รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราในสุนัขและแมว ด้วยสมุนไพรไทย

ผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราสำหรับสุนัข และแมว อย่างได้ผล

โรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เนื่องจากสามารถติดต่อกันทำให้โรคแพร่กระจายได้จากการสัมผัส ทำให้สัตว์มีอาการคัน เกา และเกิดผิวหนังอักเสบเป็นแผล นอกจากนั้นยังมีความเข้าใจผิดในการดูแลรักษา ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด อาการป่วยไม่หาย  เสียค่าใช้จ่ายสูง เสียดุลการค้านำยาเข้าจากต่างประเทศมาใช้รักษาที่ปลายเหตุ

คณะนักวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ ได้เริ่มทำการวิจัยการใช้สมุนไพรทางสัตวแพทย์เพื่อลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 โดยสามารถค้นคว้าวิจัยจนพบสารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บโคได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาวิธีสกัดแบบง่ายๆเพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรสามารถผลิตใช้ได้เอง ได้ทำการศึกษาวิธีสกัดและสารออกฤทธิ์รวมทั้งสูตรส่วนผสมต่างๆ จากพืชอย่างต่อเนื่องมากกว่า 16 ชนิด เช่น เมล็ดน้อยหน่า เมล็ดมันแกว ทองพันชั่ง ตะไคร้ มังคุด มะขาม เพื่อแก้ปัญหาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง สุนัข และแมว  ใช้เวลาค้นคว้าวิจัยมากกว่า 17 ปี จนได้สารสกัดธรรมชาติจากพืชที่มีฤทธิ์ในการกำจัดพยาธิภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาต่อยอดจนเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติจากพืชในหลายรูปแบบ เช่น สเปรย์ แชมพู ครีมต่างๆ และเปิดเป็นคลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ให้บริการรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549  โดยเน้นรักษา ป้องกันและการให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ให้แก้ปัญหาให้ถูกจุดที่ต้นเหตุ  พร้อมทั้งแนะนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากผลการวิจัยที่มีประสิทธิภาพแทนการใช้ยาเคมีนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น

จากผลงานวิจัยการใช้สารสกัดจากสมุนไพรทางสัตวแพทย์ รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ และทีมงานจากคลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ มีทั้งในรูปสเปรย์ฉีดพ่น และแชมพูอาบน้ำ ทั้งนี้การใช้ผลิตภัณฑ์อย่างได้ผลจำต้องทำความเข้าใจสาเหตุของโรคและวิธีดูแลปฏิบัติอย่างถูกต้องและต่อเนื่องด้วย

เชื้อราโรคผิวหนัง ในสุนัขและแมวที่พบบ่อย มี 2 พวก

  1. กลุ่มเชื้อราที่ก่อโรคซึ่งจะเจริญลึกถึงผิวหนังชั้นใน เป็นเชื้อราซึ่งเมื่อติดบนผิวหนัง จะเจริญลุกลามเป็นวงกลม ขนจะร่วงเป็นวงกลม ผิวหนังลอกและจะแดงนูนที่ขอบวงที่ขนร่วง เนื่องจากเชื้อราเหล่านี้จะเจริญขยายออกรอบทิศเป็นรัศมี  เชื้อราก่อโรคที่พบบ่อย มี 3 ชนิด คือ เชื้อไมโครสปอรัม เคนิส (Microsporum canis) เชื้อไมโครสปอรัม จิบเซี่ยม (Microsporum gypseum) และเชื้อไตรโครไฟตัน เมนตาโกรไฟท์ (Trichophyton mentagophyte)
  2. กลุ่มเชื้อราฉวยโอกาสซึ่งเจริญบนผิวหนังชั้นนอก ลักษณะทำให้ขนร่วงเป็นหย่อมๆ ไม่เป็นวงกลม หนังลอกไม่เป็นวงกลม  หนังไม่แดงหรือที่ขอบขนร่วง มีรังแคแห้งๆ บนหนังเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อแอสเปอจิรัส(Aspergillus spp.) เชื้อเคอวูลาเรีย(Curvularia spp.) เชื้อฟูซาเรียม(Fusarium spp.)

การรักษาโรคผิวหนังสุนัข แมว ที่เกิดจากเชื้อราทั้งเชื้อราก่อโรคและเชื้อราฉวยโอกาส

  1. ตัดขนสุนัข แมว ให้ติดหนัง เพื่อให้สามารถเช็ดยาโดนเชื้อราบนผิวหนังได้ทั่วถึง และเป็นการกำจัดเชื้อราที่ติดขนทิ้งไปด้วย
  2. ฉีดพ่นผลิตภัณฑ์สมุนไพร มาลาส สครับ(Malas Scrub) ลงผิวหนังสัตว์โดยตรง ให้ทั่วถึงขณะตัวแห้ง (พ่นฟอกแห้ง ห้ามใช้น้ำราดตัวสัตว์ก่อนพ่น) เพื่อให้ยามีความเข้มข้นคงที่ทุกจุด  ฟอกขัดถูหนัง 4 นาที  แล้วล้างฟองออกด้วยน้ำเปล่า (ห้ามใช้แชมพูอื่นอาบน้ำล้างฟองออก) เช็ดตัวแห้ง  ทำเช่นนี้วันเว้นวัน
  3. ใช้ผ้ากลอสซ้อน 3 ชั้น (ห้ามใช้สำลี เพราะสำลีมีหน้าสัมผัสน้อย และไม่มีตารางเก็บเชื้อออกจากผิวหนัง) ชุบโลชั่น เคยูตะไคร้หอม หรือ เคยู ทองพันชั่งโลชั่น เช็ดถูผิวหนังซ้ำหลายๆที ให้ทั่วตัว ผิวหนังจะแดงเข้มกว่า  ตรงที่เชื้อลึกถึงหนังชั้นใน (ไม่ต้องกลัวสุนัขแสบ หรือกลัวเลือดออก เพราะแค่แดงเท่านั้น เลือดไม่ออก) ให้เน้นบริเวณที่ผิวแดง เมื่อเช็ดหลายๆวัน เชื้อราตายหมด หนังก็จะหายแดง
  4. ใช้ผ้ากลอส ป้ายครีมดีฟังกัสเจล (DeFungus Jel) ทาถูตรงบริเวณที่หนังแดงเข้ม และเช็ดถูบริเวณหน้าของสุนัข (ซึ่งถ้าเช็ดด้วยโลชั่น อาจจะไหลเข้าตาได้)
  5. ตรงผิวหนังที่หนา ด้าน ดำ ให้ทาด้วย KU (Nc) cream วันละ 1 ครั้ง
  6. ทำเช่นนี้ทุกวัน เช้า-เย็น ติดต่อกัน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป จนสุนัขไม่มีอาการเกาผิวหนัง และผิวหนังเรียบปกติ ไม่มีหนังแดง หรือหนังลอกเป็นคราบขาว
  7. พ่นมาลาส สครับ Malas Scrub ที่พื้นสุนัขนอน ล้างสปอร์ของเชื้อราที่หล่นตามพื้นนอนนั้นให้หลุดไปด้วย
  8. ต้องฆ่าเชื้อราและสปอร์ที่ติดอยู่ที่เสื้อที่สุนัขเคยใส่ รวมถึงผ้าเช็ดตัว ผ้าเบาะนอนของสุนัข ด้วยการแช่ไฮเตอร์กัดผ้าขาว ด้วยความเข้มข้น 1 ฝา ต่อน้ำ 1 ลิตร นาน 10 นาที ก่อนนำไปซัก
  9. ห้ามปล่อยสุนัขเล่นกับสุนัขอื่นเหมือนเดิม เพราะจะไปติดเชื้อรามาใหม่ได้   ก็จะเป็นซ้ำอีก

ตลอดระยะเวลาดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ คลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี 2557 ประเภทนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)

คลินิกสมุนไพรสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เปิดให้บริการรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง สัปดาห์ละ 4 วันคือ วันอังคาร วันพุธ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 14.30 น.  สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ทางหมายเลข 081 944 5865

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ

คลินิกสมุนไพร โรงพยาบาลสัตว์

คณะสัตวแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่อง/สื่อเผยแพร่  :        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                             สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ