เครื่องกลเติมอากาศพลังงานแสงอาทิตย์

ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมให้น้ำสะอาด ด้วยพลังงานสะอาด จากเครื่องกลเติมอากาศพลังงานแสงอาทิตย์

 

 

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร มีค่าพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ย 4.0-4.9 kWh/m2day ซึ่งอยู่ในโซนที่มีศักยภาพสูงที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ จึงมีความเหมาะสมในการนำเอาเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มาประยุกต์ใช้กับงานด้านต่างๆ

น้ำเน่าเสียในเขตชุมชนเมืองเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นประเทศไทย อุปกรณ์เติมอากาศจึงได้รับการพัฒนากันอย่างแพร่หลาย แต่เครื่องเติมอากาศส่วนใหญ่จะใช้พลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่มากเมื่อเทียบกับปริมาณออกซิเจนที่เติมให้กับน้ำ

การออกแบบชุดใบพัดที่ใช้พลังงานน้อยและสามารถเติมออกซิเจนในปริมาณที่สูง  จึงเป็นที่มาของเครื่องกลเติมอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ ผลงานวิจัยและพัฒนาของ นายภราดร ทองเสน และ ผศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น จากภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้พัฒนาเครื่องกลเติมอากาศใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสีย โดยตีน้ำเพิ่มออกซิเจนให้น้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์  เหมาะกับใช้ในบ่อเลี้ยงกุ้งและปลา เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า

การทำงานของเครื่องกลเติมอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ คืออาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์จ่ายตรงไปยังมอเตอร์ชุดขับใบพัด  ใบพัดทำหน้าที่เพิ่มความเร็วให้กับน้ำ บริเวณกึ่งกลางใบพัดเกิดสภาวะสูญญากาศ อากาศจากเหนือผิวน้ำถูกดูดไหลผ่านแกนเพลากลาง ถูกปั่นให้กลายเป็นฟองขนาดเล็กผสมกับน้ำได้ดี จึงสามารถเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำได้อย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจำเพาะของเครื่องกลเติมอากาศพลังงานแสงอาทิตย์

– ใช้แผงโซลาเซลล์ขนาด 300 W จำนวน 2 แผง

– มอเตอร์ DC ขนาด500W

– ใบพัดขนาด 20 เซ็นติเมตร

การใช้ประโยชน์

เหมาะกับการใช้บำบัดน้ำเสียในบ่อเลี้ยงกุ้ง และปลา  รวมทั้งการเพิ่มออกซิเจนให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ บ่อน้ำ คู คลอง เนื่องจากใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จึงสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า

คุณประโยชน์

-เพิ่มปริมาณออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว

-ใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง

-สามารถช่วยประหยัดต้นทุน เนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : ผศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น และนายภราดร ทองเสน

ภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล

คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

เรื่อง/สื่อเผยแพร่  :        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                             สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ผศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น