เส้นใยธรรมชาติจากกาบไผ่

ไผ่เป็นไม้อเนกประสงค์ ปลูกง่าย โตเร็ว ไม่ต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช ทุกส่วนของไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งในด้านอุปโภคและบริโภค รวมทั้งนำมาผลิตเป็นเส้นใยไผ่ซึ่งมีสมบัติที่ดีหลายประการ เช่น ป้องกันแบคทีเรีย  ป้องกันรังสียูวี  ดูดซับน้ำและความชื้น และระบายอากาศได้ดี  มีผิวสัมผัสนุ่ม  มีความแข็งแรงและยืดหยุ่น  ไม่อมน้ำมันและสิ่งสกปรกประเภทน้ำมันน้ำมัน (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, 2550)  เส้นใยไผ่จึงได้รับความนิยมและถูกนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ ผ้าและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอนามัย  อย่างไรก็ตามเส้นใยไผ่ที่มีขายในเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นเส้นใยไผ่ประเภทเส้นใยเซลลูโลสกึ่งสังเคราะห์ (regenerated cellulosic fiber) ไม่ใช่เส้นใยธรรมชาติ (natural fiber)

2

เส้นใยจากกาบไผ่แห้งที่แช่ในสารละลาย NaOH

ดังนั้น ดร.ศศิประภา  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำภาควิชาคหกรรมศาสตร์  คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จึงทำการศึกษาการผลิตเส้นใยและด้ายธรรมชาติจากกาบไผ่ โดยเน้นการใช้วิธีการที่ไม่ซับซ้อน ใช้อุปกรณ์และสารเคมีที่หาได้ง่าย ราคาไม่สูงมาก เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกาบไผ่ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และยังเป็นการพัฒนาการผลิตเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การทดลองผลิตเส้นใยจากกาบไผ่แห้งนี้ใช้ไผ่พันธุ์กิมซุ่ง ทำการทดสอบหาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตเส้นใยที่มีลักษณะเหมาะสมนำไปผลิตเส้นด้าย หาวิธีการแยกเส้นใยจากกาบไผ่แห้งพันธุ์กิมซุ่งโดยเน้นใช้วิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน  และศึกษาวิเคราะห์ลักษณะภายนอก ลักษณะตามยาว ลักษณะภาคตัดขวาง โครงสร้างทางเคมี สมบัติทางความร้อน สมบัติการต้านแบคทีเรีย ขนาด ความแข็งแรง และ การยืดได้ก่อนขาด ของเส้นใยที่ได้จากกาบไผ่แห้งพันธุ์กิมซุ่งด้วยวิธีการต่างๆ

ผลการดำเนินงาน พบว่าการแยกเส้นใยจากกาบไผ่โดยการแช่หมักในน้ำสะอาด เป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องใช้เวลานานในการทำให้ส่วนที่ไม่ใช่เส้นใยเปื่อยและหลุดลอกออกจากเส้นใย  เส้นใยธรรมชาติที่ได้จากการแช่กาบไผ่แห้งในน้ำสะอาด มีสีน้ำตาล  ผลการวิเคราะห์ พบว่า เส้นใยมีโครงสร้างทางเคมีเป็นเซลลูโลส และมีลิกนินเป็นองค์ประกอบ  เส้นใยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเส้นใย มีลักษณะตามยาวเป็นเส้นตรง และเส้นใยแต่ละเส้นมีลักษณะภาคตัดขวางเป็นรูกลวงตรงกลางเส้นใย

เมื่อนำเส้นใยไปแช่ในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือสารละลายกรดไฮโดรคลอริก ที่ความเข้มข้นร้อยละ 5  10  และ 15  ระยะเวลาแช่ 7  14  และ 21 วัน  ผลการวิเคราะห์ พบว่า เส้นใยที่ได้จากการแช่ในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์มีสีขาว เส้นใยมีขนาดเล็กกว่าเส้นใยธรรมชาติที่ได้จากกาบไผ่แห้งแช่หมักในน้ำสะอาด  ลักษณะภาคตัดขวางของเส้นใยเป็นช่องว่างตามความยาวของเส้นใย  เส้นใยที่ได้มีปริมาณลิกนินลดลง  เส้นใยเดี่ยวแยกออกจากกลุ่มเส้นใยเพิ่มขึ้นเมื่อความเข้มข้นของสารละลายและระยะเวลาแช่เพิ่มขึ้น  เส้นใยแต่ละเส้นมีลักษณะภาคตัดขวางเป็นรูกลวงตรงกลาง  ความเข้มข้นของสารละลายและระยะเวลาแช่มีผลต่อปริมาณผลผลิต สภาวะที่เหมาะสมในการแช่เส้นใยจากกาบไผ่แห้งในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ คือ ใช้สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ร้อยละ 10 ระยะเวลาแช่ 7 วัน (ปริมาณผลผลิตร้อยละ 51.6) เส้นใยที่ได้มีอุณหภูมิสลายตัว 349.6 องศาเซลเซียส 

ส่วนเส้นใยที่ได้จากการการแช่ในสารละลายกรดไฮโดรคลอริกมีสีน้ำตาล เส้นใยค่อนข้างแข็ง กระด้าง เมื่อความเข้มข้นสารละลายกรดไฮโดรคลอริกและระยะเวลาแช่เพิ่มขึ้น เส้นใยจะเปราะเพิ่มขึ้น และมีความยาวลดลง สภาวะที่เหมาะสมในการผลิตเส้นใยด้วยวิธีการแช่เส้นใยจากกาบไผ่แห้งในสารละลายกรดไฮโดรคลอริก คือ ใช้สารละลายกรดไฮโดรคลอริกความเข้มข้นร้อยละ 5 ระยะเวลาแช่ 7 วัน (ปริมาณผลผลิตร้อยละ 94.8)  เส้นใยที่ได้มีอุณหภูมิสลายตัว 351.0 องศาเซลเซียส เส้นใยที่ได้สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เส้นด้าย และผ้าไม่ทอ เป็นต้น  

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

 

%e0%b8%a8%e0%b8%a8%e0%b8%b4 ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ดร.ศศิประภา  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ภาควิชาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  

เรื่อง :ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. 

โทร. 02 561 1474
e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ดร.ศศิประภา  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต