การขึ้นรูปลวดลายปูนปั้นประดับสะพานด้วยการทำสำเนาดิจิทัล 3 มิติ

อนุรักษ์มรดกเมืองที่ถูกลืม ด้วยเทคโนโลยี 3 D

ตลอดระยะเวลาร่วม100 ปี ที่ผ่านมา สะพานหลายแห่งถูกแก้ไขดัดแปลงไปจากเดิม บางแห่งก็ถูกรื้อทำลายเนื่องจากการขยายช่องทางจราจร ประติมากรรมและลวดลายประดับสะพานจึงถูกทำลายไปด้วยโดยไม่มีการจัดเก็บรักษา บางส่วนถูกย้ายตำแหน่งหรือถูกตัดต่อให้เข้ากับรูปร่างของสะพานที่ถูกปรับขยาย ประติมากรรมและลวดลายประดับสะพานส่วนใหญ่ผ่านการซ่อมแซม เนื่องจากความเสียหายและการเสื่อมสภาพของวัสดุตามกาลเวลา แต่การซ่อมแซมหลายครั้งที่ผ่านมามักขาดการดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่นการปั้นทับของเดิมโดยช่างที่ขาดทักษะและความชำนาญ การทาสีทับบนปูนจนลวดลายสึกกร่อน การใช้วัสดุที่แตกต่างจากวัสดุเดิม ฯลฯ ปัจจุบันลวดลายประติมากรรมเหล่านี้หลายแห่งจึงผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

 

การอนุรักษ์ประติมากรรมปูนปั้นประดับสะพานแนวทางหนึ่ง ได้แก่การทำสำเนา 3 มิติ เพื่อจัดเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับศึกษาและการซ่อมแซมที่ถูกต้องต้องต่อไป การทำสำเนา 3 มิติ เป็นวิธีการที่ใช้กับมรดกทางวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่กลางแจ้งและเคลื่อนย้ายไม่ได้

ผศ.ดร.คุณยุต เอี่ยมสอาด อาจารย์ประจำภาควิขา วิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ใช้เทคโนโลยี 3 มิติ ต่างๆ เช่น Computer Graphics และ LASER Scanning เพื่อทำการสแกนเก็บพื้นผิว 3 มิติของชิ้นงาน แล้วเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัล 3 มิติ และขึ้นรูปชิ้นงาน 3 มิติ เพื่อทดสอบการทำซ้ำด้วย CNC Machining และทำการแต่งชิ้นงานปูนปลาสเตอร์ได้โดยตรง ไม่ใช้โฟมอย่างในโรงหล่อทั่วไป ผลลัพธ์คือสามารถลดความยุ่งยากในการทำงานของช่างงานประติมากรรมลงได้อย่างมาก รวมทั้งสัดส่วนขนาดต่างๆจะมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าการถอดพิมพ์แบบปัจจุบัน

ภายใต้การร่วมมือกันระหว่างสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมและลวดลายปูนปั้นประดับสะพานในกรุงเทพมหานคร โดยใช้การขึ้นรูปลวดลายปูนปั้นประดับสะพานด้วยการทำสำเนาดิจิทัล และการขึ้นรูปชิ้นงาน 3 มิติ เริ่มดำเนินการศึกษาประติมากรรมและลายปูนปั้นประดับ “สะพานมหาดไทยอุทิศ” เป็นแห่งแรก ทำให้สามารถเก็บรักษาต้นแบบงานประติมากรรมและลายปูนปั้นที่ทรงคุณค่าทางศิลปกรรมและประวัติศาสตร์ อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอย่างถูกต้องต่อไปในอนาคต

การขึ้นรูปลวดลายปูนปั้นประดับสะพานด้วยการทำสำเนาดิจิทัล 3 มิติ ได้รับรางวัลชมเชย ในการประกวดนวัตกรรม มก. ปี 2559 ด้านมนุษย์และสังคม ประเภทบุคลากรซีเนียร์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 และร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560 ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน เมื่อวันที่ 27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

  

 

 

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  :   ผศ.ดร.คุณยุต เอี่ยมสอาด

                               ภาควิขาวิศวกรรมเครื่องกล

                               คณะวิศวกรรมศาสตร์

                               มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สื่อเผยแพร่  :        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                               สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                               โทร. 02 561 1474

                              e-mail : rdiwan@ku.ac.th