสเตียรอยด์สังเคราะห์ 60 มิลลิกรัม และใช้เอธานอล 240 ซีซี  ดังนั้น ถ้าเราใช้ปลาป่น 20 กก.ก็จะต้องใช้ฮอร์โมนสเตียรอยด์สังเคราะห์ 1.2 กรัมและใช้เอธานอล 4800 ซีซี

ในการให้อาหารฮอร์โมนแก่ลูกปลานิล 3,000 ตัวในกระชังขนาด  2 x 3 x 1.5 เมตร  มีอัตราการให้ที่แตกต่างกันคือ วันที่ 1-10 จะให้อาหารผสมฮอร์โมนในปริมาณ 30% ของน้ำหนักตัว และในวันที่ 11-21 จะให้อาหารผสมฮอร์โมนในปริมาณ 20% ของน้ำหนักตัว อาหารที่ลูกปลานิลแปลงเพศกินหลังจากที่ได้รับฮอร์โมนผสมกับอาหารป่นไปแล้ว คือรำละเอียด 3 ส่วน ผสมกับปลาป่นละเอียด 1 ส่วน หรือจะให้ปลาป่นร่อนละเอียดเพียงอย่างเดียวก็ได้ซึ่งจะทำให้อัตราการรอดตายเพิ่มสูงขึ้นและโตเร็วขึ้น โดยให้ติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 4-5 สัปดาห์ ลูกปลาจะโตขึ้นมีขนาด 3-5 ซม. จากนั้นจึงสามารถนำไปเลี้ยงในบ่อปลาขนาดใหญ่ต่อไป ซึ่งในบ่อเลี้ยงควรมีการเตรียมอาหารธรรมชาติในบ่อก่อนที่จะนำลูกปลาไปปล่อย เพราะจะได้อาหารธรรมชาติที่มีโปรตีนและราคาถูก ซึ่งทำได้การโดยใช้ปุ๋ยคอก เช่น ปุ๋ยมูลไก่ หรือมูลวัว 200-300 กก.ต่อไร่ใส่ลงไปในบ่อ การใช้ปุ๋ยคอกควรระวังในเรื่องของสารตกค้าง เนื่องจากอาจทำให้ปลานิลได้รับสารเหล่านั้นเข้าไปได้ นอกจากปุ๋ยคอกแล้วยังสามารถใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15 15 15 ในอัตรา 5 กก.ต่อไร่ นอกจากอาหารธรรมชาติแล้ว การให้อาหารสมทบจะเป็นการเร่งให้ปลาที่เลี้ยงเจริญเติบโตเร็วขึ้นด้วย เช่น รำ ปลายข้าว ซึ่งจะมีโปรตีนประมาณ 20%  เศษอาหารที่เหลือจากโรงครัว อาหารประเภทพืชผัก เช่น แหนเป็ด สาหร่าย ผักตบชวาสับให้ละเอียด เป็นต้น อาหารสมทบเหล่านี้ควรเลือกชนิดที่มีราคาถูกและหาได้ง่าย ส่วนปริมาณที่ให้ไม่ควรเกิน 4% ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง แต่ถ้าเลี้ยงปลาในอัตราที่หนาแน่น ควรใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีระดับโปรตีน 30% จึงจะทำให้ปลานิลมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ เพราะอาหารธรรมชาติในบ่ออาจจะมีไม่เพียงพอต่อจำนวนปลาที่หนาแน่น

เรียบเรียงโดย

วิทวัส ยุทธโกศา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สวพ.มก. 
โทรศัพท์ 0-2561-1474