ชนิดหลอดไฟในการทำประมงอวนครอบหมึกทะเล

หมึกทะเลเป็นสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจที่สามารถทำรายได้ให้ชาวประมงปีละหลายพันล้านบาท  จำหน่ายภายในประเทศและเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศ ทั้งในรูปของหมึกสด หมึกแช่แข็ง และหมึกแปรรูปประเภทต่างๆ  ปริมาณหมึกที่จับได้ในอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นหมึกกล้วย (Squid) รองลงมาเป็นหมึกกระดอง (Cuttlefish) หมึกหอม (Bigfin reef squid) และหมึกสาย (Octopus) อย่างไรก็ตาม ปริมาณหมึกที่จับได้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับในอดีต และมีการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทรัพยากรหมึกในน่านน้ำไทยที่เคยอุดมสมบูรณ์นั้นตกอยู่ในสภาพที่ถดถอย และส่งผลกระทบถึงดุลการค้าระหว่างประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้าน

1

2

3

สถานการณ์ปัจจุบันของชาวประมงพื้นบ้าน พบว่าต้องออกทำการประมงไกลฝั่งมากขึ้น หรือออกนอกพื้นที่ที่เคยทำการประมงอยู่ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่นับวันมีมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้น บางครัวเรือนต้องหยุดทำการประมงหมึกหันมาหาอาชีพเสริมอย่างอื่น และจากการศึกษารายรับ-รายจ่ายของการทำประมงอวนครอบหมึกของชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งคลองวาฬ  ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า ต้นทุนการทำประมงส่วนใหญ่เป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายการปั่นไฟเพื่อล่อหมึก

นางสาววาสนา อากรรัตน์  นักวิชาการประมง สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จึงสนใจที่จะหาแนวทางในการลดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายการทำประมงอวนครอบหมึก เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟจากที่ใช้หลอดฮาโลเจน มาใช้เป็นหลอดไดโอด หรือหลอดแอลอีดี (Light emitting diode, LED) เนื่องจากหลอด LED ใช้พลังงานน้อย และสามารถให้พลังงานแสงสว่างได้มากกว่าหลอดไฟชนิดอื่น ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยังมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า โดยทำการเปรียบเทียบผลการจับสัตว์น้ำ อัตราการจับ และองค์ประกอบสัตว์น้ำของการประมงอวนครอบหมึกที่ใช้หลอด LED เปรียบเทียบกับการใช้หลอดฮาโลเจน รวมทั้งศึกษารายได้ และผลตอบแทนของการทำประมงอวนครอบหมึกที่ใช้หลอด LED เพื่อนำความรู้จากผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาของชาวประมงในการทำประมงอวนครอบหมึกต่อไป

5

จากการศึกษาการทำประมงอวนครอบหมึกบริเวณชายฝั่งคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า แหยักษ์ (large cast net) เป็นเครื่องมือประมงประเภทอวนครอบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบริเวณนี้ โดยสัตว์น้ำเป้าหมาย คือ หมึกกล้วย แหล่งทำการประมงน้ำลึก 8-15 เมตร ชาวประมงจะเริ่มออกทำประมงช่วง 5-6 โมงเย็น และกลับเข้าฝั่งตอนเช้ามืด ส่วนใหญ่เรือประมงเป็นเรือไม้ ยาว 9 เมตร ส่วนกว้างสุด 3 เมตร เครื่องยนต์ดีเซล 85 แรงม้า ลักษณะของเครื่องมือประมงเป็นแหขนาดใหญ่ ความลึกจากจอมแหถึงตีนแห 14 เมตร เนื้ออวนส่วนใหญ่เป็นไนล่อน ส่วนจอมแหและตีนแหเป็นโพลีเอทีลีน ขนาดตาอวน 25 มม. เส้นรอบวงปากแห 38 เมตร ถ่วงน้ำหนักด้วยตะกั่วและห่วงสแตนเลสขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ซม. หนัก 70 กรัม ระยะห่างแต่ละห่วง 70 ซม. (รอบปากแหใช้ 52 ห่วง) น้ำหนักตะกั่วลูกละ 125 กรัม ระยะห่างแต่ละลูก 25 ซม. (รอบปากแหใช้ 152 ลูก) ยึดติดแหกับคันไม้ไผ่บริเวณกราบขวาเรือ ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ ใช้หลอดฮาโลเจน (halogen lamps) สีเขียว 250 วัตต์ จำนวน 10 ดวง เพื่อล่อสัตว์น้ำ หลอดไฟผูกติดกับคันไม้ไผ่รอบลำเรือ ติดสปอร์ตไลต์ 500 วัตต์ 1 ดวง ที่กราบขวาเรือเพื่อใช้เป็นไฟหรี่

วิธีทำการประมงเริ่มจากกางคันไม้ไผ่ยาว 10 เมตร 1 คู่ ซึ่งอยู่บริเวณหัวเรือและท้ายเรือ จากนั้นกางคันไฟที่อยู่รอบลำเรือเพื่อปั่นไฟล่อหมึก รอจนกระทั่งหมึกมีความหนาแน่นมากพอ จึงขึ้นแห กางแหออกเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหนือผิวน้ำ และรวบส่วนจอมแหไว้บนเรือ เริ่มดับหลอดฮาโลเจนแต่ละด้าน เปิดสปอร์ตไลต์เพื่อใช้หรี่ไฟเพียงดวงเดียว จนหมึกมารวมเป็นฝูงใต้ไฟหรี่ จากนั้นปล่อยแหลงน้ำพร้อมกันทั้ง 4 ด้านเพื่อครอบหมึก ดึงเชือกที่ร้อยผ่านห่วงรอบปากแห ฉุดแหขึ้นเรือ กู้อวนและนำสัตว์น้ำออกจากจอมแห เฉลี่ยการหรี่ไฟ 3 ชั่วโมง/ครั้ง (จำนวนครั้งขึ้นกับความหนาแน่นของหมึก) โดยจะทำการประมง 3-4 ครั้ง/คืน หมึกที่จับได้บริเวณนี้ส่วนใหญ่ 95% จะเป็นหมึกกล้วย (Loligo spp.) ที่เหลือจะเป็นหมึกกระดอง (Sepia spp.)

6

7

ในส่วนการศึกษาเปรียบเทียบการทำประมงอวนครอบหมึกที่ใช้กำลังไฟต่างกันคือการใช้หลอดฮาโลเจน กับการใช้หลอดLED  ในช่วงที่ทำการศึกษาเป็นเวลา 8 เดือน พบว่าค่าเฉลี่ยของผลการจับสัตว์น้ำ อัตราการจับสัตว์น้ำต่อหน่วยลงแรงประมง องค์ประกอบของสัตว์น้ำที่จับได้ของการทำประมงทั้งสองรูปแบบไม่แตกต่างกัน ต้นทุน และผลตอบแทนของการทำประมงทั้งสองรูปแบบไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ  และเป็นผลการทดลองที่สอดคล้องกับการทดลองทำประมงไดหมึกที่ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ร่วมกับหลอดแสงจันทร์ที่บริเวณชายฝั่งจังหวัดชุมพร รวมทั้งรายงานการใช้หลอดชนิดอื่นๆในพื้นที่อื่นๆด้วย  ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า สามารถนำหลอด LED มาประยุกต์ใช้ในการทำประมงอวนครอบหมึกได้ 

การศึกษาด้านต้นทุนของการทำประมงหมึกที่ใช้แสงไฟล่อสัตว์น้ำครั้งนี้พบว่า ต้นทุนในการดำเนินการทำประมงอวนครอบหมึกประมาณ 49 – 53% เกิดจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงสำหรับเปิดไฟล่อสัตว์น้ำ ดังนั้น การลดต้นทุนส่วนนี้จึงมีความจำเป็นสำหรับชาวประมงที่ทำการประมงประเภทนี้ ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ต้นทุน และผลตอบแทนที่ได้รับของการทำประมงอวนครอบหมึกระหว่างการใช้หลอด LED กับหลอดฮาโลเจนไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ยังมีปัจจัยด้านอื่นที่กำหนดผลตอบแทนจากการทำประมง เช่น ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้จะขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลที่ทำการประมงด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การใช้หลอด LED สำหรับเปิดไฟล่อสัตว์น้ำสามารถช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลงได้ถึง 6.9%  ดังนั้น แนวทางในการประยุกต์ใช้หลอด LED เช่น ผลของความเข้มแสง สี และการใช้หลอด LED ร่วมกับหลอดไฟชนิดอื่นต่อการทำประมงประเภทนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ควรมีการศึกษาในลำดับต่อไป

%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%b2 ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : นางสาววาสนา อากรรัตน์

สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ

คณะประมง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

นางสาววาสนา อากรรัตน์