วช.อนุมัติ โครงการวิจัย เรื่อง “ธัญโอสถ : ตราเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากข้าวโภชนาการสูง”

เนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้อนุมัติ โครงการวิจัย เรื่อง “ธัญโอสถ : ตราเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากข้าวโภชนาการสูง” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชเนษฎ์ ม้าลำพอง เป็นหน้าโครงการ ได้รับพิจารณาข้อเสนอโครงงานเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าผลผลิตงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ : เชิงพาณิชย์ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้พิจารณารายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์แล้ว เห็นว่าเป็นรายงานการวิจัยระดับดี และสามารถนำไปเผยแพร่ได้

ความเห็นทางวิชาการที่มีต่อรายงานการวิจัย

การสนับสนุนข้าวสองสายพันธุ์ที่ได้พัฒนาปรับปรุงให้มีคุณสมบัติที่ดีในด้านการช่วยลดเบาหวาน และต้านอนุมูลอิสระ และให้มีคุณภาพตามที่ผู้วิจัยได้ศึกษาและกำหนด โดยใช้เครื่องหมายการค้า “ธัญโอสถ” เป็นสิ่งแสดงถึงคุณภาพของข้าวตามที่กำหนด ซึ่งได้มีการทดลองจำหน่ายและสำรวจความเพิ่งพอใจของผู้ซื้อ อีกทั้งสำรวจความคิดเห็นของผู้ซื้อข้าวถึงปัจจัยสำคัญในการตัดสินเลือกซื้อข้าว โดยเป็นการพัฒนาเครื่องหมายการค้า “ธัญโอสถ” ของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว การพัฒนาการส่งเสริมการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากข้าวกล้องโภชนาการสูง นอกจากนี้ยังได้นำรำข้าวมาปรับปรุงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสริมอาหารด้วย

ประโยชน์ที่ได้รับจากผลงานวิจัย

  1. ได้ข้าวสายพันธุ์ที่ปรับปรุงจนมีคุณประโยชน์ทางชีวภาพเพิ่มเติม และมีเครื่องหมายการค้าที่เชื่อใจได้สื่อถึงคุณค่าของข้าว และคุณภาพของข้าวที่ดำเนินการวิจัยโดยภาครัฐ ที่จะเป็นสิ่งประกันคุณภาพของข้าวที่มีเครื่องหมายที่จดทะเบียนไว้
  2. สนับสนุนการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสำหรับผู้บริโภคภายในประเทศ รวมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีและหันมาใช้สารชีวภาพมากขึ้น สร้างความมั่นใจในอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรไทย

หน่วยงานที่ควรนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้

สำนักงานมาตรฐานและตรวจสอบสินค้าเกษตร สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการส่งออก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมโรงสีข้าว สภาอุตสาหกรรมและหอการค้าไทย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจนำข้าวพันธุ์ดังกล่าวไปใช้จำหน่าย วิจัยหรือแม้แต่สอนให้เข้าใจถึงพันธุ์ข้าวที่ดีกว่าสามารถทำได้โดยอาศัยความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ และหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องในการส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์การเกษตร รวมถึงผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าว รวมทั้งศึกษาความเป็นโอสถของข้าวดังกล่าวในคน ทั้งก่อนบริโภคและหลังบริโภคไประยะหนึ่ง โดยอาจตรวจเลือดหรือดูอาการอื่นๆในผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยเสริมคุณค่าของข้าวได้ดียิ่งขึ้น หรือถ้าสามารถปรับสายพันธุ์ให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นที่ใช้ในผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโดยเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน