เทคโนโลยีการจัดการเพื่อยืดอายุผัก ผลไม้ และดอกไม้สดเพื่อการส่งออก

จากแฟ้มงายวิจัย ม ก เสาร์ที่23 กค54

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 23 เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เรื่อง “เทคโนโลยีการจัดการเพื่อยืดอายุผัก ผลไม้ และดอกไม้สดเพื่อการส่งออก”

บทวิทยุโดย  หทัยรัตน์  ศรีสุภะ

………………………………………………………………………………………………………………………………………….

 -เพลงประจำรายการ-

 สวัสดีค่ะ คุณผู้ฟังทุกท่านค่ะ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ค่ะ รายการนี้ผลิตโดย  ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีดิฉัน…………………..เป็นผู้ดำเนินรายการค่ะ

คุณผู้ฟังค่ะ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางเกษตรกรรม การเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าทางเกษตรกรรมของประเทศโดยเฉพาะผลิตผลทางพืชสวนเช่น ผัก ผลไม้ และดอกไม้จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันได้ ซึ่งปัจจุบันผลิตผลพืชสวนหลายชนิด เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน และกล้วยไม้ เป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศมาก เนื่องจากเป็นแหล่งของสารอาหาร สารป้องกันโรค วิตามินและเส้นใย ตลอดจนสุนทรียภาพทางจิตใจ เช่น ดอกไม้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่สามารถส่งออกผลิตผลเหล่านี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเทคโนโลยีที่เกษตรกร ผู้ส่งออก หรือผู้เกี่ยวข้องใช้การจัดการกับพืชเหล่านี้ภายหลังเก็บเกี่ยวยังไม่ดีเพียงพอ ประกอบกับผลิตผลที่เก็บเกี่ยวจากต้นมาแล้วนั้นยังคงใช้อาหารที่สะสมอยู่เพื่อความอยู่รอด เมื่อผลิตผลใช้อาหารที่สะสมอยู่หมดไป ผลิตผลนั้นก็จะค่อยๆเหี่ยวเฉาลงและเสื่อมสภาพไปในที่สุด เนื่องจากการเข้าทำลายของโรคและแมลงด้วย   ดังนั้นถ้าหากเกษตรกร ผู้ส่งออก  และผู้เกี่ยวข้องรู้และเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ก็จะสามารถนำไปปรับใช้ในงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการจัดการผลผลิตหรือการส่งออก ก็จะทำให้สามารถลดการสูญเสียทั้งทางด้านผลผลิต, ต้นทุน, แรงงาน และการตลาด อีกทั้งยังสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ทำให้สามารถส่งออกผลิตผลไปยังตลาดต่างประเทศที่อยู่ห่างไกลทางเรือได้เป็นปริมาณมาก   เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศและชาวเกษตรกร  รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตร อีกมากมายหลายชนิด แต่วิธีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว พืชผัก ผลไม้ และดอกไม้สด อย่างไรให้ยังคงสภาพเดิมสามารถลดความเสียหายและยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าได้ถูกวิธีการมากที่สุด และจะเป็นผลงานวิจัยของนักวิจัยท่านใดติดตามในช่วงหน้าตอนนี้พักสักครู่ค่ะ…..

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังค่ะ  ประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ แหล่งธุรกิจทางเกษตรกรรม มีผลไม้และผักสดที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอยู่หลายชนิด แต่เนื่องจากบรรดาพืชผลทางการเกษตรทั้งหลายเป็นสินค้าที่บอบช้ำง่าย มีระยะเวลาในการซื้อขายที่จำจัด คุณผู้ฟังหรือชาวเกษตรที่ทำสวนผลไม้ก็คงจะเห็นด้วยใช่ไหมค่ะ และเมื่อมีปัญหาก็ย่อมมีทางแก้ไขค่ะ ดิฉันขอให้ชาวเกษตรกรหมดกังวลไปได้แล้วค่ะ เพราะว่าวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.ของเราก็มีงานวิจัยดีๆ มาฝากกับคุณผู้ฟังเหมือนเช่นเคยค่ะ

และงานวิจัยที่ดิฉันจะนำมาเล่าให้คุณผู้ฟังได้ฟังกันนั้นก็ เป็นงานวิจัยที่นับได้ว่าไม่เพียงแต่จะมีประโยชน์ต่อชาวเกษตรกรเท่านั้นนะค่ะ ยังเป็นประโยชน์ต่อต่อการส่งออกสินค้าทางเกษตรซึ่งเป็นหัวใจหลักในธุระกิจการส่งของประเทศเลยก็ว่าได้นะค่ะ และงานวิจัยที่ว่านี้ก็คือ งานวิจัยของ คุณ อภิตา บุญศิริ  และคณะ  จากสถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ค่ะ  ซึ่งได้ทำการค้นคว้าและทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง เทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อลดความเสียหายและยืดอายุการเก็บรักษาผัก ผลไม้ และดอกไม้สดเพื่อการส่งออก และการศึกษาค้นคว้างานวิจัยชิ้นนี้ก็ไม้ได้เพียงแต่แค่จะทำการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้นแต่ได้มีการฝึกอบรมด้วย  โดยทางผู้ทำการวิจัยได้ดำเนินการประสานงานไปยังผู้นำกลุ่มเกษตรกร เพื่อสำรวจต้องการของเกษตรกรและนำข้อมูลที่ได้มาเขียนแผนการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร มีความทันสมัย และสามารถนำไปใช้หรือประยุกต์ใช้ให้ได้ประโยชน์ที่สูงสุด จนการนำไปสู่การนำไปใช้ที่ได้ผลจริงด้วยค่ะ

ซึ่งการจัดการอบรมโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อลดความเสียหายและยืดอายุการเก็บรักษาผัก   ผลไม้   และดอกไม้สดเพื่อการส่งออก  โดยวัตถุประสงค์ในการอบรมก็เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจหลักเบื้องต้นในด้านสรีรวิทยา และเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยวพืชสวน และสามารถนำความรู้ และแนวคิดที่ได้รับไปปรับใช้ในทางการค้า การผลิต และการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผู้เข้ารับการอบรมยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งกันและกันอีกด้วย  ที่สำคัญการถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้ทำให้กลุ่มเกษตรกร สามารถเข้าใจเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยวมากยิ่งขึ้น และจะนำไปสู่กระบวนการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอนและมีประสิทธิภาพมากที่สุด  คุณผู้ฟังขบวนการที่จะนำเทคโนโลยีการเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตรเข้ามาช่วยนั้นก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกันนะค่ะ เดี๋ยวพักกันสักครู่แล้วช่วงหน้าเรากลับมาทำความรู้จักกับแต่ละวิธีที่ว่านี้กันต่อนะค่ะ….

 -เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังค่ะ..  กระบวนการที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้หลักการที่ใช้ยืดอายุผลผลิตนั้น  ก็คือการควบคุมขบวนการเปลี่ยนแปลงผลผลิต ที่นำไปสู่ความเสื่อมสลายโดยการควบคุมอัตราการหายใจของผลผลิต หลังการเก็บเกี่ยวให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดก็จะยืดอายุได้นานส่วนการจัดการปัจจัยภายนอกให้เหมาะสมนั้นก็คือ  การนำเทคโนโลยีการเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตรเข้ามาช่วย อย่างเช่น

1. การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ผลผลิตแต่ละชนิด

2. ควบคุมความชื้น ภายในภาชนะบรรจุไม่ให้เกิดหยดน้ำ

3. ควบคุมและป้องกันการเข้าทำลายของโรคและแมลง

4. ควบคุมปริมาณก๊าชเอทธิลีน ที่ผลผลิตสร้างขึ้นภายในภาชนะบรรจุไม่ให้มีปริมาณมาก เพราะสามารถทำความเสียหายให้กับผลผลิตได้

5. จัดบรรยากาศแวดล้อมผลผลิตสด ภายหลังการบรรจุครั้งแรกให้เหมาะสม แล้วปล่อยให้มีการปรับสภาพภายในภาชนะบรรจุเองด้วยตัวของผลผลิตเอง

แต่ว่ามีอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน  นั้นก็คือขั้นตอนการเก็บเกี่ยวนั้นเองค่ะ และเป็นวิธีหนึ่งที่เสียค่าใช้จ่ายสูง ไม้ผลบางชนิดจะเสียค่าใช้จ่าย ในการเก็บเกี่ยวสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์  ของราคาผลผลิต ความพยายามที่จะลดการสูญเสียผลผลิตในการเก็บเกี่ยวและการลดค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวจะช่วย ให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นอย่างมากการเก็บเกี่ยวผลไม้ ฉะนั้นเกษตรกรจำเป็นจะต้องทราบถึงขั้นตอนที่ถูกวิธีซึ่งจะแบ่งออกได้2ขั้นตอนใหญ่ๆคือ
1.  การใช้มือเก็บเกี่ยว เป็นวิธีการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพดี สามารถคัดเลือกผลไม้ที่จะเก็บเกี่ยว และมีความเสียหายต่อผลผลิตไม่มากนัก แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการบริหารแรงงานและเสียค่าใช้จ่ายสูง การเก็บเกี่ยวด้วยมือบางครั้งก็มีการใช้เครื่องมือช่วยบ้าง เช่น การเก็บเกี่ยวมะม่วง อาจจะใช้ตระกร้อสอย ไม้ผลบางชนิดมีขนาดต้นสูงมากจำเป็นต้องใช้บันไดช่วยในการเก็บเกี่ยว อุปกรณ์ที่ช่วยในการเก็บเกี่ยวด้วยมือมีมากมายหลายชนิด ผู้ผลิตจะต้องศึกษาวิธีการเก็บไม้ผลแต่ละชนิดแล้วตระเตรียมอุปกรณ์ช่วยในการเก็บเกี่ยวให้พร้อม
2. การใช้เครื่องจักรกล ในประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะมีปัญหาค่าแรงสูง ดังนั้นเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวจึงมีผู้ผลิตเครื่องจักรแบบต่างๆ หลายชนิดเพื่อจะใช้ในการเก็บเกี่ยวไม้ผลแต่ละอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ผลที่จะนำไปส่งโรงงานแปรรูป เช่น บรรจุกระป๋องหรือทำแยม

การเก็บเกี่ยวผลไม้ถือหลักที่ว่าผลไม้บอบช้ำน้อยที่สุด เช่นการเก็บเกี่ยวกล้วยเราอาจใช้ถุงพลาสติกบาง ๆ คลุมเครือกล้วยเสียก่อนแล้วจึงตัดเครือออกจากต้นจะช่วยป้องกันรอยข่วน   บนผลกล้วยได้ หรือการเก็บเกี่ยวผลไม้ลูกโตๆ จากต้นสูงๆ อาจต้องใช้เชือกผูกลูกแล้วค่อยหย่อนลงมาเป็นต้น ผลไม้บางชนิดจะต้องปล่อยให้อยู่บนต้นจนมีคุณภาพที่ต้องการเสียก่อนจึงจะเก็บ ได้ เช่น องุ่น เงาะ เป็นต้น ถ้าเราเก็บผลไม้เหล่านี้ในระยะที่ยังไม่สุกจะทำให้รสเปรี้ยวหรือคุณภาพไม่ เป็นที่พอใจของผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะผลไม้ประเภทนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นน้ำตาลได้ หลังจากเก็บมาจากต้นแล้ว แต่ไม้บางประเภทเมื่อเก็บจากต้นแล้วสามารถเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาลได้เราก็อาจ เก็บก่อนที่ผลจะสุกเต็มที่ได้ เช่น กล้วยและสับปะรด  เพื่อส่งไปยังตลาดที่อยู่ไกลๆได้โดยยังคงความสดเอาไว้ เพื่อรอการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค

 -เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังค่ะ  เราได้รู้จักกับขั้นตอนในการเก็บเกี่ยวซึ่งมีอยู่ 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ นั้นก็ได้แก่ การเก็บเกี่ยวด้วยมือและการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักร ว่าแต่ละขั้นตอนมีประสิทธิภาพที่ต่างกันอย่างไร ผลผลิตแบบใดควรใช้วิธีใดจึงจะเหมาะสมที่สุด  แต่ถ้าจะให้ผลผลิตของเรานั้นมีคุณภาพที่ดี จำหน่ายได้ราคา ก็ควรที่จะทราบกระบวนการเปลี่ยนแปลงของผลไม้ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการเจริญเติบโตของผลไม้ก่อนถึงระยะสุกเต็มที่ จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ดังนั้นชาวเกษตรจำเป็นต้องสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นด้วย อย่างเช่น  การเพิ่มขนาดของผล หลังจากติดผลแล้ว  จะมีการเพิ่มขนาดทั้งในทางเส้นผ่าศูนย์กลางและทางด้านยาว  การเปลี่ยนสีของส่วนต่างๆ ของผล  สีเปลือกของผล  การเปลี่ยนแปลงของสีนั้นแล้วแต่ชนิดของผลไม้ นอกจากเปลือกผิวของผลจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อผลแก่แล้วเนื้อของผล และเมล็ดก็จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน , การอ่อนตัวของผล เมื่อผลไม้ยังไม่แก่ผลจะแข็งตัวมาก เมื่อแก่เข้าจะค่อยๆ อ่อนตัวลง , การเกิดนวล ไม้ผลบางชนิดจะขับสารบางอย่างออกมาอาจเป็นพวกขี้ผึ้ง มีลักษณะเหมือนขี้ผึ้ง เกาะอยู่ตามผิวของผลเมื่อผลไม้ใกล้จะแก่ เราเรียกว่า “นวล”  จำนวนแป้งในผลลดลง เมื่อผลติดใหม่ๆ อาหารที่ส่งไปจากใบซึ่งปกติอยู่ในรูปของสารละลายพวกน้ำตาล เมื่อถึงระยะเวลาผลจะมีการเปลี่ยนแปลงของแป้งที่สะสมอยู่ พอแก่ขึ้นแป้งจะค่อยเปลี่ยนเป็นน้ำตาล จึงเป็นผลทำให้ผลผลิตนั้นมีรสหวาน เช่น ข้าวโพดหวาน นั่นเองค่ะ นอกจากนั้นยังได้ผลพลอยได้อีกอย่างนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงของผลที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

จากการเปลี่ยนแปลงของผลไม้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เราสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการเก็บผลไม้ได้โดยการตั้งเป็นมาตรฐานในการเก็บที่เรียกว่า “picking index” การเก็บเกี่ยวเราอาจใช้มาตรฐานเก็บวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีดังต่อไปนี้ก็ได้ค่ะ..

1.การใช้ขนาด การวัดขนาดของผลไม้นิยมใช้กับสวนทั่วๆ ไป โดยมากชาวสวนจะอาศัยความชำนาญ โดยไม่มีมาตรฐานตายตัวที่ชัดเจนค่ะ

2.การเปลี่ยนแปลงทางรูปร่าง ผลไม้บางชนิดเมื่อแก่แล้ว บางส่วนของผลจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างไป เช่น กล้วยถ้าเหลี่ยมลบแสดงว่าแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้

3.ดูสีส่วนต่างๆ ของผล ผลไม้ส่วนมากถ้าสุกจะมีสีเหลือง เพราะเกิดสารบางอย่างขึ้น เช่น  คาโรตีน , แอนโธแซนธิน , คาโรตินอยด์  ผลไม้บางชนิดมักจะมีสีเมื่อใกล้จะสุก แต่ว่าสีของผลไม้ก็อาจเกิดจากปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น อุณหภูมิ แสงแดด ฉะนั้นก่อนเก็บเกี่ยวก็ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนค่ะ

4.ขั้วผล ตรงส่วนขั้วที่ต่อมาจากกิ่งของผลไม้บางชนิด เมื่อแก่จะมีรอยหรือเกิดแบ่งแยกผลออกจากกิ่ง เช่น แตงไทย

5.จำนวนวัน การใช้จำนวนวันเป็นมาตรฐานในการเก็บเกี่ยวเราอาจทำได้โดยเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งของการเจริญเติบโต เช่น ตั้งแต่เริ่มออกดอก   วิธีนี้เป็นวิธีง่ายและควรใช้เป็นไม้ผลที่ใช้เวลาแก่นาน แต่ว่าจำนวนวันที่แก่ของผลไม้บางชนิดอาจแตกต่างออกไป ถ้าเราเก็บเกี่ยวเพื่อส่งตลาดที่มีระยะทางต่างกัน

6.การใช้จำนวนแป้งในผล การใช้จำนวนแป้งในผลเป็นเครื่องวัด อาศัยหลักที่ว่าผลไม้จะเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำตาลเมื่อแก่ เราต้องทำการศึกษาดูว่าเมื่อผลแก่เต็มที่หรือสุกจะมีแป้งเหลือเท่าไร แล้วทำเป็นมาตรฐานเอาไว้

และข้อที่ 7.การใช้จำนวนน้ำตาลปริมาณน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นในขณะที่แป้งลดลงเมื่อผลแก่เพราะแป้งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล

เป็นอย่างไรบ้างค่ะคุณผู้ฟัง สำหรับวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่างๆ ที่ได้นำมาฝากทั้ง 7 วิธีนี้ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับผลผลิตแต่ละอย่าง เพื่อจะได้สินค้าดีมีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค..และขายได้ราคาดีอีกด้วยค่ะ คุณผู้ฟังค่ะเดี๋ยวเราพักกันสักครู่ก่อนค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

  คุณผู้ฟังค่ะ  หลังจากที่ทำการเก็บเกี่ยวผลไม้มาแล้ว จะต้องมีขั้นตอนอีกหลายอย่างที่จะต้องจัดการกับผลไม้ ผลไม้บางอย่างอาจมีขั้นตอนน้อยมากเพราะราคาต่ำมาก ส่วนผลไม้ที่มีราคาสูง จะมีขั้นตอนมาก หลังจากเก็บเกี่ยวผลไม้อาจถูกทำความสะอาด ผลไม้บางอย่างจะถูกล้างน้ำหรือนำไปคัดขนาดแบ่งแยกตามคุณภาพของผล เช่น สีของผล จากนั้นจึงถูกนำไปบรรจุในภาชนะการคัดขนาดและการบรรจุไม้ผลบางชนิดก็ใช้เครื่องจักรโดยทั่วไปผลไม้จะถูกนำไปขายโดยทันที แต่ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการขนส่ง หรือมีปัญหาการตลาด เช่น จะต้องขนส่งระยะทางไกล หรือราคาผลผลิตตกต่ำ ก็จะต้องมีวิธีการยืดอายุของผลไม้ด้วยวิธีการต่างๆวิธีการเหล่านี้ได้แก่  การใช้อุณหภูมิต่ำ เมื่อเก็บเกี่ยวผลไม้มาแล้ว และได้ดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ จนกระทั่งบรรจุภาชนะแล้ว ผลไม้จะถูกนำไปลดอุณหภูมิลงซึ่งอาจจะใช้ลมเย็น น้ำเย็น หรืออาจใช้วิธีลดความดันอากาศในภาชนะปิดที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อผลไม้มีอุณหภูมิต่ำตามที่กำหนดแล้ว จึงนำไปเก็บรักษาในห้องเย็น โดยขนส่งด้วยรถยนต์หรือเรือที่มีระบบห้องเย็น ซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ การเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำจะช่วยให้ผลไม้ลดอัตราการหายใจลงทำให้ผลไม้มี อายุยืนยาวนานขึ้น จากการศึกษาวิจัยพบว่าผลไม้ชนิดต่างๆ ควรจะเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ แตกต่างกัน ผลไม้เขตร้อนบางอย่าง เช่น กล้วยหอมทองถ้าเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียส จะทำให้เปลือกผลเป็นสีดำไม่สามาถนำไปจำหน่ายได้ นอกจากอุณหภูมิที่เก็บรักษาจะเหมาะสมแล้ว การหมุนเวียนของอากาศจะช่วยให้อุณหภูมิในห้องเย็นมีคามสม่ำเสมอ และจะต้องมีความชื้นสัมพัทธ์สูงพอเหมาะกับความต้องการของผลไม้แต่ละชนิด

ผลประโยชน์ของการเก็บรักษาผักและผลไม้ดังที่กล่าวมา มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมากๆสามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายได้ทั่วทุกมุมโลก ง่ายต่อการปฏิบัติและไม่มีสารปนเปื้อน เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด  แต่การที่จะคงสภาพของผลผลิตให้มีคุณภาพและมีสภาพที่ดีนั้น ก็ใช่ว่าจะระมัดระวังเพียงแค่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวเท่านั้น เพราะยังมีอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญมากเช่นกัน นั่นก็คือ ขั้นตอนระหว่างการขนส่งสินค้านั่นเองค่ะ  ถ้าดูแลขั้นตอนการเก็บเกี่ยวมาอย่างดีแต่สุดท้ายผลผลิตได้รับความเสียหายจากการขนส่งก็เท่ากับว่าสิ่งที่ทำมานั่นศูนย์เปล่า  พืชผลทางการเกษตรเป็นสินค้าที่มีความบอบบาง ช้ำง่าย จึงต้องควรรอบคอบและใส่ใจในทุกขั้นตอนเพื่อเป็นการส่งคุณภาพพร้อมความอร่อยให้กับผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

สัปดาห์หน้า ดิฉัน จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆมาฝาก คุณผู้ฟังอีก  อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ได้ในวัน เวลาเดียวกันนี้

หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วค่ะ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีค่ะ…….