มารู้จักสบู่ดำกันเถอะ/สายัณห์ ทัดศรี

เรื่อง  มารู้จักสบู่ดำกันเถอะ

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า น้ำมันปิโตรเลียมเป็นพลังงานที่สำคัญของโลกและประเทศไทยได้มีการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้าน และนับวันจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ต้องเสียเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ประกอบด้วยในปัจจุบัน น้ำมันปิโตรเลียมมีราคาต่อหน่วยเพิ่มมากขึ้น และมีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลาไม่แน่นอน ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าไทยนั้นสูงขึ้น นักวิชาการหลายท่านจึงพยายามที่จะคิดค้นพลังงานทดแทนต่างๆ ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และในขณะนี้ก็ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน ซึ่งวิธีเหล่านี้ได้รับความนิยมจากประชาชนกันมากขึ้น

นอกจากวิธีการประหยัดพลังงานตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยและค้นพบว่า มีพืชหลายชนิดที่สามารถนำมาสกัดน้ำมันเพื่อใช้ผลิตน้ำมันดีเซลชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไบโอดีเซลได้ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก และพืชอื่นๆอีกหลายชนิด  ซึ่งมีพืชชนิดหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ และกำลังทำการศึกษาค้นคว้ากันอย่างต่อเนื่อง พืชชนิดนี้ก็คือ  สบู่ดำ นั่นเอง หลายท่านอาจจะยังไม่รู้จักต้นสบู่ดำ และสบู่ดำสามารถนำมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้อย่างไร และวิธีการปลูกนั้นเป็นอย่างไร เรามารู้จักสบู่ดำกันเถอะ

สบู่ดำ เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลไม้ยางพารา เช่นเดียวกันกับสบู่แดง ปัตตาเรีย ฝิ่นต้น หนุ-มานนั่งแท่น โป๊ยเซียน มันสำปะหลัง มะยม มะขามป้อม ผักหวานบ้าน สบู่ดำ มีชื่อภาษาไทยตามภูมิภาคต่างๆคือ ภาคเหนือ เรียกว่า มะหุ่งฮั้ว มะหัว มะโห่ง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า มะเยา หรือสีหลอด หรือหมักเยา ภาคกลาง เรียกว่า สบู่ดำ สบู่หัวเทศ สลอดดำ สลอดใหญ่ สีหลอด ภาคใต้ เรียกว่า มาเคาะ มะหุงเทศ เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ สูง 2-5 เมตร เปลือกต้นเรียบลื่น บาง มีสีเขียว มียางสีขาวปนเทา ใบบางรูปหัวใจ ขอบใบหยัก 3-5 ลอน เส้นใบมีลักษณะคล้ายนิ้วมือ 5-7 เส้น ดอกขนาดเล็กเป็นดอกช่อ ออกดอกตลอดปี ผลอ่อนสีเขียว แต่เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดกลมรี สีดำ ผิวเรียบลื่น สบู่ดำเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อรับซื้อเมล็ดไปคัดบีบเอาน้ำมันสำหรับทำสบู่ เมล็ดสบู่ดำมีสารพิษเรียกว่า เคอร์ซิน หากบริโภคแล้วทำให้เกิดอาการท้องเดินเหมือนสลอด แต่กากสบู่ดำมีธาตุอาหารใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ ในชนบทยังใช้สบู่ดำเป็นยาสมุนไพรกลางบ้าน โดยใช้ยางจากก้านใบป้ายรักษาโรคปากนกกระจอก ห้ามเลือดและแก้ปวดฟัน รวมทั้งผสมน้ำนมมารดากวาดป้ายลิ้นเด็กที่มีฝ้าขาวหรือคอเป็นตุ่ม และใช้ส่วนของลำต้นมาตัดเป็นท่อน ๆ ต้มให้เด็กกินแก้โรคซางหรือตานขโมยได้อีกด้วย

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเกิดการขาดแคลนน้ำมันก๊าดสำหรับจุดตะเกียง เกษตรกรทางภาคอีสานได้นำเมล็ดสบู่ดำมาตำให้ละเอียด ใช้จุดให้แสงสว่างแทนเทียนไขได้เป็นอย่างดี หรือมีการนำเอากากของเมล็ดที่สกัดน้ำมันออกแล้วมาใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ใช้จุดแทนเทียนไขได้ดีเช่นกัน น้ำมันสบู่ดำจะมีลักษณะใสที่อุณหภูมิต่ำ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้น้ำมันได้ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น และมีค่าไอโอดีนสูงจึงมีคุณสมบัติในการแห้งเร็ว จึงอาจมีการนำไปใช้เป็นน้ำมันทาสี น้ำมันชักเงาได้  และสิ่งที่เป็นที่สนใจและกำลังทำการศึกษาค้นคว้ากันอย่างต่อเนื่องนั้นก็คือ การนำเมล็ดสบู่ดำมาสกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ใช้กับเครื่องยนต์เพื่อเป็นการทดแทนพลังงานจากน้ำมันปิโตรเลียมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

การเตรียมสบู่ดำในการผลิตนำมันไบโอดีเซล ทำได้โดยการใช้ใช้ผลของสบู่ดำที่แก่จากต้น ซึ่งมีผลสีเหลืองถึงสีดำ นำมากะเทาะเปลือกออกให้เหลือเฉพาะเมล็ด แล้วนำไปล้างน้ำทำความสะอาด จากนั้นนำมาผึ่งลมให้เมล็ดแห้ง การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำนั้นมีวิธีการสกัดหลายวิธีด้วยกัน วิธีแรกคือ การสกัดในห้องปฏิบัติการโดยการนำเมล็ดสบู่ดำแห้งมาบดให้ละเอียด แล้วสกัดด้วยตัวทำละลายคือ ปิโตรเลี่ยมอีเทอร์ จะได้น้ำมัน 34.96 % ซึ่งเป็นการสกัดจากเมล็ดรวมทั้งเปลือก และ 54.68 % จากเนื้อเมล็ดอย่างเดียว วิธีต่อไป คือการนำผลสบู่ดำแห้ง นำไปบุบเมล็ดให้แตก โดยการทุบหรือบดหยาบ นำเมล็ดที่ได้บุบแล้วออกตากแดดเพื่อรับความร้อนประมาณ 30 นาที แล้วนำเมล็ดสบู่ดำเข้าเครื่องสกัด ซึ่งเรียกว่า เครื่องหีบน้ำมันสบู่ดำ นำน้ำมันที่ได้ไปกรองเพื่อแยกเศษผง เมล็ดสบู่ดำ 4 กิโลกรัมสกัดน้ำมันได้ 1 ลิตร  น้ำมันที่ได้จากการสกัดเมล็ดสบู่ดำสามารถใช้แทนน้ำมันดีเซลได้ โดยไม่ต้องใช้ส่วนผสมและไม่ทำให้เครื่องยนต์เสียหาย กากเมล็ดสบู่ดำที่เหลือจากการสกัดน้ำมันมีปริมาณไนโตรเจนสูง ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการจึงสามารถนำไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ของพืชได้

ข้อดีของการนำน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากสบู่ดำมาใช้นั้นพบว่าน้ำมันสบู่ดำที่สกัดทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 1-2 วัน สามารถนำไปใช้เดินเครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียวของเกษตรกรได้ดี โดยไม่ต้องผสมส่วนผสมใดๆอีก ส่วนการสึกหรอของชิ้นส่วนเครื่องยนต์นั้น ไม่แตกต่างกับการเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลปกติ อัตราการสิ้นเปลืองของน้ำมันสบู่ดำเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันดีเซลใกล้เคียงกัน ส่วนที่เหลือจากการเผาไหม้ซึ่งออกทางท่อไอเสียของเครื่องยนต์ มีปริมาณควันดำและคาร์บอนมอนนอคไซด์น้อยกว่าเครื่องยนต์ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเล็กน้อย

การปลูกสบู่ดำนั้น สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมควรเป็นดินร่วน  มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์  มีความเป็นกรดเล็กน้อย  เช่นเดียวกับพืชไร่ทั่ว ๆ ไป  แต่มีข้อควรระวัง  คือ  สบู่ดำเป็นพืชที่ไม่ทนต่อดินมีน้ำขัง  ดังนั้น  พื้นที่ที่เหมาะสมจึงต้องเป็นที่ลาดเท มีการระบายน้ำดี  อาจเป็นที่ราบเชิงเขา  ถ้าเป็นที่ราบลุ่ม  ควรทำทางระบายน้ำ  แต่จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต  หรือในกรณีที่นาดอน  เมื่อปรับที่นามาใช้เป็นไร่สำหรับปลูกสบู่ดำ  ต้องมีการทะลายคันนาออก  ให้ระบายน้ำได้เป็นอย่างดี

วิธีการปลูก หลังการไถและการพรวนดินให้ละเอียดเพียงพอสำหรับการปลูกสบู่ดำ หรือการเตรียมการปลูกโดยไม่ไถพรวนเสร็จสิ้นแล้ว  วางแนวปลูกและระยะปลูกโดยใช้ไม้ และเชือกวัดระยะ และทำแนวปลูกตามขนาดระยะที่กำหนด สามารถดำเนินแนวปลูกได้ดังนี้ การใช้เมล็ดลงปลูกโดยตรง เป็นการปลูกโดยหยอดเมล็ดในหลุมปลูกโดยตรงนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการเตรียมแปลงปลูก  กล่าวคือ  หากเตรียมแปลงปลูกอยู่ในสภาพพร้อมทุกด้าน  สามารถหยอดเมล็ดลงในแปลงปลูกโดยตรงได้  เวลาปลูกที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วงฤดูฝน ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนกันยายน เป็นช่วงที่ดินมีความชื้นที่เหมาะต่อการงอกของเมล็ด จากนั้นเจาะหลุมปลูกตามระยะที่กำหนดไว้  นำเมล็ดหยอดลงหลุมหลุมละ 1-2 เมล็ด  หยอดลึกประมาณ 2-5 เซนติเมตร  และกลบดินให้แน่น  ในดินที่มีความชื้นพอสบู่ดำจะงอกภายใน 5-7 วัน ถ้าไม่งอกให้ทำการปลูกซ่อมโดยใช้เมล็ดหรือต้นกล้าที่เพาะเตรียมไว้ หลังจากงอก 25 วันถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น

ศ.ดร.สายัณห์ ทัดศรี จากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ  ได้ทำการศึกษาการจัดการเพื่อการผลิตสบู่ดำให้ได้ผลผลิตสูง โดยการศึกษาการวางระยะการปลูกของต้นสบู่ดำแต่ละต้น การเก็บเกี่ยว การตัดแต่งต้นสบู่ดำ รวมถึงการปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันวัชพืช ซึ่งผลทางการวิจัยพบว่า สบู่ดำมีการเจริญเติบโตได้ดีภายหลังจากการย้ายปลูก โดยสังเกตจากการเจริญเติบโตในด้านความสูง สบู่ดำมีการออกดอกครั้งแรก 4 เดือนหลังการย้ายปลูก และหากมีการตัดแต่งกิ่งในช่วงระยะ 1 ปีแรกของการปลูกจะทำให้สบู่ดำมีการออกดอกน้อยกว่าสบู่ดำที่ไม่ได้รับการตัดแต่งกิ่งเลย การตัดแต่งกิ่งสบู่ดำนั้นควรตัดแต่งกิ่งในปีที่ 2 เพราะสบู่ดำเจริญเติบโตในด้านความสูงมาก ทำให้การเก็บเกี่ยวมีความลำบาก และการวางระยะในการปลูกสบู่ดำนั้น ควรใช้ระยะปลูก 2×3 เมตร ซึ่งการเก็บเกี่ยวในครั้งแรกจะได้ผลผลิตเมล็ดที่ดีที่สุดคือ 61 กก.ต่อไร่ พื้นที่ระหว่างแถวสบู่ดำนั้นควรมีการปลูกถั่วร่วมด้วย เพื่อเป็นการปกคลุมดินป้องกันวัชพืช โดยพันธุ์ถั่วที่เหมาะสมนั้นก็คือ ถั่วฮามาต้า และถั่วท่าพระสไตโล เพราะเป็นถั่วที่มีอายุหลายปี ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการปลูกซ้ำ

การบำรุงรักษาสบู่ดำในช่วง 1-3 เดือนแรกหลังปลูก  มีความสำคัญมาก วิธีการปฏิบัติในการดูแลบำรุงรักษา มีดังนี้ ในด้านของการให้น้ำ สบู่ดำต้องการน้ำต้นละ 5-10 ลิตรทุก ๆ 15 วัน  สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำโดยการใช้ระบบน้ำหยดเข้ามาใช้ในการผลิตเป็นการค้า ในช่วงเวลาดังกล่าวต้องให้น้ำเพียงพอเพื่อให้ต้นมีความแข็งแรง โดยสามารถให้น้ำในช่วงแห้งทุก 7-15 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพความชื้น และฤดูกาล ควรหมั่นกำจัดวัชพืชในแถวสบู่ดำอยู่เสมอ  ในพื้นที่ห่างจากแถวข้างละ 50 เซนติเมตร โดยใช้แรงงานคน หรือสารเคมี  ในระหว่างปฏิบัติงานควรระวังอย่าให้ต้นได้รับความเสียหาย  เพราะจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต และในระหว่างแถวที่เหลืออาจใช้การปลูกพืชแซมหรือดายหญ้า  หรือใช้รถไถเข้าไถพรวน การใช้ปุ๋ยบำรุงดิน ควรให้ปุ๋ยรอบ ๆ โคนต้น  และใช้จอบสับหรือคลุกแต่ไม่ควรสับลึกเกินไปเพราะอาจเกิดอันตรายกับราก

การคลุมดิน ก่อนเข้าฤดูแล้งประมาณ 1 เดือน  จะต้องมีการคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในดินให้เพียงพอกับความต้องการ วัสดุที่ใช้คลุมดิน เช่น หญ้า ฟางข้าว  หรือวัสดุอื่น ๆ  คลุมบริเวณโคนต้นห่างประมาณ 5 เซนติเมตร  หนาประมาณ  5-10 เซนติเมตร  หรืออาจใช้วิธีคลุมตลอดแถวโดยคลุมออกไปข้างละ 50 เซนติเมตร  วิธีหลังนี้จะดี เพราะสามารถรักษาความชื้นไว้ได้ตลอดฤดูกาล และยังช่วยควบคุมวัชพืชไม่ให้ขึ้นในระหว่างแถว แต่การคลุมดินต้องระวังเรื่องไฟไหม้เพราะในช่วงฤดูแล้งอากาศแห้งวัสดุคลุมแปลงอาจติดไฟได้ง่าย

การเก็บเกี่ยวเมล็ดสบู่ดำนั้นทำได้ง่ายๆ โดยเก็บทั้งช่อผล เปลือกผลที่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถือว่าเมล็ดแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้  หรืออีกกรณีหนึ่ง เมื่อผลแก่แล้ว เปลือกผลเริ่มอ้า  แสดงว่าเมล็ดภายในแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้  ถ้าเป็นต้นสูง ๆ ก็อาจใช้วิธีเขย่ากิ่งให้ผลร่วงลงดิน แล้วตามเก็บอีกที  ผลผลิตสบู่ดำ มีความแตกต่างกันไป  ขึ้นกับการดูแลรักษา และอายุของสบู่ดำ  ซึ่งการเก็บเกี่ยวเมล็ดสบู่ดำตลอดทั้งปีนั้น จะได้ผลผลิตของเมล็ดสบู่ดำประมาณ 100-500 กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้นนำผลสบู่ดำที่เก็บเกี่ยวได้มาตากแดดให้แห้ง กะเทาะเมล็ดออกจากฝัก  การนำเมล็ดไปตากแดดเพื่อให้เมล็ดแห้งอาจมีผลต่อความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์  จึงควรผึ่งไว้ในที่ร่ม  ถ้าต้องการผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ให้ลดความชื้นต่ำถึง 5-7 เปอร์เซ็นต์ และเก็บเมล็ดไว้ในภาชนะที่ปิดไม่ให้อากาศถ่ายเทในสภาพอุณหภูมิห้อง ที่ประเทศเดนมาร์คจะสามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างน้อย 1 ปี  สำหรับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น น่าจะรักษาความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์ได้น้อยกว่า 1 ปี

จะเห็นได้ว่า สบู่ดำ เป็นพืชที่น่าจับตามองอีกชนิดหนึ่ง แต่การที่เกษตรกรจะหันมาปลูกสบู่ดำ เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจนั้น เกษตรกรจะต้องศึกษา หาข้อมูล จัดหาตลาดเพื่อจำหน่าย ศึกษาวิธีการปลูก รวมไปถึงการศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์ให้ดี เพราะสบู่ดำมีอายุยืนถึง 50 ปี หากเลือกสายพันธุ์ไม่ดีก็จะต้องแบกรับภาระในเรื่องผลผลิตที่ได้น้อย และควรรวมกลุ่มในลักษณะของเศรษฐกิจชุมชนจะช่วยประหยัดการลงทุนในทุกด้านอีกด้วย ถึงแม้ผลการวิจัยจะออกมาแล้วว่า น้ำมันที่สกัดจากสบู่ดำ สามารถนำมาใช้กับเครื่องยนต์ทางการเกษตรได้ แต่งานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกสบู่ดำยังคงต้องดำเนินต่อไปเพราะยังต้องการคำตอบอีกหลายประการ เช่น การศึกษาวิธีปลูกที่เหมาะสมในพื้นที่หลายแห่งที่แตกต่างกันทั้งสภาพดินและสิ่งแวดล้อม ศึกษารูปแบบการตัดแต่งกิ่งร่วมกับการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม ศึกษาการตัดแต่งกิ่งแบบต่างๆ  ศึกษาการให้น้ำ  ศึกษาสรีรวิทยาของดอกสบู่ดำเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรวางแผน และศึกษาถึงข้อดี ข้อด้อยของการปลูกสบู่ดำก่อนที่จะลงมือปลูกจริงๆ

เรียบเรียงโดย

วิทวัส ยุทธโกศา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สวพ.มก. 
โทรศัพท์ 0-2561-1474