เครื่องบดผสมตัวอย่างแบบรวดเร็ว

บดเปียก บดแห้ง บดไว บดได้หลายตัวอย่าง

การบดตัวอย่างโดยทั่วไปต้องใช้โกร่งบดยา ร่วมกับไนโตรเจนเหลว ทำให้ตัวอย่างกระเด็นตกหล่น การบดต้องใช้ตัวอย่างปริมาณมาก ใช้เวลานานและสิ้นเปลืองแรงงาน หรือการใช้แท่งบดตัวอย่างในหลอดโดยตรง ถ้าตัวอย่างมากก็อาจทำให้นิ้วบาดเจ็บหรือพองได้ เนื่องจากต้องใช้แรงกดเป็นเวลานาน การบดอาจไม่สม่ำเสมอ และทำได้ครั้งละ 1 ตัวอย่าง

  

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร.ศรีเมฆ ชาวโพงพาง  จากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องบดผสมตัวอย่างแบบรวดเร็วขึ้น มีคุณสมบัติที่สามารถบดตัวอย่างสดหรือแห้ง ได้ครั้งละ 24 ตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนพืช หรือ สัตว์ เส้นใยรา สปอร์ ยีสต์ เซลล์แบคทีเรีย เม็ดเลือดแดง ในสารละลายบัฟเฟอร์ เพื่อสกัด ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ  หรือโปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน สารออกฤทธิ์ สามารถบดเมล็ดข้าวให้เป็นผงแป้งเพื่อวิเคราะห์ขนาดเม็ดแป้ง ผสมน้ำเข้ากับน้ำมัน โดยใช้ตัวอย่างปริมาณน้อยขั้นต่ำเพียง 50 มิลลิกรัม บดได้รวดเร็ว และประหยัดเวลา

เครื่องบดผสมตัวอย่างแบบรวดเร็ว ที่ประดิษฐ์ขึ้น เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยในการคัดเลือกลูกผสมสายพันธุ์ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และพืชอื่นๆที่มีลูกผสมจำนวนมาก การบดตัวอย่างพืชเพื่อตรวจสอบเชื้อสาเหตุโรคพืช โรคในสัตว์หรือคน โดยวิธี ELISA การสกัด DNA RNA เพื่อทำPCR หรือ RT-PCR ตรวจสอบเชื้อสาเหตุในระดับยีน ที่ต้องสกัดสารพันธุกรรม การตรวจสอบการกระจายตัวของยีนต่างๆที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรม ช่วยทำให้การทำงานการวิจัย สามารถสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

หลักการทำงานของเครื่อง

ใช้การเคลื่อนที่ขึ้นลงในแนวดิ่ง หรือแนวนอน อย่างรวดเร็ว(รอบ/วินาที) โดยใช้เม็ดโลหะ  stainless bead ขนาดเล็กกว่า 4 มิลลิเมตร จำนวน 2-3 เม็ด ใส่ในหลอดทดลอง พร้อมกับตัวอย่าง และสารสกัด หรือบัฟเฟอร์ เม็ดโลหะ จะชนกระแทกกันเองหรือกับตัวอย่างที่อยู่ในหลอด ทำให้ตัวอย่างละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

  ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : ผศ.ดร.ศรีเมฆ ชาวโพงพาง

ภาควิชาโรคพืช

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สื่อเผยแพร่  :     ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                    สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ผศ.ดร.ศรีเมฆ ชาวโพงพาง