การเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ

      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทั่วประเทศไทย และได้ทอดพระเนตรเห็นการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน  ซึ่งส่วนใหญ่ยังยากจนและขาดสารอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทโปรตีน   โดยโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่มีราคาถูกสุดที่พอจะซื้อหามาบริโภคได้ในชีวิตประจำวันของประชาชนคือปลา  แต่จำนวนปลาที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้น นับวันก็มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากปลาโตไม่ทันต่อความต้องการบริโภคของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ราษฎรได้มีปลาบริโภคอย่างเพียงพอ พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นศึกษาและทดลองขยายพันธ์ปลาชนิดต่างๆในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

 

            เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ในขณะนั้นยังทรงพระอิสริยยศ เจ้าฟ้าชายอากิฮิโตะ  มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ทูลเกล้าฯ ถวายลูกพันธุ์ปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย ( Tilapia nilotica)  แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 50 ตัว ในชั้นต้นได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปพักเลี้ยงไว้ในบ่อปลาในพระราชวังสวนจิตรลดา ผลปรากฏว่าปลาเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี  ต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” และพระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวให้แก่กรมประมง จำนวน 10,000 ตัว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อให้กรมประมงนำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองในบริเวณเกษตรกลาง บางเขน และสถานีประมงจังหวัดต่างๆ อีก 15 แห่ง หลังจากนั้นจึงได้แจกจ่ายปลานิลพระราชทานแก่พสกนิกร รวมทั้งปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนทำให้ปลานิลแพร่หลายเป็นที่นิยมและกลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

          ปลานิล (Tilapia Nilotica) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus เป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาหมอสี ชิคลิดี้ (Cichlidae) ซึ่งมีมากกว่า 600 ชนิด  เป็นปลาที่สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่ทวีปแอฟริกา และแถบอเมริกาตอนกลางและตอนใต้ พบได้ทั่วไปตามบึง คลอง หนองน้ำและทะเลสาบในซูดาน ยูกันดา แถบลุ่มน้ำไนล์ของอียิปต์และปาเลสไตน์

          เนื้อปลานิลมีรสชาติดี จึงเป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวางและเป็นปลาที่แพร่ขยายพันธุ์ง่าย โตเร็ว สามารถเลี้ยงได้ในทุกสภาพท้องถิ่นของประเทศ ปลานิลที่ขายกันในท้องตลาดกว่าร้อยละ 80 เป็นผลผลิตที่ได้จากการเพาะเลี้ยงของเกษตรกร

 

  

        ปลานิลเพศผู้จะโตเร็วกว่าปลานิลเพศเมีย เนื่องจากปลานิลเพศเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดทั้งปีโดยจะวางไข่เมื่ออายุประมาณ 5-6 เดือน  โดยในช่วงฟักไข่และอนุบาลลูกปลาในปาก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แม่ปลาจะไม่กินอาหาร จึงโตชากวาปลานิลเพศผู้  น้ำหนักและขนาดไม่เพิ่ม ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร และเมื่อมีการแพร่พันธุ์ในบ่อเลี้ยงจำนวนมาก จะทำให้ปลาแย่งอาหารกัน ปลาจึงเจริญเติบโตช้า และทำให้ในบ่อหรือในกระชังปลา มีขนาดปลาที่แตกต่างไม่สม่ำเสมอกัน  เปนปญหาในระบบการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ที่ตองการปลาขนาดใหญ่ โตเร็ว และมีขนาดสม่ำเสมอกัน

 

       การที่ปลานิลเพศผู้เจริญเติบโตได้ดีกว่าปลานิลเพศเมีย และปลาที่อยู่ในบ่อหรือกระชังเดียวกันจะได้ขนาดที่สม่ำเสมอกันมากกว่า จึงมีการพัฒนาเทคนิคต่างๆเพื่อผลิตพันธุปลานิลเพศผู้ ที่เรียกว่าเทคนิคการแปลงเพศให้ลูกปลาเป็นเพศผู้ล้วน

       สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้เริ่มทำการเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 เป็นต้นมา โดยนายปณิธาน แก้วจันทวี นักวิชาการประมง พร้อมทีมวิจัย ได้พัฒนาระบบและกระบวนการผลิตลูกพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ รวมทั้งการจัดการพ่อแม่พันธุ์ปลานิลอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลูกพันธุ์ปลามีการเจริญเติบโตดี อัตรารอดสูง อัตราแลกเนื้อต่ำ เป็นที่ต้องการของตลาด

 

การผลิตลูกพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ โดยการแปลงเพศลูกปลานิลให้เป็นเพศผู้ล้วน เริ่มจาก

-การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ปลานิลที่ใช้สำหรับการเพาะพันธุ์ ควรเป็นสายพันธุ์แท้ในแต่ละสายพันธุ์ การคัดเลือกโดยการสังเกตลักษณะภายนอกของปลาที่สมบูรณ์ตรงตามสายพันธุ์  ไม่มีบาดแผล เชื้อโรคปรสิตตามตัว อวัยวะเพศสมบูรณ์เห็นได้ชัดเจน

-การเพาะพันธุ์ปลานิลในบ่อซีเมนต์  เป็นวิธีปฏิบัติที่ค่อนข้างสะดวกต่อการจัดการในการเก็บรวบรวมลูกปลาได้ง่าย

-การรวบรวมไข่ปลานิล วิธีการเก็บไข่จากปาก ทำได้โดยต้อนรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ภายในบ่อ แล้วคัดเฉพาะแม่พันธุ์ เพื่อที่จะทำการเปิดปาก นำไข่ที่ได้ไปใส่ในถาดที่มีระบบน้ำวนตลอดเวลา จนกว่าไข่จะฟักออกเป็นตัว แล้วนำไปอนุบาลต่อไป

การนำไข่ออกจากปากแม่ปลา เพื่อนำไปฟักก่อน เพื่อให้ทราบถึงอายุของไข่ปลาในการนำมาฟัก ซึ่งระยะการเจริญของไข่ปลานั้น แบ่งออกเป็น 5 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1 ไข่ยังไม่มีการพัฒนา มีสีเหลือง หรือสีน้ำตาล

ระยะที่ 2 ไข่มีการพัฒนา เริ่มเห็นจุดดำ ๆ 2 จุด

ระยะที่ 3 เริ่มมองเห็นดวงตาได้ชัดเจน และมีหางใส ๆ เกิดขึ้น

ระยะที่ 4 ลูกปลาสามารถว่ายน้ำได้ แต่ยังมีถุงไข่ติดหน้าท้อง

ระยะที่ 5 ถุงไข่แดงหน้าท้องยุบลง

-การแปลงเพศลูกปลานิล   เนื่องจากลูกปลาที่ฟกเปนตัวใหมๆ ยังไมมีการพัฒนาเปนเพศใดเพศหนึ่งอยางชัดเจน การเพิ่มฮอรโมนเพศจากภายนอกในชวงเวลาดังกลาว จึงสามารถควบคุมใหแสดงออกเปนเพศใดเพศหนึ่งได้ โดยขึ้นกับชนิดของฮอรโมน เช่น ให้ฮอรโมนแอนโดรเจน (Androgen) จะทําใหเปนปลาเพศผู้ ให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทําใหเปนปลาเพศเมีย ซึ่งฮอร์โมนที่นิยมใช้ในการแปลงเพศลูกปลานิลให้เป็นเพศผู้ คือ ฮอรโมน 17α-methyltestosterone (MT) เปนฮอรโมนแอนโดรเจนที่ได้ผลมากในการแปลงเพศปลาใหเปนเพศผูโดยใชผสมในอาหารใหกินทันทีที่ถุงไขแดงของลูกปลายุบ โดยหลังจากถุงไข่แดงยุบหมด ให้ย้ายลงกระชังอนุบาลลูกปลา ในอัตราความหนาแน่น 10-15 ตัว/ลิตร หรือ 10,000-15,000 ตัว/น้ำ 1 ตัน และเริ่มให้อาหารที่ผสมฮอร์โมนเพศผู้ 17α – methytestosterone (MT) วันละ 5 มื้อ เป็นเวลา 21 วัน หลังจากนั้นให้อนุบาลต่อโดยใช้อาหารปกติที่ไม่ต้องผสมฮอร์โมน จนกว่าจะได้ขนาดตามที่ต้องการ

-การตรวจสอบอัตราการแปลงเพศลูกพันธุ์ปลานิล ทำการตรวจสอบการแปลงเพศจากการสุ่มลูกปลา ก่อนที่จะจำหน่าย เพื่อทำการผ่าเช็คเพศ และทำการเลี้ยงลูกปลาชุดนั้นไว้อีก 30 วันเพื่อทำการผ่าเช็คผลอีกครั้ง โดยการผ่าตัดเอาอวัยวะสืบพันธุ์ ภายในของปลาดังกล่าวไปย้อมสี ด้วยสีย้อมอะซีโตนคามิน แล้วนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ดูว่าเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้หรือเพศเมีย โดยจะต้องตรวจสอบปลานิล 100 ตัว แล้วได้เพศผู้ 98 100 % จึงจะประสบผลสำเร็จ

    ลูกพันธุ์ปลานิลแปลงเพศที่ทางสถานีวิจัยประมงกำแพงแสนผลิตได้พบว่าสามารถรับประกันการมีอัตราการแปลงเพศเป็นเพศผู้ไม่ต่ำกว่า 98% เจริญเติบโตได้ดี ลักษณะรูปทรงเป็นที่ต้องการของตลาด  มีอัตรารอดสูง อัตราแลกเนื้อต่ำ และได้ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) และเป็นไปตามเกณฑ์การจัดการฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ปลานิลตามหลักพันธุศาสตร์ จากกรมประมง  

      สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลานิลแปลงเพศเพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในราคาย่อมเยา รวมทั้งรับปรึกษาปัญหาต่างๆในการเลี้ยงปลานิล เช่นเรื่องการจัดการการเลี้ยงปลานิล โรคปลานิล อาหารปลานิล เป็นต้น

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : นายปณิธาน แก้วจันทวี

สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน

คณะประมง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่  :  วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย 

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                    สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

นายปณิธาน แก้วจันทวี