คำฝอยไร้หนามพันธุ์พานทอง/วาสนา วงษ์ใหญ่

เรื่อง  คำฝอยไร้หนามพันธุ์พานทอง

ในปัจจุบันนี้ได้มีการตื่นตัวที่จะแสวงหาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากพืชมาใช้ให้เกิดประโยชน์กันอย่างกว้างขวาง และถ้าเราช่วยกันให้ความสนใจศึกษาค้นคว้าจนทำให้ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ทำให้เราสามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาอาชีพให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ในหลายด้าน พืชเด่นที่น่าจะได้รับความสนใจเป็นอย่างมากชนิดหนึ่ง สำหรับคนไทยก็คือ คำฝอย

คำฝอยนั้น นับว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์อย่างมาก ในตำราของสมุนไพรไทยดอกคำฝอย เป็นส่วนผสมในตำรับยาบำรุงโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษ ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู   เกสรของดอกคำฝอย มีรสหวานร้อน ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต ขับระดู ส่วนเมล็ด มีรสหวานเย็นใช้เป็นยาถ่าย ขับเสมหะ ขับประจำเดือน แก้โรคลมเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก น้ำมันจากเมล็ด มีรสร้อน แก้อัมพาต แก้ฝี แก้ขัดตามข้อ รักษาโรคผิวหนัง และใช้ทาแก้บวมได้อีกด้วย การใช้สมุนไพรตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกับฤทธิ์ของสมุนไพรที่พบในห้องปฎิบัติการอีกด้วย  คำฝอย จึงนับว่าเป็นตัวอย่างสมุนไพรที่ดีเพราะในทฤษฎีการแพทย์แผนไทยมีการใช้ดอกคำฝอยในการบำรุงเลือด นอกจากนี้ดอกคำฝอยยังสามารถใช้เป็นสีผสมอาหารได้ โดยสีของดอกคำฝอยจะเป็นสีเหลืองส้มในกลีบดอก น้ำมันในเมล็ดของดอกคำฝอยมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ที่ชื่อว่า กรดไขมันไลโนเลอิค ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน และ กรดไขมันโอเลอิค ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว

กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว มีข้อดีในการช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด  ซึ่งทั้งกรดโอเลอิคและไลโนเลอิคนั้นก็เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวทั้งคู่ ที่สามารถช่วยลดไขมันในเลือดได้ ทั้งนี้มีการศึกษาในหนูแล้วว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัวโดยเฉพาะกรดไลโนเลอิค จะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลได้ แถมข้อดีอีกประการของน้ำมันดอกคำฝอยก็คือ มีคุณสมบัติทนความร้อนได้สูง ดังนั้น ในต่างประเทศจึงมีการนำน้ำมันดอกคำฝอยมาใช้ในการทอดและประกอบอาหารต่างๆ

คำฝอย หรือ safflower จัดอยู่ในวงศ์ Compositae เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับเบญจมาศและทานตะวัน มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพืชในสกุล Carthamus อื่นๆ อีกประมาณ 20 ชนิด เป็นพืชที่มีความสำคัญ และปลูกมากในประเทศ อินเดีย เม็กซิโก เป็นพืชรองในอเมริกา เอธิโอเปีย ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา คาซัคสถาน จีน และสเปน แต่จากการที่ได้มีการ ปลูกดอกคำฝอยในแถบตะวันออกกลางมาช้านาน รวมทั้งพบว่ามีเมล็ดในหลุมฝังศพชาวอียิปต์อายุประมาณ 3,500 ปี จึงทำให้มีผู้เข้าใจผิดว่า พืชชนิดนี้มีกำเนิดในแถบนั้น ตามรายงานทางวิชาการก็ได้ทราบว่าใน ประเทศไทยเคยมีเกษตรกรทางภาคเหนือในเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงรายปลูกกันมาช้านานแล้ว และมีชื่อเรียกในภาษาไทยอีกหลายชื่อ เช่น คำฝอย ดอกคำ คำหยุม คำยอง คำยิ่ง เป็นต้น

คำฝอย เป็นพืชล้มลุกที่ผสมตัวเอง เป็นพวกพืชฤดูเดียว และทนแล้ง เนื่องจากมีรากหยั่งลึกยาวและแข็งแรง สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิตโดยใช้ความชื้นที่มีอยู่ในดิน ในขณะปลูกเท่านั้น  ลำต้นคำฝอยเป็นไม้เนื้ออ่อนผิวเรียบไม่มีขน มีความสูง 0.5-1.5 เมตร ลำต้นตรง และแตกกิ่ง กิ่งแรกเกิดที่ความสูงจากโคนต้น 15-20 เซนติเมตร ใบคำฝอยเป็นใบเดี่ยวมีสีเขียวเข้ม ผิวเรียบเป็นมัน มีรูปร่างแบบ รูปไข่ ใบรูปหอก หรือใบรูปร่างยาว  ก้านใบสั้นหรือไม่มีก้านใบ ขอบใบเป็นหนามแหลมแข็ง โดยเฉพาะใบที่อยู่ตรงกลาง ปลายยอดที่รองรับช่อดอกจะมีหนามแข็งมาก การจัดเรียงตัวของใบเป็นแบบเวียนสลับรอบลำต้น ลำต้นและกิ่งก้านมีสีขาว ดอกเกิดเป็นช่อแบบยอดดอก ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-4 เซนติเมตร แต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อย  ประมาณ 20-180 ดอก แต่ละดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ยกเว้นดอกที่เรียงตัวอยู่ 2 วงรอบนอก มีเพศเมียเป็นหมัน ผลของคำฝอยเป็นแบบผลที่มีเมล็ดเล็กๆ และแข็ง เมล็ดมีสีขาวปนเทา ผิวเรียบเป็นมันไม่มีขน ช่อดอกที่สมบูรณ์จะมีเมล็ดประมาณ 110 เมล็ด

สรรพคุณของคำฝอยที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายขนาดนี้ คำฝอยจึงเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรหลายพื้นที่มีการปลูกคำฝอยกันอย่างแพร่หลาย  แต่คุณผู้ฟังทราบมั้ยว่า ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตของคำฝอยนั้น เกษตรกรต้องประสบกับปัญหาใหญ่ ปัญหาที่ว่าก็คือ หนามที่อยู่ใต้ฐานรองดอกของต้นคำฝอย เมื่อเกษตรกรเก็บกลีบดอกคำฝอยก็จะถูกหนามแหลมและแข็งของคำฝอยตำจนได้รับบาดเจ็บ จึงนับว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการปลูกคำฝอยเป็นอย่างมาก  ดังนั้น รศ.ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ อาจารย์จากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พัฒนาพันธุ์คำฝอยไร้หนามเพื่อช่วยให้การเก็บกลีบดอกให้มีความสะดวกมากขึ้น  ซึ่งคำฝอยไร้หนามพันธุ์พานทอง เป็นคำฝอยสายพันธุ์แท้ที่ได้จากการคัดเลือกสายพันธุ์ โดยวิธีคัดสายพันธุ์บริสุทธิ์จากสายพันธุ์ Acc393 ในโครงการปรับปรุงพันธุ์คำฝอย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีอายุวันออกดอก 68 วัน จำนวนช่อดอก 40 ช่อดอกต่อต้น จำนวนเมล็ด16-18 เมล็ดต่อช่อดอก น้ำหนัก 100 เมล็ดเท่ากับ 4.13 กรัม ให้ผลผลิตเมล็ด 138 กิโลกรัมต่อไร่ มีอายุเก็บเกี่ยวค่อนข้างยาว ผลผลิตกลีบดอกแห้ง 8-10 กิโลกรัมต่อไร่ กลีบดอกมีสีส้มแดง เมื่อเก็บกลีบดอกมาตากแห้งเพื่อทำชา กลีบดอกยังคงมีสีแดงสดเหมือนเดิม  กลีบดอกคำฝอยมีสาร 2 ชนิด คือ สารคาร์ทามีดีน ให้สีเหลืองสามารถละลายได้ในน้ำ  และสารคาร์ทามีน  ให้สีแดงละลายได้ในแอลกอฮอล์ สารสีทั้ง 2 ชนิด มีคุณสมบัติทางยา และใช้ประกอบอาหาร  มีปริมาณน้ำมัน 24.69 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในนั้นประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว 90.85 เปอร์เซ็นต์    และกรดไขมันอิ่มตัวได้แก่ กรดปาล์มมิติก 6.94 เปอร์เซ็นต์ และกรดสเตียริก 2.21 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำมัน

สำหรับช่วงเวลาในการปลูกคำฝอยนั้น สำหรับพื้นที่ที่อาศัยน้ำฝนเวลาที่เหมาะสมคือ ประมาณกลางเดือนกันยายน  ถ้ามีน้ำชลประทานสามารถปลูกได้ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งดินยังมีความชื้นเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของคำฝอย และจะช่วยให้สะดวกในการตากกลีบดอกคำฝอยเพราะในช่วงนั้นจะไม่มีฝน ส่วนการเตรียมดินนั้นต้องคํานึงถึงเรื่องความชื้นในดินว่าควรจะเตรียมดินอย่างไรจึงจะทําให้สูญเสียความชื้นในดินน้อยที่สุด หากที่ดินแปลงใดที่มีดินเหนียวปนอยู่บ้างควรไถเพียง 1-2 ครั้ง แล้วพรวน คำฝอยเป็นพืชที่มีรากลึก การใช้ไถซี่หรือไถดินให้ลึกจะช่วยให้รากคำฝอยเจริญเติบโตได้ดี แต่ถ้าเป็นดินร่วนก็ไม่จำเป็นต้องไถเพียงแต่เอาวัชพืชออกแล้วปลูกโดยไม่ต้องยกร่อง ข้อควรระวังเป็นพิเศษคืออย่าให้ดินมีความชื้นมากจนเกินไป ถ้าฝนตกระบายนํ้าไม่ได้จะทําให้เมล็ดเน่า การปลูกคำฝอยต้องรีบปลูกให้เสร็จอย่างรวดเร็วมิฉะนั้นความชื้นในดินจะเหลือน้อยมาก ซึ่งทําให้เมล็ดที่หยอดไม่งอก หรืองอกได้แต่เจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร ก่อนการปลูกควรใส่ปุ๋ยสูตรผสม 16-20-0 หรือ 15-15-15 ในอัตรา 20-30 กก./ไร่

วิธีการปลูกคำฝอยนั้นมีวิธีการปลูกอยู่ 2 วิธี คือปลูกเป็นแถว และปลูกแบบหว่าน การปลูกเป็นแถวทำได้โดยหยอดเมล็ดลงในหลุมลึก 3-5 ซม.  หลุมละ 3-4 เมล็ด ระยะห่างระหว่างแถว 60-70 ซม. ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 30-40 ซม. ใช้เมล็ดพันธุ์ 1.5-2.0 กก.ต่อไร่ ถ้าต้องการให้ต้นคําฝอยแตกกิ่งเป็นพุ่มควรถอนให้เหลือหลุมละ 1 ต้น หากจะให้ต้นสูงสะดวกแก่การจับตัดมัด ควรเหลือไว้หลุมละ 2 ต้น สำหรับการปลูกเพื่อเก็บกลีบดอกควรใช้ระยะปลูก 30×20 ซม. หรือ 30×25 ซม. โดยปลูกคำฝอย 5 แถว และเว้น 1 แถวเพื่อสะดวกในการเข้าไปเก็บกลีบดอก หากเกษตรกรไม่มีแรงงานในการหยอดเมล็ด  ควรจะใช้วิธีเดินหยอดด้วยเครื่องขนาดเล็ก หรือปลูกแบบหว่านแล้วใช้คราดกลบ โดยจะใช้เมล็ดพันธุ์ 2.5-3 กก.ต่อไร่ ส่วนการใส่ปุ๋ยให้กับต้นคำฝอยในระหว่างการปลูกนั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยก็ได้ เนื่องจากการปลูกคำฝอยไม่ได้มีการให้น้ำ เพราะต้นคำฝอยอาศัยแต่ความชื้นในดินในการเจริญเติบโตเท่านั้น คําฝอยที่ปลูกในดินที่อุ้มเก็บความชื้นได้ดีไม่ต้องให้นํ้า  แต่ถ้าปลูกในดินที่เก็บความชื้นได้น้อยควรให้นํ้า 2 ครั้ง ได้แก่ ก่อนปลูกและช่วงออกดอก

เมื่อปลูกคำฝอยแล้วควรใช้สารคุมวัชพืชอะลาคลอร์อัตรา 320 กรัมต่อไร่ฉีดพ่นในแปลงเพื่อกำจัดวัชพืช หรือทำการกำจัดวัชพืชโดยใช้รถไถพรวน หรือ แรงงานคน ควรทำประมาณ 2 ครั้ง เมื่อปลูกคำฝอยได้ 1 เดือนควรทำ 1 ครั้ง และอีกครั้งเมื่อวัชพืชขึ้นหนาแน่น  ส่วนแมลงศัตรูพืชที่พบ คือ มด ปลวก เสี้ยนดิน หนอนแมลงวันเจาะยอดและลําต้น ซึ่งจะเข้าทําลายขณะที่คำฝอยยังเป็นต้นอ่อน หนอนใยผักจะเข้าทําลายแทะที่ผิวใต้ใบ หนอนเจาะ สมอฝ้าย เพลี้ยอ่อนจะเข้าทําความเสียหายตอนออกดอกติดฝัก ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อราได้แก่ โรครากเน่า โรคใบจุดสีนํ้าตาล โรคใบด่าง

การเก็บเกี่ยวคำฝอยสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งเมล็ดและกลีบดอก ต้นคําฝอยตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวจะมีอายุประมาณ 130-150 วัน โดยสังเกตใบที่โคนต้นแห้ง และร่วงหมดเหลือแต่ใบที่ติดกับกิ่งต่าง ๆ ของลําต้น ช่อดอกแห้งเป็นสีนํ้าตาล เมล็ดเมื่อสุกแก่จะไม่ร่วง ระยะเวลาที่เหมาะสมแก่การเก็บเกี่ยวเมล็ดคือ ประมาณ 30 วัน หลังจากดอกบานหมดแล้ว วิธีที่สะดวกรวดเร็วคือ ถ้าปลูกในดินร่วนใช้มือจับตรงโคนถอนขึ้นมา หากเป็นดินค่อนข้างเหนียวใช้มีดตัดตรงโคนชิดติดดิน หรือใช้เครื่องเก็บเกี่ยว ถั่วเหลือง งา หรือข้าวก็ได้ แล้วนำไปมัดเป็นฟ่อนมาวางบนผ้าพลาสติก ผ้าใบ หรือบนลานดิน ซีเมนต์ หรือจะใช้เครื่องนวดถั่วเหลืองกะเทาะเมล็ดออกก็ได้ จากนั้นก็ทำความสะอาดฝุ่น และเศษผงออก

การเก็บเกี่ยวกลีบดอกจะเก็บหลังจากดอกบาน และผสมพันธุ์แล้ว สังเกตได้จากกลีบดอกจะมีสีแดงเข้ม หรือสีส้ม และกลีบดอกวงแรกสลดลงส่วนกลีบดอกวงที่สองบานเต็มที่แล้ว การเก็บกลีบดอกควรเก็บตอนเช้า หรือตอนบ่ายที่มีแสงแดดไม่ร้อนจัด การเก็บควรเก็บทุกๆ 2-3 วัน ต่อจากนั้นนำกลีบดอกมาตากแห้งประมาณ 3 วันหรือผึ่งลมประมาณ 7วัน กลีบดอกจะแห้งพร้อมที่จะเก็บไว้ใช้ต่อไป ถ้ามีตู้อบควรนำกลีบดอกแห้งเข้าอบที่อุณหภูมิ 400 C ประมาณ 2 ชั่วโมง วิธีนี้จะช่วยให้เก็บกลีบดอกได้นาน และทำให้กลีบดอกมีกลิ่นหอม ข้อควรระวังในการอบคือ           ห้ามนำกลีบดอกสดมาอบให้แห้งด้วยตู้อบเพราะจะทำให้กลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำไม่เป็นสีส้มแดง

สูตรการนำดอกคำฝอยตากแห้งมาทำเป็นเครื่องดื่มบำรุงกำลังให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด เพียงแค่คุณผู้ฟังนำดอกคำฝอยมาประมาณ 1 หยิบมือ และดอกเก๊กฮวยประมาณ 10 ดอก ผสมด้วยน้ำบริสุทธิ์ประมาณ 500 ซีซี เคี่ยวงวดประมาณ 30 นาที นำมาดื่มต่างน้ำชาวันละ 2-3 ครั้ง  ครั้งละ 1 แก้ว หรือประมาณ 75-150 ซีซี กรดไลโนลิคแอซิดในดอกคำฝอยจะเข้าทำปฏิกิริยากับไขมันในเลือดและขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ สำหรับคนที่มีไขมันในเลือดสูงกว่าปกติควรรับประทานติดต่อกัน 3-7 วัน ไขมันจะลดลงเป็นปกติทันที หากต้องการให้มีรสดีขึ้นไม่ขื่นหรือเฝื่อน ควรผสมน้ำตาลทรายขาวประมาณ 2-3 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ถ้วยแก้ว นอกจากนี้ ดอกเก๊กฮวยจะช่วยให้ปอดและหลอดลมแข็งแรง ระบบการหายใจสะดวกยิ่งขึ้น และช่วยกระตุ้นให้ไตทำงานตามปกติ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีวัย 50 ปีขึ้นไป โดยมีข้อควรระวัง คือ สตรีที่ตั้งครรภ์ไม่ควรบริโภคสมุนไพรนี้ เนื่องจากเป็นยาบำรุงเลือดและขับประจำเดือน ถ้ากินหรือดื่มมาก ๆ อาจทำให้แท้งได้

ส่วนอีกสูตรหนึ่งคือสูตรการทำข้าวสวยดอกคำฝอย มีวิธีการทำโดยนำดอกคำฝอย 1 ช้อนโต๊ะ มาแช่ในน้ำร้อน ½ ถ้วยตวง แช่ไว้ประมาณ 5 นาที จากนั้นนำมากรองแล้วพักไว้ ขั้นตอนต่อไปคือซาวข้าวให้สะอาด โดยข้าวที่ใช้คือข้าวหอมมะลิ 3 ถ้วยตวง จากนั้นสงขึ้นให้สะเด็ดน้ำ ใส่ลงในหม้อ ใส่น้ำดอกคำฝอยตามลงไป เติมน้ำในหม้อหุงข้าวโดยใช้สเกล “ข้าวสวย” หรือ PLAIN RICE ระดับขีดที่ 3 คนให้เข้ากัน จากนั้นกดปุ่ม COOK หรือ “หุง” โดยเลือกโปรแกรม “ข้าวสวย” เมื่อไฟเปลี่ยนเป็นสภาวะ “อุ่น” หรือ WARM  แสดงว่าข้าวสุก ตักเสิร์ฟร้อนๆ รับประทานได้เลย  ซึ่งสูตรนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มสีสันให้ข้าวดูน่ารับประทานมากขึ้นแล้ว ยังเป็นข้าวที่เพิ่ม ประโยชน์ให้กายร่างกายอีกด้วย

เรียบเรียงโดย

วิทวัส ยุทธโกศา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สวพ.มก. 
โทรศัพท์ 0-2561-1474