กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 : กล้วยพันธุ์ดีเพื่อการค้า

กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย เป็นกล้วยที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร มากด้วยคุณประโยชน์หลากหลาย  เป็นไม้ผลที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน นับตั้งแต่อดีต จนถึงยุคปัจจุบันและจะอยู่คู่คนไทยในอนาคตอย่างยั่งยืนสืบไป เห็นได้จากคนไทยแทบทุกบ้านเรือนมักปลูกกล้วยน้ำว้าไว้บริโภคในครอบครัว   แต่ในปัจจุบันมีการปลูกกล้วยเพื่อเป็นการค้าแบบเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น เนื่องจากการปลูกกล้วยน้ำว้านอกจากให้ผลเพื่อรับประทานสดแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูปที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กล้วยตาก กล้วยแผ่นอบ กล้วยกวน แป้งกล้วย กล้วยทอด  รวมทั้งอาหารและขนมจากกล้วยน้ำว้าอีกมากมาย นอกจากนั้นทุกส่วนของกล้วยก็ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ใบตอง หัวปลี เป็นต้น

 

 

ปัจจุบันความต้องการกล้วยน้ำว้ามีเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก  ช่วงเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาพบว่าราคากล้วยน้ำว้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก  จากตัวเลขของกรมศุลการกรปี 2557 พบว่ามูลค่าการส่งออกกล้วยผลสดอื่น นอกจากกล้วยหอมทองและกล้วยไข่รวมทั้งกล้วยแปรรูปซึ่งส่วนใหญ่เป็นกล้วยน้ำว้า มีมูลค่ากว่า 216 ล้านบาท เกษตรกรหันมาสนใจวิธีการผลิตกล้วยให้ได้ผลผลิตสูงและคุณภาพดีกันอย่างมาก กล้วยน้ำว้าพันธุ์ดี จึงมีความสำคัญยิ่งในการผลิตกล้วยเพื่อการค้า

อาจารย์กัลยาณี สุุวิทวัส นักวิจัยชำนาญการพิเศษ สถานีวิจัยปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานในสังกัดคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาและพัฒนาพันธุ์กล้วยน้ำว้ามากว่า 10 ปี จากกล้วยน้ำว้าพันธุ์ต่างๆ ที่มีการเก็บรวบรวมไว้ที่สถานีวิจัยปากช่อง ทำการคัดเลือก ปลูกทดสอบและพัฒนาสายพันธุ์จนได้กล้วยพันธุ์ดีเหมาะต่อการปลูกเพื่อการค้าให้ชื่อว่าพันธุ์ กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ให้ชื่อตามวาระครบรอบ 50ปี ของการก่อตั้งสถานีวิจัยปากช่อง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นโอกาสให้กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ได้มีโอกาสเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรกสู่สาธารณะ  จนปัจจุบันถือเป็นสายพันธุ์ดีที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรปลูกกันอย่างกว้างขวางในทั่วทุกภาคของประเทศไทย สามารถขยายพันธุ์ปลูกจากหน่อ และสถานีวิจัยปากช่องได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขยายพันธ์ให้แก่ผู้สนใจทั่วไปด้วย

ลักษณะเด่นกล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 คือมีลักษณะลำต้นสูงใหญ่กว่า 3 เมตร ให้ผลผลิตสูง เครือใหญ่น้ำหนักเครือมากกว่า 30 กิโลกรัม ผลผลิตที่ได้มากกว่า 10 หวีต่อเครือ จำนวนผลประมาณ 18.5 ผลต่อหวี ไส้ผลสีเหลือง เนื้อแน่น

ลักษณะประจำพันธุ์ของกล้วยน้ำว่ปากช่อง 50 คือมีลักษณะลำต้นสูงใหญ่ ความสูงเฉลี่ยประมาณ 3.8 เมตร รอบวงต้น 101.6 เซ็นติเมตร โคนต้นมีสีเขียวอมชมพู กาบใบด้านนอกมีสีเขียว (yellow-green 145 (A) group) มีปื้นดำเล็กน้อย กาบใบด้านในมีสีเหลืองอมเขียว (yellow-green 149 (D) group) มีปื้นสีแดง แผ่นใบด้านล่าง(wing)โค้งมนทั้งสองด้านเท่ากัน(both side round) ร่องของกาบใบม้วนเข้าหากันจนชิดก้านใบด้านล่าง แผ่นใบสีเขียวอมชมพู  สีแผ่นใบ (green 137(B) group)สีของกาบปลีด้านนอกสีม่วงแดง (grayed-purple 183(A) group) ด้านในสีแดงเข้มสม่ำเสมอ (grayed-red 178(B) group) กลีบดอกรวมสีขาวใสมีปื้นแดง (grayed-red 180(B) group) ผลดิบสีเขียว (yellow-green 144 (D) group) ผลสุกสีเหลือง (yellow 12(C)group) ไส้ผลสีเหลือง มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ผลผลิตที่ได้สูงที่สุดโดยเฉลี่ย 30.6 กิโลกรัมต่อต้น จำนวนหวีต่อเครือ 11.6 หวี จำนวนผลต่อหวี 18.5 ผล และจำนวนผลต่อเครือ 214.8 ผล  ระยะแทงช่อดอก 37 สัปดาห์ คุณภาพผลดี ผลมีขนาดใหญ่สม่ำเสมอ น้ำหนักผล 139.9 กรัม เส้นรอบวงผล 13.4 เซ็นติเมตร และความยาวผล 15.9 เว็นติเมตร ก้านผลยาว 3.7 เซ็นติเมตร และเปล์อกค่อนข้างหนา เนื้อแน่น มีความหวานโดยเฉลี่ย 26.9 %บริกซ์

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

                            

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

 เจ้าของผลงาน     :  อาจารย์กัลยาณี สุวิทวัส

                                สถานีวิจัยปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

                               สังกัดคณะเกษตร      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สื่อเผยแพร่  :         ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                              สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                              โทร. 02 561 1474

                               e-mail : rdiwan@ku.ac.th

อาจารย์กัลยาณี สุวิทวัส