รักษาโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากเชื้อยีสต์ในสุนัขและแมว ด้วยสมุนไพรไทย

ผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รักษาโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากเชื้อยีสต์สำหรับสุนัข และแมว อย่างได้ผล

โรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เนื่องจากสามารถติดต่อกันทำให้โรคแพร่กระจายได้จากการสัมผัส ทำให้สัตว์มีอาการคัน เกา และเกิดผิวหนังอักเสบเป็นแผล นอกจากนั้นยังมีความเข้าใจผิดในการดูแลรักษา ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด อาการป่วยไม่หาย  เสียค่าใช้จ่ายสูง เสียดุลการค้านำยาเข้าจากต่างประเทศมาใช้รักษาที่ปลายเหตุ

คณะนักวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ ได้เริ่มทำการวิจัยการใช้สมุนไพรทางสัตวแพทย์เพื่อลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 โดยสามารถค้นคว้าวิจัยจนพบสารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บโคได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาวิธีสกัดแบบง่ายๆเพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรสามารถผลิตใช้ได้เอง ได้ทำการศึกษาวิธีสกัดและสารออกฤทธิ์รวมทั้งสูตรส่วนผสมต่างๆ จากพืชอย่างต่อเนื่องมากกว่า 16 ชนิด เช่น เมล็ดน้อยหน่า เมล็ดมันแกว ทองพันชั่ง ตะไคร้ มังคุด มะขาม เพื่อแก้ปัญหาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง สุนัข และแมว  ใช้เวลาค้นคว้าวิจัยมากกว่า 17 ปี จนได้สารสกัดธรรมชาติจากพืชที่มีฤทธิ์ในการกำจัดพยาธิภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาต่อยอดจนเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติจากพืชในหลายรูปแบบ เช่น สเปรย์ แชมพู ครีมต่างๆ และเปิดเป็นคลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ให้บริการรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549  โดยเน้นรักษา ป้องกันและการให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ให้แก้ปัญหาให้ถูกจุดที่ต้นเหตุ  พร้อมทั้งแนะนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากผลการวิจัยที่มีประสิทธิภาพแทนการใช้ยาเคมีนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น

จากผลงานวิจัยการใช้สารสกัดจากสมุนไพรทางสัตวแพทย์ รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ และทีมงานจากคลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ มีทั้งในรูปสเปรย์ฉีดพ่น และแชมพูอาบน้ำ ทั้งนี้การใช้ผลิตภัณฑ์อย่างได้ผลจำต้องทำความเข้าใจสาเหตุของโรคและวิธีดูแลปฏิบัติอย่างถูกต้องและต่อเนื่องด้วย

โรคภูมิแพ้ ในสุนัข  ส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้หรือไวต่อเชื้อยีสต์ พวกมาลาสซีเซีย  แพทชี่เดอร์มาไตติส (Malassezia pachydermatitis) ซึ่งอาจพบได้บนผิวหนังในสุนัขปกติ แต่ในสุนัขบางพันธุ์ที่ผิวหนังมีไขมันมาก เช่น ชิสุห์ พูลเดิ้ล บีเกิล ปั๊ก โกลเด้น ลาบาดอร์  ที่นำเข้ามาเลี้ยงในไทย พบเชื้อเจริญดีมากจนสุนัขแพ้และคันยิบๆ (คันน้อยกว่าติดตัวไร มีอาการเลีย แทะผิวหนัง สะบัดตัวบ่อยๆ)   ยิ่งถ้าไม่ค่อยได้อาบน้ำด้วยแชมพูเพื่อเอาไขมันตัวออก หรืออาบน้ำด้วยแชมพูที่ผสมน้ำก่อน ทำให้แชมพูจางไป จึงล้างไขมันผิวหนังออกไม่หมด เชื้อนี้ก็จะได้อาหาร (คือไขมันผิวหนัง) เจริญเพิ่มจำนวนมากขึ้น เจริญติดที่ผิวหนังชั้นนอกสุด (ชั้นขี้ไคล) หรือแทรกอยู่ระหว่างเซลล์ผิวหนังชั้นนอก (เพราะเชื้อนี้มีเอ็นไซม์ไลเปสย่อยไขมันผิวหนัง และฟอสโฟไลเปสย่อยผนังเซลล์ผิวหนังเป็นอาหารได้ดี) จนร่างกายแพ้ โดยการสร้างสารฮีสตามีนต่อต้าน ผิวหนังจึงเห่อแดง เป็นปื้นตลอดเวลา (ภูมิแพ้) มีเชื้อสีครีมเปียกไขมัน ติดขนและผิวหนัง โดยเฉพาะตามหนังที่พับประกบ หรือเบียดกัน เช่น ที่รอยพับด้านในใบหู ใต้คอ ด้านหน้าข้อศอกและหน้าขาหน้า ด้านหลังขาหลัง ด้านบนฝ่าเท้า และซอกร่องนิ้ว ใต้หาง รอบปากและก้น ทำให้สุนัขรู้สึกคันยิบๆจนต้องสะบัดตัว สะบัดหู  เลีย แทะหนัง บ่อยมาก และมีเชื้อแก่หลุดร่วงเป็นผงๆ ทุกวัน    ถ้าเป็นน้อยขนจะยังไม่ร่วง จะเห็นผิวหนังแดงตามข้อพับ คอพับ ใบหูพับ  ถ้าเป็นนาน ซึ่งผิวหนังแดงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ขนจะร่วงและผิวหนังจะหนาคล้ายหนังช้าง (Lichen-like skin)

การรักษาโรคผิวหนังภูมิแพ้ในสุนัขที่เกิดจากเชื้อยีสต์

คลินิกสมุนไพร โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน    รักษาโดย กำจัดหรือลดจำนวนเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการแพ้นั้น ออกจากผิวหนัง สัตว์ก็จะได้ไม่แสดงอาการแพ้ โดยให้

  1. ตัดขนสุนัขให้สั้นติดหนังทั้งตัว ทุกสัปดาห์ เพื่อจะได้เช็ดยาขัดผิวหนังชั้นขี้ไคลที่มีเชื้อให้หลุดไป และเชื้อที่อยู่ติดหนังจะได้โดนยาอย่างทั่วถึง
  2. พ่นผิวหนังสุนัขโดยตรงด้วย มาลาส สครับ(MalasScrub) ให้ทั่วตัวในขณะตัวแห้ง เพื่อล้างไขมันที่ผิวหนังซึ่งเป็นอาหารของเชื้อและเช็ดล้างเชื้อที่หนังชั้นขี้ไคลออก ( พ่นฟอกแห้ง ห้ามใช้น้ำราดตัวสัตว์ก่อนพ่น เพื่อให้ยามีความเข้มข้นเท่ากันทุกจุด) โดยใช้ผ้ากอสพันรอบมือ ถูฟอกขัดผิวหนังชั้นขี้ไคล ขัดหนังให้ยาโดนเชื้อที่อยู่ลึกติดหนัง ห้ามใช้เล็บเกา ห้ามใช้หวีหรือแปรงขูดหนัง และห้ามใช้สำลี เพราะสำลีจะไม่ช่วยเก็บเชื้อออกและหน้าสัมผัสของสำลีกับผิวหนังนั้นน้อยไม่ทั่วถึงรวมทั้งผ้ากลอสแบบเก่าที่ไม่นิ่มยืดๆ ซึ่งเป็นไนล่อนจะทให้หนังถลอกได้ ให้ขัดถูซ้ำๆหลายๆที ทั่วตัวนาน 4 นาที แล้วใช้น้ำเปล่าล้างฟองออก ห้ามใช้แชมพูอื่นอีกครั้ง แล้วเช็ดตัวให้แห้ง ทำทุกวันในช่วง 2 สัปดาห์แรก แล้วต่อไปให้ทำ วันเว้นวัน
  3. ใช้ผ้ากอสแผ่น 3 แผ่นซ้อนกัน ชุบด้วย เคยู ทองพันชั่งโลชั่น หรือ ดียีสต์โลชั่น (De Yeast Lotion) เช็ดผิวหนังให้เปียกทั่วทั้งตัว และขัดถูซ้ำๆ หลายๆครั้ง โดยเฉพาะตรงหนังที่พับประกบเบียดกัน ซึ่งมีเชื้อติดหนังอยู่มาก ทำให้หนังเห่อแดง เพื่อให้ยาเข้าถึงโดนเชื้อที่ติดหนังข้างล่าง ทำวันละ 2 ครั้ง  เช้า-เย็น เพราะเชื้อที่หลงเหลือจะสามารถเจริญแบ่งตัวได้ภายใน 1 วัน จึงต้องเช็ดฆ่าเชื้อให้ทั่วถึงทั้งตัว ทุกวัน จนกว่าเชื้อจะหมด คือหนังหายแดง ผิวหนังที่มีเชื้อเกาะอยู่ หนังจะแดง และจะแดงเห็นชัดเมื่อเช็ดถูด้วยโลชั่นเคยูดังกล่าว เช็ดขัดครั้งแรก ผิวหนังจะแดงมาก ไม่ต้องกลัวสุนัขจะเจ็บแสบ สุนัขจะชอบเพราะเช็ดถูกจุดที่คัน ถ้าเช็ดน้อยครั้งสุนัขไม่หายคัน มันจะไปถูไถกับพื้น ทำให้หนังถลอกได้ เมื่อเชื้อน้อยลง วันรุ่งขึ้นหนังจะแดงน้อยลง ห้ามใช้สำลีชุบยาเช็ด เพราะสำลี เช็ดขัดขี้ไคลไม่ได้ และสำลีไม่มีช่องว่างตารางเก็บเชื้อออกจากผิวหนัง
  4. พ่นขัดฟอกและเช็ดด้วย MalasScrub และโลชั่นทุกวันติดต่อกัน 4 -6 สัปดาห์ ขึ้นไป เมื่อเช็ดจนเชื้อไม่มีแล้ว ผิวหนังจะไม่แดงเวลาเช็ดถูอีก และสุนัขไม่สะบัดตัว หลังจากนั้นให้พ่น MalasScrub ขัดฟอกและเช็ดด้วยโลชั่นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คุมเชื้อไว้ไม่ให้เจริญมากขึ้นจนหนังแดง สะบัดตัวอีก หรือสุนัขเลีย กัดแทะหนังอีก   การที่สุนัขเลียแทะด้านบนอุ้งเท้า เพราะมีเชื้อยีสต์ที่ติดหนังตรงร่องระหว่างนิ้ว ซอกเล็บ ให้ใช้ผ้ากอสไม้พันชุบ MalasScrub และ โลชั่น ดังกล่าว แทงถูๆเข้าร่องระหว่างนิ้วและข้างๆเล็บให้ทั่วถึง   ห้ามอ้าถ่างนิ้วสุนัขดูหรือถู เพราะการถ่างหักนิ้วสุนัข สุนัขจะเจ็บมากจนกัดเราได้และสุนัขจะจำไว้ ไม่ยอมให้เราจับเท้าอีก
  1. ให้ล้างเชื้อและไขมันตัวที่ติดพื้นที่สุนัขนอน ด้วย MalasScrub ให้สะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อบนพื้น และแช่ผ้าเช็ดตัวสุนัขด้วยไฮเตอร์ก่อนซัก เพื่อฆ่าเชื้อยีสต์ที่อาจจะยังไม่ตาย และติดผ้าเช็ดตัวมาติดผิวหนังสุนัขได้อีก
  2. ส่วนตรงผิวหนังที่ขนร่วงและหนังหนาเป็นหนังช้าง หนังดำ แล้ว ให้ทาด้วย ดียีสต์เจล หรือ KU (NC) cream (ครีมขี้เรื้อน เชื้อรา) วันละ 1 ครั้งติดต่อกัน 6 สัปดาห์ – 4 เดือน ขนจะขึ้นถ้าหนังส่วนนั้นยังมีรากขนอยู่
  3. ห้ามนำสุนัขไปอาบน้ำตัดขนที่ร้านโดยไม่ฆ่าเชื้อที่อุปกรณ์ตัดขนหรือผ้าเช็ดตัว เนื่องจากอาจติดเชื้อจากอุปกรณ์ที่ตัดขนสุนัขตัวก่อนหน้าได้  รวมทั้งห้ามปล่อยสุนัขไปเล่นกับสุนัขอื่นเพราะอาจไปติดเชื้อมาใหม่ ก็จะเป็นใหม่อีกได้

ตลอดระยะเวลาดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ คลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี 2557 ประเภทนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)

คลินิกสมุนไพร โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เปิดให้บริการรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง สัปดาห์ละ 4 วันคือ วันอังคาร วันพุธ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 14.30 น.  สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ทางหมายเลข 081 944 5865

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :  นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  :    รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ

คลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์

คณะสัตวแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่อง/สื่อเผยแพร่  : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                                สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ