การใช้หญ้าแฝกในพื้นที่เกษตร

เรื่อง  การใช้หญ้าแฝกในพื้นที่เกษตร

 

ประโยชน์ของการปลูกหญ้าแฝกนั้นมีมากมาย จึงทำให้หลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยมีการปลูกหญ้าแฝก เพื่อฟื้นฟู ปรับปรุง บำรุงดินและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมกันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่ทำการเกษตรในลักษณะต่างๆ ในเขตร้อนชื้น มักมีปัญหาด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่น ดินเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการชะล้างพังทลายสูง การใช้ที่ดินที่ขาดการอนุรักษ์และมีอัตราการผุพังสลายตัวของอินทรียวัตถุค่อนข้างสูงเหล่านี้ ทำให้สมรรถนะในการให้ผลผลิตทางการเกษตรของดินลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผลผลิตพืชลดลง ต้องใช้ปัจจัยในการผลิตเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มต้นทุนในการผลิต ตลอดจนทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน การนำหญ้าแฝกไปปลูกในพื้นที่เกษตรอย่างมีระบบตามวัตถุประสงค์ต่างๆ นับว่าเป็นการจัดการดินและรักษาสภาพแวดล้อมที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะการสงวนความชื้นของดินและลดความรุนแรงของการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ลาดชัน การนำระบบหญ้าแฝก มาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรตามลักษณะการใช้ที่ดินนั้น สามารถจำแนกได้หลายประเภทของพื้นที่ ดังนี้

พื้นที่นา ควรปลูกหญ้าแฝกเพื่อแสดงขอบเขตล้อมรอบพื้นที่บริเวณขอบคันนา เกษตรกรสามารถตัดใบหญ้าแฝกมาคลุมดินที่ปลูกพืชผักหรือพืชไร่ในนาข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในนาข้าว และสงวนความชื้นในดินให้กับพืชที่ปลูกหลังนาในฤดูแล้งได้ นอกจากจะเป็นการประหยัดการใช้น้ำที่ไม่ต้องทำนาแล้ว ยังนับว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

พื้นที่ไร่ ควรใช้หญ้าแฝกปลูกเป็นแถวในพื้นที่ปลูกพืชไร่ที่เป็นที่ราบ โดยการปลูกเป็นแถวสลับกับแถบปลูกพืชไร่ จะเป็นการช่วยเก็บกักน้ำฝนให้ซาบซึมไปตามแผงรากของหญ้าแฝก ที่เจริญเติบโตชอนไชผ่านลงไปในดินชั้นล่าง ช่วยให้ดินมีการระบายน้ำดี ทำให้ดินโปร่งและมีการถ่ายเทอากาศดีขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถตัดใบหญ้าแฝกมาคลุมดินระหว่างแถวพืชไร่เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับดินและพืชที่ปลูกได้อีกด้วย นับว่าเป็นวิธีการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินและทำให้มีการหมุนเวียนของธาตุอาหารพืชจากดินชั้นล่างขึ้นมาสู่ดินชั้นบนไปพร้อมๆ กัน

สำหรับพื้นที่ปลูกผัก ไม้ดอก และไม้ประดับ ควรใช้หญ้าแฝกปลูกรอบพื้นที่ยกร่องหรือรอบแปลงเพาะปลูกพืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ เพื่อตัดใบหญ้าแฝกนำไปคลุมดินทดแทนการใช้ฟางข้าว ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมและนับวันจะหาฟางข้าวได้ยากขึ้น นอกจากเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายฟางข้าวจากในนาแล้ว ยังช่วยป้องกันการพังทลายของร่องปลูกพืชได้อย่างดีอีกด้วย ข้อได้เปรียบอีกอย่างคือ เป็นวัสดุคลุมดินที่สามารถสร้างขึ้นมาได้เองในพื้นที่โดยไม่ต้องขนย้ายมาจากที่อื่น

การใช้หญ้าแฝกในพื้นที่สวนไม้ผลยืนต้น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน สามารถแบ่งแยกได้หลายพื้นที่ ได้แก่

พื้นที่ที่เป็นสวนไม้ผลดั้งเดิม พื้นที่เกษตรที่เป็นสวนไม้ผลยืนต้นดั้งเดิมจัดว่าเป็นระบบที่มีความสมบูรณ์ มั่นคงและยั่งยืนดีอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำหญ้าแฝกไปปลูกเช่นเดียวกับพื้นที่ที่เป็นป่าสมบูรณ์ นอกจากหญ้าแฝกไม่สามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติ เนื่องจากมีแสงแดดไม่เพียงพอแล้ว ยังเป็นการปลูกหญ้าแฝกที่ไม่เหมาะสมและถูกต้องอีกด้วย หากเป็นไม้ผลยืนต้นที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี หรือทรงพุ่มยังไม่ชิดติดกัน และมีปัญหาเรื่องความแห้งแล้งและการชะล้างพังทลายของดิน ก็อาจใช้หญ้าแฝกปลูกเป็นแถวตามความยาวของแถวไม้ผลนอกเขตทรงพุ่ม ของไม้ผลที่ปลูกและรอบๆโคนต้นไม้ผลที่ปลูกในรัศมีประมาณ 1.5 – 2.0 เมตร ในลักษณะครึ่งวงกลมแหงนรับน้ำสำหรับพื้นที่ลาดชันหรือลักษณะวงกลมสำหรับพื้นที่ราบ เพื่อตัดใบหญ้าแฝกคลุมดินบริเวณโคนต้นไม้ผลเพื่อสงวนน้ำในดินและลดการชะล้างพังทลายของดิน

พื้นที่ที่เริ่มปลูกสร้างสวนไม้ผลยืนต้นขึ้นมาใหม่ หรือรื้อสวนเก่าเพื่อปลูกสวนไม้ผลใหม่ หรือสวนยางพาราที่รื้อปลูกใหม่ ควรปลูกหญ้าแฝกขวางตามความลาดเทตามแนวระดับขนานไปกับแถวไม้ยืนต้น ไม้ผล หรือปลูกรอบเฉพาะหลุมปลูกไม้ผลแบบครึ่งวงกลม แหงนรับความลาดเท เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและตัดใบคลุมดิน หรือแบบวงกลมสำหรับในพื้นที่ราบ แล้วตัดใบคลุมดินเพื่อสงวนความชื้นในดินและเป็นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อความยั่งยืนของระบบ หรือปลูกแนวรั้วหญ้าแฝกให้เป็นระบบในพื้นที่ที่เปลี่ยนจากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แห้งแล้ง ที่ดินเหมือนแร่ร้าง และที่ดินที่มีปัญหาด้านต่างๆ ให้กลายมาเป็นป่าที่กินได้

การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรประเภทนี้ ควรปลูกรอบไม้ผลที่เริ่มปลูกใหม่ โดยปลูกหญ้าแฝกในลักษณะวงกลมในพื้นที่ราบ และครึ่งวงกลมแหงนรับน้ำไหลบ่าและตะกอนดินในพื้นที่ลาดชัน โดยปลูกห่างจากกล้าไม้ผลที่ปลูกให้มีรัศมีประมาณ 1.5 -2.0 เมตร ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทหรือขนาดของไม้ผลและควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15 – 15- 15 อัตรา 25 กก.ต่อไร่ เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดินขั้นตอนการปลูกหญ้าแฝกด้วย

ต่อไปนี้คือตัวอย่างของการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรทั้ง 4 ประเภท เช่น การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวแสดงขอบเขตพื้นที่นาข้าว ใน จ.พัทลุง การปลูกหญ้าแฝกร่วมกับไม้ผลในพื้นที่ลาดชันโครงการดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย การปลูกแนวรั้วหญ้าแฝกในพื้นที่ปลูกพืชไร่ ร่วมกับมะนาวในพื้นที่ราบที่มีเนื้อดินเป็นดินร่วนทรายปนหินกรวดกลม และมีน้ำท่วมเป็นประจำที่ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวสลับกับแถบปลูกพืชไร่ สามารถลดความรุนแรงของน้ำท่วมได้ เพราะน้ำจะซึมลงไปอย่างช้าๆ ตามแผงรากหญ้าที่เจริญเติบโต ชอนไชผ่านดินที่อัดแน่นอยู่ระหว่างหินกรวดกลมในดินชั้นล่างซึ่งอยู่ลึกจากผิวดินบน 50-75 เซนติเมตรได้ เป็นการช่วยระบายน้ำที่ท่วมขังของดินตามธรรมชาติที่ลงทุนต่ำ และควรมีการตัดใบหญ้าแฝกเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้หญ้าแฝกย่างปล้องออกดอก โดยครั้งแรกให้ตัดหลังจากปลูกหญ้าแฝกแล้วประมาณ 3 เดือน เพื่อเร่งให้หญ้าแฝกมีการแตกกอตามแนวราบเพิ่มขึ้น และควรตัดใบหญ้าแฝกให้มีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร การตัดครั้งต่อไปควรกระทำทุก 1-2 เดือน สำหรับในพื้นที่ลาดชันควรนำใบหญ้าแฝกที่ตัดไปวางบริเวณโคนหญ้าแฝก โดยวางเหนือแถวหญ้าแฝกเพื่อกักตะกอนดินและเศษพืช การปลูกหญ้าแฝกให้มีจำนวนแถวแนวหญ้าแฝกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ และปริมาณพื้นที่รับน้ำแต่ละช่วงของความลาดชัน ตลอดจนระยะปลูกของไม้ผลยืนต้นที่ปลูกเป็นหลัก ประมาณ 6-10 เมตร หรืออาจใช้ระยะห่างตามแนวดิ่งประมาณ 1.50 เมตร เป็นต้น

พื้นที่เกษตรที่มีระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานมีหลายรูปแบบ ซึ่งจะมีความหลากหลายในชนิดของพืช และมีความแตกต่างกันของลักษณะสภาพพื้นที่ ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในแต่ละรูปแบบของการปลูกพืชเกษตรจะมีมากน้อยไม่เหมือนกัน เช่น ในสภาพพื้นที่สูงลาดชัน ประโยชน์ของหญ้าแฝกนอกจากการตัดคลุมดินเพื่อช่วยอนุรักษ์น้ำในดิน ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน และช่วยทำให้มีการหมุนเวียนของธาตุอาหารพืชจากดินชั้นล่างขึ้นมาสู่ดินชั้นบนแล้ว แถวหญ้าแฝกที่ปลูกตามแนวระดับยังช่วยลดการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ขณะที่พื้นที่ราบที่มีดินเสื่อมโทรม ประโยชน์ของหญ้าแฝกจะเน้นในแง่ของการปรับปรุงบำรุงดิน และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน

ผลจากการใช้หญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรแบบผสมผสานที่ได้จากการทดลองของกองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตรนั้น พอสรุปได้ดังนี้

การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถว ห่างกันประมาณ 6 เมตร สามารถตัดใบหญ้าแฝกคลุมดินได้ปีละประมาณ 1.8-2.6 ตันต่อไร่ ถ้าหากใช้หญ้าแฝกปลูกเป็นรูปวงกลมในพื้นที่ราบ รัศมี 2.0 เมตร หรือในพื้นที่ที่มีความลาดเทน้อยแต่หลายทิศทางรอบโคนต้นไม้ สามารถตัดหญ้าแฝกคลุมโคนต้นได้ปีละประมาณ 50-70 กก.ต่อต้น และทำให้ความชื้นของดินบริเวณโคนต้นเพิ่มขึ้นถึง 35% ทีเดียวค่ะ นอกจากนี้แถวหญ้าแฝกยังสามารถลดปริมาณน้ำที่ไหลบ่าสู่หน้าดิน และตะกอนดินในระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน ที่มีไม้ผลเป็นหลักแบบต่างๆ ได้ถึง 2-6 และ 6-36 เท่า ตามลำดับ ทั้งนี้ระบบที่มีสับปะรดเป็นพืชแซมจะมีปริมาณน้ำไหลบ่าหน้าดินและมีตะกอนดินน้อยที่สุด

ดังนั้น ประโยชน์ที่ได้รับจากรูปแบบการปลูกพืชในระบบผสมผสานดังกล่าวนี้ คือ การพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรม ดินเลว ฝนแล้ง มาเป็นระบบการเกษตรยั่งยืนในรูปป่ากินได้ โดยใช้หญ้าแฝกช่วยในการรักษาและพัฒนาระบบในช่วงแรก เมื่อไม้ผลต่างๆ เจริญเติบโตจนกระทั่งให้ผลผลิต มีทรงพุ่มชิดติดกันครอบคลุมพื้นที่เป็นป่ากินได้แล้ว หญ้าแฝกก็จะหมดบทบาทลงในที่สุด

สำหรับการเตรียมกล้าและการปลูกแนวรั้วหญ้าแฝกในพื้นที่การเกษตรนั้นกล้าหญ้าแฝกที่ใช้อาจเป็นของทางราชการที่เพาะชำในถุงพลาสติกอายุประมาณ 45 วัน หรือกล้าหญ้าแฝกที่ได้จากแปลงขยายพันธุ์และแหล่งธรรมชาติ โดยการขุดหญ้าแฝกทั้งกอขึ้นมาตัดรากให้เหลือ 10-15 เซนติเมตร และตัดต้นให้เหลือ 20 เซนติเมตร แยกหน่อแล้วมัดรวมเช่นเดียวกับการถอนกล้าข้าว นำไปแช่น้ำให้น้ำท่วมรากอยู่ประมาณ 5-7 วัน จนมีรากใหม่แตกออกมา จึงสามารถนำไปปลูกได้

สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกเป็นแนวแถวเดี่ยว ในแนวขวางตามความลาดเทของพื้นที่ โดยกำหนดระยะห่างระหว่างแถวหญ้าแฝกในแนวดิ่ง 1.5 เมตร หรือ 6-10 เมตร ตามระยะปลูกของไม้ผลยืนต้น ที่ถูกปรับแนวปลูกขึ้นหรือลงเล็กน้อย และให้โค้งไปตามพื้นที่ เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานและการปลูกพืช หลังจากปรับแนวแล้วให้ทำการเปิดร่องไปตามแนวที่วางไว้ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร พร้อมที่จะปลูกหญ้าแฝกต่อไป หากเป็นพื้นที่ลาดชันที่เป็นดินเลวหรือมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ก่อนปลูกควรคลุกดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กก.ต่อไร่ จะช่วยให้หญ้าแฝกตั้งตัวได้เร็วและมีการเจริญเติบโตได้ดีในระยะแรก  ส่วนระยะที่ไม้ผลยังเล็กอยู่ เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินปลูกพืชไร่หรือพืชผัก เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว กะหล่ำปลี แซมไปด้วยได้ โดยมีการตัดใบหญ้าแฝกก่อนออกดอก และนำใบหญ้าแฝกที่ตัดไปคลุมดินในแปลงปลูกพืชระหว่างแนวแถวหญ้าแฝก หรือโคนไม้ผล

ฤดูการปลูกหญ้าแฝกที่เหมาะสมคือในช่วงต้นฤดูฝน เกษตรกรควรปลูกในดินที่มีความชุ่มชื้นพอเพียง สำหรับพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ก็ควรปลูกก่อนฤดูฝน เพื่อให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตพอที่จะทำหน้าที่ตามจุดประสงค์ต่างๆได้ตั้งแต่ต้นฤดูฝนแรก โดยทั่วไปหญ้าแฝกจะตั้งตัวและแตกกอชิดติดกันเป็นแนวรั้วหญ้าแฝกที่ดีได้ จะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 3 เดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นสำคัญ

การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรที่ใช้ปลูกพืชไร่และไม้ผลเป็นหลักส่วนใหญ่เป็นการเกษตรที่อาศัยน้ำฝนที่มักประสบปัญหาภัยแล้งอยู่เสมอ พืชที่เพาะปลูกจะขาดแคลนน้ำเป็นประจำ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่พืชและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก การแก้ไขปัญหาภาวะพืชขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน คือการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและการเก็บรักษาความชุ่มชื้นจากน้ำฝน ที่ตกไว้ในดินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เกษตรนับว่าเป็นเทคโนโลยีแบบง่ายๆ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เอง อีกทั้งยังไม่ต้องดูแลรักษาหลังการปลูกมากนัก และประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีอื่นๆ

การปลูกหญ้าแฝกเพื่อให้มีการเจริญเติบโตได้ดีและรวดเร็ว ควรต้องมีการดูรักษาบ้างพอสมควร หลังจากปลูกแล้ว ควรมีการปลูกซ่อมต้นที่ตายทันที เมื่อต้นหญ้าแฝกตั้งตัวได้แล้วควรมีการตัดใบหญ้าแฝกให้สูงจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งจะช่วยให้หญ้าแฝกแตกกอชิดติดกันเร็วขึ้นและนอกจากนี้เมื่อหญ้าแฝกเจริญเติบโตเต็มที่ ก็ควรมีการตัดใบไปใช้ประโยชน์ โดยการนำใบที่ตัดไปคลุมดิน หรือโคนต้นไม้ผลเพื่อช่วยลดการระเหยของน้ำจากผิวดิน การตัดใบอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันไม่ให้หญ้าแฝกออกดอก ช่วยให้หญ้าแฝกแตกหน่อมากขึ้น ทำให้แนวหญ้าแฝกสานชิดติดกันเป็นกำแพงแน่น ทำหน้าที่กรองดินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด น้ำมีโอกาสไหลซึมลงไปเก็บกักรักษาไว้ในดินได้ทั่วพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ดินมีความชุ่มชื้น เป็นประโยชน์ต่อพืชหลักที่ปลูกไว้ต่อไป

เรียบเรียงโดย

วิทวัส ยุทธโกศา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สวพ.มก. 
โทรศัพท์ 0-2561-1474